รถยนต์ไฟฟ้าไฟไหม้บ่อยจนอังกฤษต้องเทรนเจ้าหน้าที่ดับเพลิงรับมือโดยเฉพาะ?

14 เมษายน 2567 - 02:00

crews-bracing-themselves-for-a rise-in-electric-car-fires-SPACEBAR-Hero.jpg
  • ที่ผ่านมาเราจะได้ยินข่าวเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าเกิดไฟไหม้บ่อยครั้ง ซึ่งก็มีทั้งที่เกิดจากรถยนต์ไฟฟ้าจริงๆ และเกิดจากสาเหตุอื่นแต่บังเอิญมีรถยนต์ไฟฟ้าร่วมอยู่ในเหตุการณ์ด้วย

  • ไฟที่เกิดจากแบตเตอรีรถยนต์ไฟฟ้าจะดับยาก ต้องใช้น้ำปริมาณมาก และมีโอกาสปะทุขึ้นมาอีกครั้งหลังผ่านไป 2-3 วัน

  • ที่อังกฤษให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก เพราะคนที่นั่นใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากกว่า 1 ล้านคัน ถึงขั้นเทรนเจ้าหน้าที่ดับเพลิงให้รับมือกับเหตุรถยนต์ไฟฟ้าเกิดไฟลุกไหม้โดยเฉพาะ

ที่ผ่านมาเราจะได้ยินข่าวเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าเกิดไฟไหม้บ่อยครั้ง ซึ่งก็มีทั้งที่เกิดจากรถยนต์ไฟฟ้าจริงๆ และเกิดจากสาเหตุอื่นแต่บังเอิญมีรถยนต์ไฟฟ้าร่วมอยู่ในเหตุการณ์ด้วย อย่างในกรณีไฟไหม้รถยนต์ในที่จอดรถของสนามบินลูตันของอังกฤษเมื่อปีที่แล้ว ตอนแรกสังคมโทษว่าเป็นเพราะรถยนต์ไฟฟ้า แต่ภายหลังหน่วยดับเพลิงพบว่าต้นเพลิงมาจากรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซล 

รถยนต์ไฟฟ้าไฟไหม้บ่อยกว่าจริงหรือ?

เหตุรถยนต์ไฟฟ้าไฟไหม้เกิดขึ้นน้อยกว่าที่เกิดกับรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ในนอร์เวย์ ประเทศที่รถใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ของโลกพบว่า รถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงเกิดไฟไหม้มากกว่ารถยนต์ไฟฟ้าราว 4-5 เท่า

หน่วยงานรับมือเหตุฉุกเฉินฝ่ายพลเรือนสวีเดน (MBS) พบว่า ระหว่างปี 2022 มีรถยนต์ไฟฟ้าไฟไหม้ 23 คันจาก 611,000 คัน หรือคิดเป็น 0.004% ซึ่งน้อยกว่าที่เกิดกับรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง 20 เท่า (3,400 คันจาก 4.4 ล้านคัน หรือคิดเป็น 0.08%) ส่วนปี 2023 พบรถยนต์ไฟฟ้าไฟไหม้ 3.8 ครั้งต่อรถยนต์ไฟฟ้าหรือไฮบริด 100,000 คัน 

เช่นเดียวกับการวิจัยโดย EV FireSafe หน่วยงานที่ให้ข้อมูลสำหรับรับมืออุบัติเหตุรถยนต์ไฟฟ้าไฟไหม้ซึ่งสนับสนุนโดยกระทรวงกลาโหมออสเตรเลียที่พบว่า รถยนต์โดยสารไฟฟ้ามีโอกาสเกิดไฟไหม้ 0.0012% ขณะที่รถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงมีโอกาสเกิด 0.1%  

พูดง่ายๆ ก็คือ รถยนต์ไฟฟ้ามีโอกาสเกิดไฟไหม้น้อยกว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงราว 100 เท่า อย่างไรก็ดี รถยนต์ไฟฟ้ามีอายุเฉลี่ยเพียง 4 ปีเท่านั้น แต่รถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงมีอายุเฉลี่ยราว 12-15 ปี ซึ่งอาจส่งผลกับตัวเลขดังกล่าว

เอ็มมา ซัทคลิฟฟ์ ประธานโครงการ EV FireSafe เผยว่า “ตัวเลขจะแตกต่างเล็กน้อยระหว่างแหล่งข้อมูล แต่ตามหลักทั่วไปคือ โอกาสเกิดไฟไหม้ในรถยนต์ไฟฟ้าน้อยกว่าที่จะเกิดกับรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปายในมาก”

crews-bracing-themselves-for-a rise-in-electric-car-fires-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: Photo by Kenzo TRIBOUILLARD / AFP

ไหม้แล้วดับยาก

อย่างไรก็ดี แม้โอกาสเกิดจะน้อยแต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ไฟที่เกิดจากแบตเตอรีรถยนต์ไฟฟ้าจะดับยาก ต้องใช้น้ำปริมาณมาก และมีโอกาสปะทุขึ้นมาอีกครั้งหลังผ่านไป 2-3 วัน บางครั้งเจ้าหน้าที่ต้องดับไฟด้วยการนำรถยนต์คันที่เกิดเหตุใส่ลงไปในแท็งก์น้ำ ทำให้เจ้าหน้าที่ดับเพลิงในหลายประเทศพากันตื่นตัวในเรื่องการรับมือกับเหตุการณ์นี้ ที่อังกฤษถึงขนาดเทรนการดับไฟรถยนต์ไฟฟ้ากันอย่างจริงจัง  

