ถ้าได้ย้ายไปอยู่ดาวอังคารจะเอาชีวิตรอดยังไง? เหมือนในหนัง ‘The Martian’ ไหม?

17 มีนาคม 2567 - 02:00

could-we-really-live-on-mars-SPACEBAR-Hero.jpg
  • จะเป็นไปได้ไหมที่มนุษย์อย่างเราจะย้ายไปอยู่ดาวอังคารได้จริงๆ? แม้คำตอบจะมีความเป็นไปได้น้อย แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ไม่เคยเลิกราที่จะศึกษามันต่อไป

  • แต่เคยคิดบ้างไหมว่า “หากได้ไปอยู่บนดาวอังคารจริงๆ จะต้องเอาชีวิตรอดยังไงบ้าง?”

บ่อยครั้งที่ใครหลายๆ คนมักพูดจะว่า “ป่ะ ย้ายไปอยู่ดาวอังคารกันเถอะ!” ฟังดูแล้วมันก็น่าตื่นเต้นเหมือนกันนะหากว่าเราไปอยู่ที่นั่นได้จริงๆ? นักวิทยาศาสตร์เองก็ไม่เคยหมดหวังที่จะหาความเชื่อมโยงระหว่างโลกกับดาวเคราะห์แดงดวงนี้เลย เพราะเป็นดาวเคราะห์ที่มีลักษณะคล้ายโลกมากที่สุดในระบบสุริยะ ไหนจะแอ่งน้ำทะเลสาบ หิน ภูเขาไฟ หุบเขาลึก ร่องรอยสารประกอบอินทรีย์ที่คาดว่าสิ่งมีชีวิตอาจอาศัยอยู่เมื่อหลายล้านปีก่อน 

แต่บรรยากาศส่วนใหญ่ที่เต็มไปด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ พื้นผิวดาวเคราะห์เย็นเกินกว่าที่จะดำรงชีวิตได้ และแรงโน้มถ่วงของโลกมีเพียง 38% ของโลก เหล่านี้แหละที่เป็นข้อจำกัด แต่ NASA ก็ไม่ละความพยายามส่งยานไปสำรวจ สร้างกล่องออกซิเจนเพื่อหวังที่จะส่งนักบินไปดาวเคราะห์ดวงนี้ภายในปี 2030 และยังตั้งเป้าสร้างอาณานิคมบนดาวอังคารในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า 

คำถามก็คือยังมีความเป็นไปได้อยู่ไหมที่เหล่ามนุษยชาติจะได้ย้ายไปดาวอังคารจริงๆ? หากเป็นเช่นนั้นเราจะเอาตัวรอดบนดาวเคราะห์แดงที่แห้งแล้งนี้ยังไง? 

ต้องเอาชีวิตรอดบนดาวอังคารยังไงบ้าง?

แม้ว่าเราจะกระโดดขึ้นไปบนยานอวกาศที่เร็วที่สุดที่เคยปล่อยออกจากโลก ทว่าการเดินทางไปถึงที่นั่นอาจใช้เวลาตั้งแต่ 40 วันไปจนถึง 9 เดือนครึ่ง ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของดาวเคราะห์ แต่เมื่อขึ้นไปแล้วเราต้องทำอะไรบ้างล่ะ? 

- อันดับแรกเลยคือต้องสร้างออกซิเจน - 

ก่อนอื่นเราต้องหาวิธีผลิตออกซิเจนเพื่อหายใจ เพราะบรรยากาศของดาวอังคารนั้นบางมากและมีคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 95% ขณะที่ก๊าซออกซิเจนคิดเป็น 0.13% ของอากาศ ถึงเราไม่สามารถนำออกซิเจนทั้งหมดที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตขึ้นไปบนดาวเคราะห์ดวงนี้ได้ แต่เราสามารถใช้เครื่องมือสร้างออกซิเจนที่เรียกว่า ‘MOXIE’ ของ NASA ด้วยการสกัดจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นั่นเอง

นอกจากผลิตออกซิเจนแล้ว เครื่อง ‘MOXIE’ ยังช่วยผลิตเชื้อเพลิงจรวดออกซิเจนเหลวอีกด้วย เพื่อเอาไว้ใช้ในยามที่เดินทางออกจากดาวอังคารเวลาอยากกลับมาบนโลก 

- เก็บตุนและสร้างแหล่งผลิตอาหาร -

could-we-really-live-on-mars-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: NASA Ames Research Center / Wikimedia Commons

