เสรีจนเป็นเศรษฐีกันถ้วนหน้า ส่องโมเดล ‘สุราก้าวหน้า’ เวียดนาม-เกาหลีใต้

7 มิ.ย. 2566 - 10:10

  • เปิดกระแสวัฒนธรรมการดื่มคราฟต์เบียร์ในเวียดนาม

  • เส้นทางจาก ‘โซจู’ สู่ ‘กระแสคราฟต์เบียร์’

craft-beer-vietnam-south-korea-SPACEBAR-Thumbnail
หากพูดถึงเบียร์คราฟต์ในไทยช่วงนี้ก็คงจะคึกคักและตื่นตัวเป็นพิเศษ เนื่องจากว่าที่รัฐบาลใหม่ที่นำโดยพรรคก้าวไกล็ผลักดันนโยบาย ‘สุราก้าวหน้า’ อย่างเต็มที่ แม้ในช่วงปลายปี 2022 จะถูกโหวตคว่ำร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้าทิ้งไปก็ตาม 
ทว่าขณะที่ไทยกำลังรอปลดล็อคนโยบายนี้อยู่ ประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียอย่างเวียดนามและเกาหลีใต้ล้ำหน้าเราไปก่อนแล้วด้วยการผลักดันกระแสคราฟต์เบียร์จนแรงติดลมบน สร้างเม็ดเงินมหาศาล 

‘เวียดนาม’ แหล่งดื่มเบียร์รายใหญ่ของเอเชีย

‘เวียดนาม’ หนึ่งในประเทศที่มีการบริโภคเบียร์รายใหญ่ที่สุดในเอเชียและเป็นอันดับต้นๆ ของโลก อีกทั้งการดื่มเบียร์ในเวียดนามยังเป็นที่นิยมและมีตัวเลือกมากมาย ซึ่งทุกอย่างเริ่มต้นจากการที่ฝรั่งเศสเจ้าอาณานิคมในเวลานั้นนำวัฒนธรรมเบียร์เข้ามาในเวียดนามในศตวรรษที่ 19 แต่หลังจากนั้นอุตสาหกรรมก็เริ่มเติบโตจนเวียดนามเริ่มผลิตเอง 

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เบียร์ก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมเวียดนาม ไม่ว่าจะเป็นงานอีเวนท์ งานเฉลิมฉลอง หรืองานสังสรรค์ เบียร์เย็นๆ จะถูกมองว่าเป็นอาหารอันโอชะสำหรับชาวเวียดนามไปซะแล้ว ขณะเดียวกันวงการคราฟต์เบียร์ก็เติบโตขึ้นอย่างมากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เช่น เบียร์ไซ่ง่อน เบียร์ฮานอยและเบียร์ฮูด้า  

โดยเฉพาะเบียร์ไซ่ง่อนที่เป็นหนึ่งในแบรนด์เบียร์ชั้นนำในเวียดนาม และยังมีจำหน่ายในกว่า 30 ประเทศ เช่น ฝรั่งเศส สวีเดน ไต้หวัน และแคนาดา เป็นต้น
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/2fUkowuFCV6ury0DQYIoH9/dbb80fd2d87622ee12b83c16854c80f9/craft-beer-vietnam-south-korea-SPACEBAR-Photo02
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวกำลังก้าวไปอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันมีแบรนด์คราฟต์เบียร์สัญชาติเวียดนามหลายสิบแบรนด์ เช่น Heart of Darkness, Furbrew, Fuzzy Logic Brewing และ Winking Seal รวมถึงโรงเบียร์ขนาดเล็กดั้งเดิมก็ได้ปรับเปลี่ยนเป็นโรงเบียร์ที่ร่ำรวยมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วประเทศ และแน่นอนว่าโครงสร้างภาษีของเวียดนามทำให้เบียร์ท้องถิ่นมีข้อได้เปรียบอย่างมาก 

คาดว่าตลาดเบียร์ของเวียดนามจะสูงถึง 9.5 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2025 (อัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้นหรือในระยะสั้น CAGR ที่ 6.44% ระหว่างปี 2021-2025) โดยได้รับแรงหนุนจากการเติบโตของชนชั้นกลางในประเทศ ซึ่งคาดว่าจะมีสัดส่วนมากกว่า 50% ของประชากรภายในปี 2588 

ทั้งนี้ เมื่อช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทางกระทรวงการคลังก็ได้เสนอขึ้นภาษีการบริโภคพิเศษ (SCT) สำหรับสินค้าหลายรายการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น ยาสูบ เบียร์ และผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์ เพื่อจำกัดการนำเข้า การผลิต และการบริโภค 

กระทรวงการคลังกล่าวว่า “ภาษีสุราและเบียร์ในเวียดนามยังคงอยู่ในระดับต่ำ ปัจจุบันประเทศใช้ภาษีสรรพสามิตสำหรับสุรา 35-65% เบียร์ 65% และบุหรี่ 75% 

และจากการคำนวณขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า อัตราภาษีคิดเป็นเพียงประมาณ 30% ของราคาขายปลีกเมื่อเทียบกับ 40-85% ที่บันทึกไว้ในหลายประเทศ 

