‘ศีลเสมอกัน’ มีจริง! งานวิจัยชี้ เรามักตกหลุมรักคนที่คล้ายกับเรา

5 กันยายน 2566 - 08:33

couples-more-likely-similar-than-different-SPACEBAR-Hero
  • ว่ากันว่าพลังแห่งการดึงดูดมักจะนำพา ‘คู่รัก’ จำนวนนับไม่ถ้วนมาอยู่รวมกัน แต่เมื่อพูดถึงคนที่เราตกหลุมรักจากการวิจัยล่าสุด นักวิทยาศาสตร์บอกว่าสุภาษิตโบราณนี้แทบจะเป็นจริงเกือบ 100% เลยทีเดียว

ว่ากันว่าพลังแห่งการดึงดูดมักจะนำพา ‘คู่รัก’ จำนวนนับไม่ถ้วนมาอยู่รวมกัน แต่เมื่อพูดถึงคนที่เราตกหลุมรัก นักวิทยาศาสตร์บอกว่าสุภาษิตโบราณนี้แทบจะเป็นจริงเกือบ 100% เลยทีเดียว 

การศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์แบบคู่รักพบว่ามากกว่า 80% ของลักษณะนิสัยที่ได้รับการวิเคราะห์ ตั้งแต่มุมมองทางการเมืองไปจนถึงการเสพยา และอายุที่มีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกของเหล่าคู่รักมักจะมีความคล้ายคลึงกันอย่างมาก 

ทันยา ฮอร์วิทช์ นักศึกษาปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยโคโลราโด สหรัฐฯ ผู้ที่ทำการศึกษานี้บอกว่า จากการวิจัยพบว่าระหว่าง 82% - 89% ของลักษณะพฤติกรรมมนุษย์ (ที่มีคู่) มีความคล้ายคลึงกัน และมีเพียง 3% เท่านั้นที่แตกต่างกันมากๆ  

สำหรับการศึกษานี้ นักวิทยาศาสตร์ได้ทบทวนงานวิจัยก่อนหน้านี้ว่าคู่รักที่คล้ายคลึงกันมีแนวโน้มที่จะเป็นอย่างไร โดยครอบคลุมลักษณะ 22 รายการในรายงานเกือบ 200 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับคู่รักชาย-หญิงหลายล้านคนย้อนหลังไปถึงปี 1903 

จากนั้นกลุ่มได้ติดตามผลการวิเคราะห์ลักษณะ 133 รายการในคู่รักต่างเพศเกือบ 80,000 คู่ที่ลงทะเบียนในโครงการ UK Biobank เนื่องจากพฤติกรรมอาจแตกต่างกันสำหรับคู่รักเพศเดียวกัน นักวิทยาศาสตร์จึงกำลังตรวจสอบความสัมพันธ์เหล่านี้แยกกัน โดยในงานทั้งสองชิ้น คู่รักมีลักษณะที่คล้ายคลึงกันเป็นส่วนใหญ่ เช่น มุมมองทางการเมืองและศาสนา ระดับการศึกษา  

แต่อีกมุมหนึ่งก็ยังมีคู่รักไม่เข้ากันทุกด้านเช่นกัน ทั้งส่วนสูง น้ำหนัก ปัญหาด้านสุขภาพ และลักษณะบุคลิกภาพ ตัวอย่างเช่น เอ็กซ์โทรเวิร์ตไม่อยู่กับเอ็กซ์โทรเวิร์ต แต่กลับอยู่กับอินโทรเวิร์ต ซึ่งฮอร์วิทช์บอกว่าสิ่งนี้มันเหมือนกับเหรียญคนละด้าน แต่เมื่อคนที่ต่างกันมาอยู่ด้วยกัน ความสัมพันธ์ของพวกเขามักจะอ่อนแอ เห็นได้ง่ายๆ อย่างคนที่ตื่นเช้าอาศัยอยู่กับคนที่ชอบเที่ยวกลางคืน  

“แม้ในสถานการณ์ที่เรารู้สึกว่าเรามีทางเลือกเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของเรา ก็อาจมีกลไกเกิดขึ้นเบื้องหลังซึ่งเราไม่ได้ตระหนักดีนัก” ฮอร์วิทช์กล่าว 

งานวิจัยนี้ต่อยอดจากการศึกษาก่อนหน้านี้ที่แนะนำว่าคู่รักมักมีความเชื่อ ค่านิยม และงานอดิเรกร่วมกัน ความสัมพันธ์ที่มีพื้นฐานร่วมกันสามารถเกิดขึ้นเมื่อผู้คนเติบโตขึ้นมาในพื้นที่เดียวกัน เข้าสังคมกับเพื่อนกลุ่มเล็กๆ หรือเติบโตมาแบบคล้ายกันจะทำให้อยู่กันได้นานขึ้น  

ทว่านักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่าการมีเพศสัมพันธ์ของคู่รักที่มีความคล้ายคลึงกันนี้ อาจส่งผลที่ตามมาในอนาคต ตัวอย่างเช่น หากคนที่ตัวสูงจับคู่กับคนสูง และคนที่ตัวเตี้ยกับคนตัวเตี้ย คนรุ่นต่อๆ ไปก็อาจมีผลกับการกระจายตัวของประชากรมากขึ้น เช่นเดียวกับนิสัยทางสังคม และลักษณะอื่นๆ  

นอกจากนี้ การศึกษาบางชิ้นชี้ให้เห็นว่าผู้คนจับคู่กันมากขึ้นตามภูมิหลังทางการศึกษา ทำให้เกิดความกังวลเรื่องความแตกแยกทางเศรษฐกิจและสังคมที่ขยายวงกว้างขึ้น

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์