บนดาวอังคารไม่มีดินสำหรับปลูกพืชผัก แต่เราควรใช้พืชไร้ดินแทน ด้วยการปลูกพืชโดยใช้แร่ธาตุและสารอาหาร โดยไม่ต้องใช้ดิน หรือจะเพาะเลี้ยงพืชและสัตว์ในน้ำ (aquaculture) นอกจากนี้ยังมีใบไม้เทียม (ทำจากยางซิลิโคน) ที่ออกแบบขึ้นมาเพื่อใช้งานในสภาวะที่ไม่เอื้ออำนวย ซึ่งสามารถเปลี่ยนเป็นพลังงานได้มากพอที่จะเติมเชื้อเพลิงในปฏิกิริยาเคมีที่จำเป็นในการผลิตยาและสารประกอบอื่นๆ ที่จำเป็น 

แน่นอนว่าหากไม่มีน้ำไหลบนผิวน้ำ อาณานิคมของเราจะสามารถเติบโตได้เพียงประมาณ 20% ของอาหารที่คุณต้องการเท่านั้น ส่วนอาหารอื่นๆ อาจต้องส่งมาจากโลก แต่อย่าคาดหวังว่าจะได้เนื้อสด เพราะอาหารทั้งหมดของเราจะแห้งไปเสียหมด 

- สร้างถิ่นฐาน -

could-we-really-live-on-mars-SPACEBAR-Photo02.jpg
Photo: NASA / Wikimedia Commons

ในส่วนของการตั้งถิ่นฐานบนดาวเคราะห์ดวงนี้นั้นมีความเป็นไปได้ว่าเราอาจต้องลงไปสร้างอาคารบริเวณใต้ดินมากกว่า เนื่องจากแรงดันลม พายุฝุ่น ประกอบกับดาวอังคารไม่มีสนามแม่เหล็กโลก อีกทั้งบรรยากาศก็บางมาก จึงทำให้ระดับรังสีในวงโคจรเหนือดาวอังคารสูงกว่าที่สถานีอวกาศนานาชาติถึง 2.5 เท่า ซึ่งนั่นมากเกินกว่าที่มนุษย์จะรับได้ 

บ้านบนดาวอังคารจะต้องทนต่อระดับรังสี ความผันผวนของอุณหภูมิ การขาดออกซิเจน และสภาวะอื่นๆ บนดาวอังคารได้ ทั้งนี้มนุษย์อย่างเราอาจอาศัยอยู่ในกระท่อมน้ำแข็งหรือใต้พื้นดินได้  

ส่วนแหล่งน้ำน่ะหรอ? ไม่เจอหรอก! แม้นักวิทยาศาสตร์จะพบน้ำบนดาวอังคาร ทว่ามันไม่ได้อยู่ในรูปแบบเดียวกับที่พบบนโลก ถึงจะพอมีน้ำบนพื้นผิวดาวอยู่บ้างก็เป็นน้ำแข็งไปเสียหมดเพราะอากาศบนดาวนั้นเย็นจัดมาก ถึงกระนั้นน้ำแข็งก็ไม่เหมือนกับที่เราสัมผัสบนโลกด้วยนะ น้ำแข็งบนดาวอังคารจะมีปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์สูงทีเดียวล่ะ  

- สร้างชั้นบรรยากาศ -

could-we-really-live-on-mars-SPACEBAR-Photo03.jpg
Photo: NASA

เราจำเป็นต้องนำสารทำความเย็นแอมโมเนียจากชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์ดวงอื่นเพื่อทำให้ดาวอังคารร้อนขึ้นเล็กน้อย ความร้อนจะเปลี่ยนน้ำแข็งแห้งที่ขั้วเหนือของดาวอังคารให้เป็นก๊าซและทำให้ดาวเคราะห์แดงดวงนี้มีชั้นบรรยากาศ แม้จะไม่มากพอให้เราหายใจได้เองโดยไม่ต้องพึ่งออกซิเจนจากชุดอวกาศ แต่อย่างน้อยก็เพียงพอที่จะสร้างความกดอากาศ เพื่อที่เราจะได้ถอดชุดอวกาศออกได้ในที่สุด 

จากนั้นเราจะสกัดน้ำออกจากธารน้ำแข็งอันกว้างใหญ่ที่อยู่ใต้พื้นผิวดาวอังคาร ไอน้ำจะทำให้บรรยากาศหนาขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้เกิดฝนและหิมะตกบนดาวอังคารได้ 

