ชนชั้นกลางจนลง? แม้แต่คนที่ไม่เคยกินมาม่ายังต้องหันมากิน

25 พ.ย. 2566 - 00:00

  • ปีที่แล้วคนทั่วโลกบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปถึง 121,200 ล้านซอง ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์

  • ตลาดในประเทศที่ไม่มีวัฒนธรรมการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปหลายประเทศกลับเติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่ง

  • Nissin Foods ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรายใหญ่เผยกับ Nikkei Asia ว่า “ตอนนี้ผู้บริโภคที่เป็นชนชั้นกลางที่ไม่เคยกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาก่อน กำลังกำลังหันมากินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกันมากขึ้นในชีวิตประจำวัน เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อ”

cost-of-living-fuels-global-appetite-instant-ramen-middle-class-SPACEBAR-Hero.jpg

ภาวะเงินเฟ้อดันราคาอาหารสูงขึ้นในหลายประเทศ ทำให้ผู้บริโภคหันมาพึ่งตัวเลือกที่ทั้งราคาไม่สูงมาก สะดวก ให้สารอาหารที่จำเป็นอย่างบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โดยเฉพาะในกลุ่มชนชั้นกลางทั่วโลก รวมทั้งในประเทศที่ไม่มีวัฒนธรรมการกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 

ยอดขายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทำสถิติออลไทม์ไฮ 

ข้อมูลจากสมาคมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปโลก (World Instant Noodles Association) ระบุว่า เมื่อปีที่แล้วคนทั่วโลกบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปถึง 121,200 ล้านซอง (คำนวณจากประมาณการส่งไปยัง 56 ประเทศ) ซึ่งตัวเลขนี้เติบโตต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 ติดต่อกันสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยเพิ่มขึ้นจากปี 2021 เกือบ 2.6% โดยมีจีนซึ่งรวมฮ่องกงด้วยเป็นผู้บริโภคอันดับหนึ่ง ตามมาด้วยอินโดนีเซีย อินเดีย เวียดนาม และญี่ปุ่น  

ในปี 2020 ซึ่งประชาชนหลายล้านคนทั่วโลกถูกล็อกดาวน์เพราะการระบาดของโควิด-19 การบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเพิ่มขึ้น 9.5% แต่ในปี 2021 ตัวเลขการบริโภคลดลงมาเล็กน้อย เหลือเพิ่มขึ้นเพียง 1.4% ก่อนจะขยับขึ้นอีกในปี 2022 เนื่องจากปีที่แล้วราคาอาหารในหลายประเทศพุ่งขึ้นเพราะภาวะเงินเฟ้อ ทำให้บรรดาผู้บริโภคหันมาพึ่งพาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแทน เพราะราคาถูกกว่า 

เช่นในอังกฤษซึ่งราคาอาหารพุ่งขึ้นถึง 19% บริษัท Premier Foods บริษัทผลิตอาหารและเครื่องดื่มเผยว่า คนอังกฤษหันมาบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกันมากขึ้นเนื่องจากมีราคาที่จับต้องได้ ส่งผลให้แบรนด์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของ Premier Foods กลายเป็นแบรนด์ที่ใหญ่ที่สุดในหมวดหมู่ของอุปโภคบริโภคหลังยอดขายพุ่งขึ้นกว่า 20%

cost-of-living-fuels-global-appetite-instant-ramen-middle-class-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: Photo by Manan VATSYAYANA / AFP

คนที่ไม่เคยกินยังหันมากิน 

ที่น่าสนใจคือ ตลาดในประเทศที่ไม่มีวัฒนธรรมการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปหลายประเทศกลับเติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่ง อาทิ เม็กซิโก ปี 2021 ความต้องการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปพุ่งขึ้นถึง 17.2% ส่วนของปีที่แล้วก็ยังเติบโตเป็นเลข 2 หลักคืออยู่ที่ 11% เช่นดียวกับในสหรัฐฯ ที่เมนูก๋วยเตี๋ยวไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมอาหาร

ตัวแทนจาก Nissin Foods ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรายใหญ่เผยกับ Nikkei Asia ว่า “ตอนนี้ผู้บริโภคที่เป็นชนชั้นกลางที่ไม่เคยทานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาก่อน กำลังหันมาทานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกันมากขึ้นในชีวิตประจำวัน เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อ”

ทั้ง Nissin Foods และ Toyo Suisan ที่เป็นผู้นำตลาดในญี่ปุ่นอีกเจ้าหนึ่ง ทำกำไรมหาศาลจากตลาดในต่างประเทศในช่วงปีงบประมาณที่สิ้นสุดในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และทั้งสองบริษัทมีแผนจะเข้าไปตั้งโรงงานผลิตในสหรัฐฯ ในปี 2025 เพื่อตอบสนองต่อความต้องการสินค้าทั้งในสหรัฐฯและเม็กซิโก

“จำนวนผู้บริโภคที่กินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นประจำกำลังเพิ่มขึ้น และเราจะเพิ่มความหลากหลายของรสชาติต่อไป” ตัวแทนจาก Toyo Suisan ระบุ

บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเจอเงินเฟ้อเล่นงาน 

บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปก็ได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อไม่ต่างจากสินค้าอื่นๆ ตลอดปี 2022 และ 2023 ราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในญี่ปุ่นขยับขึ้นถึง 10% เนื่องจากราคาวัตถุดิบและต้นทุนการบรรจุหีบห่อเพิ่มขึ้น ทว่าแม้ว่าราคาจะขึ้นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปก็ยังคงเป็นเมนูที่มีสารอาหารครบในราคาที่จับต้องได้มากที่สุดในกลุ่มอาหารกึ่งสำเร็จรูป ดังนั้นจึงไม่กระทบกับยอดขายเลย

รสชาติสุดสร้างสรรค์ 

บรรดาผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปพากันครีเอตรสชาติแปลกๆ ใหม่ๆ ออกมาให้ผู้บริโภคได้ลิ้มลองอย่างต่อเนื่อง อย่างรสแพนเค้กของ Nissin Foods ที่เพิ่งออกมา หรือรสเครื่องเทศผสมที่ใช้ทำพายฟักทองที่เปิดตัวเมื่อปี 2021 ไปจนถึงการทำเส้นบะหมี่ผสมคาเฟอีน ซึ่งขณะนี้มีจำหน่ายเฉพาะในญี่ปุ่น โดยมีเป้าหมายเป็นบรรดาเกมเมอร์ที่ต้องการเติมพลังระหว่างการเล่นเกมแบบมาราธอน  

Photo by AFP

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์