แทรี มาเฮอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุอันตราย หัวหน้าหน่วยดับเพลิงและกู้ภัยเอสเซ็กซ์ และหัวหน้าฝ่ายรับมือเหตุไฟไหม้แบตเตอรีลิเทียมไอออน เผยกับ BBC ว่า เหตุไฟไหม้รถยนต์ไฟฟ้าเกิดขึ้นน้อย แต่ถือเป็นความท้าทายของเจ้าหน้าที่ดับเพลิง เพราะแบตเตอรี่ของรถยนต์ไฟฟ้าเข้าถึงได้ยาก เปลวไฟมักมีอุณหภูมิสูง และไอระเหยอาจระเบิดได้ 

มาเฮอร์เล่าว่า เจ้าหน้าที่ดับเพลิงมักจะปล่อยให้แบตเตอรี่ไหม้จนหมดไปเอง และบริษัทที่รับกู้ซากรถก็ไม่ค่อยอยากลากรถที่ได้รับความเสียหายไป ทั้งจากความกังวลเกี่ยวกับการจัดการกับรถยนต์ไฟฟ้าที่ไฟไหม้ และจากการที่บริษัทเหล่านี้ไม่มียานพาหนะสำหรับกู้ซากรถ (รถยนต์ไฟฟ้าไม่สามารถลากจูงได้ เนื่องจากหากล้อหลังหมุนก็เป็นการสร้างพลังงานเพื่อชาร์จแบตเตอรี) 

มาเฮอร์บอกอีกว่า รถยนต์ไฟฟ้ามักจะ “ติดไฟขึ้นมาอีกครั้ง” หลังจากไฟไหม้ไปแล้วราว 2-3 สัปดาห์ นั่นหมายความว่ารถยนต์คันเกิดเหตุจะต้องถูกแยกออกจากรถคันอื่นๆ แม้จะดูเหมือนว่าไฟดับไปแล้วก็ตาม “การจัดการกับรถยนต์ที่ใช่เชื้อเพลิงทั้งดีเซล เบนซินปกติจะใช้เวลาราว 30 นาที แต่กับรถยนต์ไฟฟ้าพวกเราต้องใช้เวลาถึง 4-5 ชั่วโมงหรือนานกว่านั้น หากเราใช้น้ำดับไฟ” 

ทั้งนี้ ในปี 2022-2023 หน่วยดับเพลิงทั่วอังกฤษประสบเหตุรถยนต์ไฟฟ้าไหม้รวมกันมากกว่า 19,000 ครั้ง ในจำนวนนี้ 11,252 ครั้งเป็นเหตุบังเอิญ 

ที่อังกฤษให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก เพราะคนที่นั่นใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากกว่า 1 ล้านคัน เมื่อปีที่แล้ว สำนักงานเพื่อนยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ออกคำแนะนำในการรับมือกับรถยนต์ไฟฟ้าที่เกิดไฟไหม้ในที่ที่มีพื้นที่จำกัด อาทิ ที่จอดรถ โดยระบุว่า แม้ว่าเหตุไฟไหม้รถยนต์จะเกิดในรถยนต์ไฟฟ้าน้อยกว่าในรถไฮบริดหรือรถที่ใช้เชื้อเพลิง แต่ก็จำเป็นต้องให้ความสำคัญ เนื่องจากความเสี่ยงไฟไหม้อาจเพิ่มขึ้นเมื่อรถยนต์ไฟฟ้าถูกใช้งานมาหลายปี และมีคนใช้งานมากขึ้น

crews-bracing-themselves-for-a rise-in-electric-car-fires-SPACEBAR-Photo02.jpg
Photo: Photo by Nhac NGUYEN / AFP

ริคคาร์โด ลา ทอร์เร เจ้าหน้าที่จากสหภาพดับเพลิง (Fire Brigades Union) เผยกับ BBC ว่า การจัดการกับไฟไหม้แบตเตอรีเป็นงานที่ซับซ้อนและยุ่งยาก “เหตุไฟไหม้แบตเตอรีถือเป็นความท้าทายของหน่วยดับเพลิงที่มีเจ้าหน้าที่น้อยลง เมื่อเทคโนโลยีสีเขียวได้รับความนิยมมากขึ้น รถยนต์ไฟฟ้าจึงกลายเป็นเรื่องปกติบนท้องถนนของเรา นั่นหมายความว่ามีแบตเตอรีเพิ่มขึ้น เหตุไฟไหม้แบตเตอรีก็เพิ่มขึ้นด้วย”   

ลา ทอร์เร เผยอีกว่า “การรับมือกับเหตุไฟไหม้รุนแรงนี้เป็นงานที่ซับซ้อนและยุ่งยากสำหรับนักดับเพลิง อุบัติเหตุแต่ละครั้งต้องใช้ทั้งเวลาและทรัพยากร...เราต้องการการวิจัยเกี่ยวกับการจัดเก็บแบตเตอรีและเหตุไฟไหม้ และการอบรมพิเศษและอุปกรณ์เพื่อรับมือ ควรมีการควบคุมการผลิตแบตเตอรี การใช้งาน และการจัดเก็บอย่างเหมาะสม เพื่อให้ทั้งชุมชนและนักดับเพลิงปลอดภัย” 

ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้รถยนต์ไฟไหม้เกิดไฟลุกไหม้สาเหตุหนึ่งมาจากการเกิดความร้อนอย่างฉับพลัน (Thermal Runaway) ในแบตเตอรี่ลิเทียม ซึ่งมีสาเหตุมาจากแบตเตอรีได้รับความเสียหาย หรือมีข้อบกพร่องจากการผลิต จนเกิดการลัดวงจรภายในแบตเตอรีและเกิดไฟลุกไหม้ 

Photo by MATTHIEU ALEXANDRE / AFP

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์