- ไปไหนมาไหนต้องสวมชุดอวกาศ -

could-we-really-live-on-mars-SPACEBAR-Photo04.jpg
Photo: NASA Ames Research Center / Wikimedia Commons

การใช้ชีวิตบนนี้ต้องสวมชุดอวกาศตลอดเวลาเพื่อป้องกันรังสีจากดวงอาทิตย์ ป้องกันฝุ่น และให้ความอบอุ่นกับร่างกาย แน่นอนว่าเราจะต้องเรียนรู้วิธีเดินอีกครั้งเนื่องจากแรงโน้มถ่วงบนดาวอังคารนั้นน้อยกว่าโลกราว 38% ซึ่งนั่นจะทำให้เรากระโดดสูงได้ถึง 1.3 เมตรเลยล่ะ 

และถ้าต้องการออกไปข้างนอกละก็ เราจะต้องสวมชุดอวกาศเพื่อชดเชยความกดอากาศที่เกือบจะหายไป เพื่อป้องกันรังสี และให้ความอบอุ่นด้วย เนื่องจากอุณหภูมิบนดาวอังคารต่ำมาก ยิ่งถ้าในฤดูหนาวจะพบว่าอุณหภูมิโดยเฉลี่ยบนดาวนั้น มันหนาวสุดขั้วเลยล่ะซึ่งอุณหภูมิจะต่ำถึง -55 องศาฯ ยิ่งไปกว่านั้นบริเวณขั้วดาวอังคารก็จะเย็นกว่าอีก โดยอุณหภูมิอาจลดลงถึงจุดเยือกแข็งที่ -153 องศาฯ 

- ปรับตัวกับวันเวลา ฤดูกาล และสภาพอากาศ -

1 วันบนดาวอังคารนั้นยาวนานกว่า 1 วันบนโลกเพียง 37 นาที (24 ชั่วโมง 37 นาที) แต่ 1 ปีบนดาวอังคารจะยาวนานกว่าเกือบ 2 เท่า (687 วัน) เนื่องจากดาวอังคารอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์มากกว่าโลก หากอาศัยอยู่บริเวณขั้วเหนือของดาวอังคาร เราจะได้เพลิดเพลินกับฤดูใบไม้ผลิเป็นเวลา 7 เดือนและฤดูร้อน 6 เดือน จากนั้นจะมีฤดูใบไม้ร่วงยาวนาน 5 เดือนและฤดูหนาวอีก 4 เดือน 

ไม่เพียงแต่อุณหภูมิที่นั่นจะต่ำเท่านั้น และบ่อยครั้งก็เกิดพายุฝุ่นที่รุนแรง แม้ไม่เป็นอันตรายต่อเรา แต่มันจะไปอุดตันเครื่องมืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด 

นอกจากนี้ การสื่อสารจากดาวอังคารไปยังโลกก็ต้องรอประมาณ 15 นาทีกว่าสิ่งที่คุณพูดจะถึงโลก

ถึงกระนั้น ในตอนนี้คุณสามารถลองใช้ชีวิตบนดาวเคราะห์สีแดงดวงนี้ได้แล้ว เมื่อ NASA กำลังมองหาอาสาสมัคร 4 คนที่จะอาศัยอยู่บนดาวอังคารจำลอง 3 มิติขนาด 1,700 ตารางฟุตเป็นเวลา 1 ปีเต็มที่ศูนย์อวกาศจอห์นสันของ NASA เมืองฮิวสตัน รัฐเท็กซัส เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับมนุษย์ในการสำรวจดาวอังคารต่อไป  

แน่นอนว่าการย้ายไปอยู่ดาวอังคารไม่ใช่เรื่องง่าย นักวิทยาศาสตร์ใช้เวลาศึกษาดาวเคราะห์แดงดวงนี้มาอย่างยาวนานหลายทศวรรษ หากถามว่ามีความเป็นไปได้ไหมที่มนุษย์จะไปอยู่บนดาวอังคาร? คำตอบคือ ‘เป็นไปได้น้อยมาก’ คุณคิดว่ามันจะต้องเวลานานแค่ไหนกันที่ดาวอังคารจะมีก๊าซออกซิเจนเพียงพอสำหรับการหายใจ? นั่นแหละข้อจำกัดสำคัญเลย

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์