แม้ว่าภาษีการบริโภคพิเศษผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์และเบียร์จะเพิ่มขึ้นจากปี 2016-2018 แต่เวียดนามยังคงเป็นประเทศที่บริโภคเบียร์สูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นอันดับ 3 ในเอเชีย รองจากญี่ปุ่นและจีน ทั้งนี้ในปี 2019 พบว่า การบริโภคเบียร์เฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 47.6 ลิตร ซึ่งเพิ่มขึ้น 1.2 เท่าจากปี 2015 ขณะที่การบริโภคสุราและไวน์ขาวต่อคนอยู่ที่ 3.4 ลิตร เพิ่มขึ้น 1.02 เท่าจากปี 2015 

เกาหลีใต้: เส้นทางจาก ‘โซจู’ สู่ ‘คราฟต์เบียร์’

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/2RmcePEETGyqUO0sM7D2X3/3baae251d798863b05f5617acbbcfc51/craft-beer-vietnam-south-korea-SPACEBAR-Photo03
หากใครที่เป็นคอซีรีส์เกาหลีจะรู้ดีว่าประเทศนี้ก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ชอบดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นชีวิตจิตใจหรือที่เรารู้จักกันดีนั่นก็คือ ‘โซจู’ ซึ่งไม่ว่าเทศกาลไหนๆ การเฉลิมฉลอง หรือนั่งดินเนอร์ยามเย็นก็จะมีเครื่องดื่มคู่ใจนี้อยู่ประดับร้านค้าเกาหลีตลอด  

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ วัฒนธรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้เข้ามาในเกาหลีมากขึ้นที่นอกจากจะมีโซจูแล้ว ก็ยังมีไวน์ข้าวเกาหลี (มักก็อลลี) และเบียร์ที่เข้ามามีอิทธิพลในบาร์และร้านอาหารกรุงโซล  

ขณะที่ข้อตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เกาหลีใต้ที่ลงนามเมื่อปี 2009 ได้กลายเป็นก้าวสำคัญสำหรับการนำเข้าเบียร์และไวน์จากต่างประเทศ แต่ให้ผู้บริโภคสามารถซื้อได้ในราคาที่เหมาะสม ซึ่งก่อนหน้านี้จะมีเพียงคนร่ำรวยเท่านั้นที่จะหลงระเริงไปกับราคาสุรานำเข้าที่สูงเกินจริง 

อย่างไรก็ดี แม้ว่าข้อตกลงทางการค้านี้จะมีความสำคัญ แต่การผ่อนคลายกฎระเบียบสำหรับการผลิตเบียร์ในปี 2011 ก็เปิดประตูเกาหลีใต้ไปสู่เบียร์คราฟต์สไตล์ตะวันตกใหม่ๆ  

ก่อนปี 2011 กฎหมายระบุได้ไว้ว่า โรงเบียร์ต้องผลิตเบียร์มากกว่า 1 ล้านลิตรต่อปีจึงจะได้รับใบอนุญาต แต่หลังจากผ่อนคลายกฎระเบียบก็เปิดโอกาสมากมายสำหรับบริษัทขนาดเล็กที่ต้องการผลิตคราฟต์เบียร์ และส่งผลให้กระบวนการคราฟต์เบียร์ของเกาหลีถือกำเนิดขึ้น  

ในปี 2014 เกาหลีใต้เริ่มผ่อนปรนกฎต่างๆ มากยิ่งขึ้น โดยลดปริมาณเบียร์ที่โรงเบียร์ต้องผลิตลงเหลือ  50,000 ลิตรต่อปี ทำให้โรงงานผลิตเบียร์ผุดขึ้นมามากมาย 

ครั้งหนึ่งอุตสาหกรรมเบียร์ของเกาหลีใต้ถูกผู้ผลิตรายใหญ่ครองตลาด แต่หลังจากนั้นบรรดาผู้ผลิตรายเล็กๆ ก็เริ่มเข้ามามีส่วนแบ่งมากขึ้น 

ขณะเดียวกันคราฟต์เบียร์เองก็กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เนื่องจากนักดื่มเบียร์จำนวนมากในเกาหลีใต้พยายามที่จะขยายทางเลือกของพวกเขา ซึ่งสวนทางกับกระแสนิยมที่ยาวนานหลายปีในการยึดติดกับเบียร์ที่ผลิตจำนวนมากซึ่งครองตลาดในประเทศ 

จากข้อมูลของเครือร้านสะดวกซื้อ CU ยอดขายคราฟต์เบียร์เติบโตแบบทวีคูณ โดยเพิ่มขึ้นเกือบ 500% ในปี 2020 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งแนวโน้มขาขึ้นดูเหมือนจะดำเนินต่อไปในปีนี้ เนื่องจากยอดขายเพิ่มขึ้น 239.2% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว 

“อุตสาหกรรมเบียร์มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงกฎหมายภาษีสุราเมื่อปีที่แล้ว โดยเปลี่ยนจากการเก็บภาษีตามราคาขายเป็นเก็บตามปริมาณ ทำให้ผู้ผลิตคราฟต์เบียร์สามารถแข่งขันด้านราคาได้” ฮวาง จี-ฮเย ซีอีโอของแพลตฟอร์มเบียร์ออนไลน์ และบริษัทการตลาด BePlat กล่าว 

สมาคมผู้ผลิตเบียร์คราฟต์แห่งเกาหลีคาดการณ์ว่าา ตลาดคราฟต์เบียร์ท้องถิ่นเติบโตขึ้นเป็น 118,000 ล้านวอนในปีที่แล้ว ซึ่งใหญ่ขึ้นเกือบสองเท่าจากปี 2018  และคาดว่าตลาดจะเติบโตเป็น 370 พันล้านวอนภายในปี 2023

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์