แก๊งอาชญากรจีนกระจายทั่วอาเซียนกระทบปัญหาความมั่นคง

25 ก.ย. 2566 - 07:39

  • “องค์กรอาชญากรรมเหล่านี้ดำเนินงานนอกกัมพูชาและลาว และตั้งเป้าไปที่ศูนย์กลางทางการเงินทั่วโลก รวมถึงลอนดอน ดูไบ และสิงคโปร์…”

  • "นอกจากเครือข่ายอาชญากรจีนที่ขยายการดำเนินงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แพร่กระจายไปทั่วโลกแล้ว พวกเขายังมีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์จากกว่า 50 ประเทศในภูมิภาคนี้อีกด้วย”

criminal-groups-from-china-spreading-out-south-east-asia-SPACEBAR-Hero.jpg

The Straitstimes รายงานว่า ขณะนี้องค์กรอาชญากรรมจากประเทศจีนได้กระจายไปทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกแล้ว โดยตั้งฐานในประเทศต่างๆ เช่น ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย และสิงคโปร์ เพื่อฟอกเงินที่ได้มาโดยมิชอบ 

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2023 ตำรวจในออสเตรเลียได้จับกุมชาวจีน 9 คนหลังโจมตีทั่วซิดนีย์หลายครั้งในการดำเนินการระบบธนาคารเงา โดยในบรรดาผู้ที่ถูกจับกุม ได้แก่ สตีเว่น ซิน หุ้นส่วนธุรกิจในออสเตรเลียของ อัลวิน เชา ราชาการพนันมาเก๊าซึ่งถูกจำคุกในจีนเป็นเวลา 18 ปีเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาฐานเล่นเกมพนันผิดกฎหมายและก่ออาชญากรรมอื่นๆ 

เจสัน ทาวเวอร์ ผู้อำนวยการโครงการพม่าประจำสถาบันสันติภาพแห่งสหรัฐฯ (USIP) เผยว่า “เครือข่ายอาชญากรเหล่านี้อาจมีเงินทุนหลายพันล้าน “มันมาถึงจุดที่พวกเขาควบคุมดินแดนในเมียนมาผ่านความร่วมมือที่พวกเขามีกับกองกำลังรักษาชายแดนภายใต้กองทัพเมียนมา และกองกำลังติดอาวุธอื่นๆ ที่นั่น” 

“องค์กรอาชญากรรมเหล่านี้ดำเนินงานนอกกัมพูชาและลาว และตั้งเป้าไปที่ศูนย์กลางทางการเงินทั่วโลก รวมถึงลอนดอน ดูไบ และสิงคโปร์…นอกจากเครือข่ายอาชญากรจีนที่ขยายการดำเนินงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แพร่กระจายไปทั่วโลกแล้ว พวกเขายังมีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์จากกว่า 50 ประเทศในภูมิภาคนี้อีกด้วย” ทาวเวอร์กล่าว 

เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา องค์การสหประชาชาติ (UN) ระบุว่า ผู้คนหลายแสนคนถูกแก๊งอาชญากรลักลอบค้ามนุษย์ และถูกบังคับให้ทำงานในศูนย์สแกม (scam centres) และปฏิบัติการออนไลน์ผิดกฎหมายอื่นๆ ที่แพร่หลายไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

ทาวเวอร์กล่าวเสริมอีกว่า “ย้อนกลับไปเมื่อปี 2019 กลุ่มอาชญากรเหล่านี้ให้บริการการพนันนอกประเทศเป็นหลัก แต่ด้วยการปราบปรามและข้อจำกัดต่างๆ หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงทำให้จุดมุ่งเน้นของพวกเขาเปลี่ยนไปสู่ปฏิบัติการหลอกลวงขนาดใหญ่”  

องค์กรดังกล่าวย้ายไปที่ฟิลิปปินส์ครั้งแรกเมื่อช่วงต้นปี 2010 และจัดตั้งเว็บไซต์การพนันและคาสิโนออนไลน์โดยมีเป้าหมายเพื่อดึงดูดเพื่อนร่วมชาติชาวจีน เนื่องจากการพนันออนไลน์เป็นสิ่งผิดกฎหมายในประเทศจีน แต่หลังจากการบังคับใช้กฎหมายของจีนและฟิลิปปินส์เริ่มปราบปรามคาสิโนออนไลน์ผิดกฎหมายในปี 2016ผู้ประกอบการจึงหลบหนีไปตั้งฐานในเมืองชายฝั่งสีหนุวิลล์ (Sihanoukville) ในกัมพูชา 

ตั้งแต่ปลายปี 2017 จนถึงกลางปี 2019 กัมพูชาเองก็ไม่ได้กระทำการใดๆ เลยสำหรับการควบคุมการพนันในสีหนุวิลล์ หรือแม้แต่ออกใบอนุญาตก็ไม่มีด้วยซ้ำ แต่ในไม่ช้าความวุ่นวายก็เข้ามาปกคลุมเมือง เมื่อแก๊งชาวจีนก่ออาชญากรรมรุนแรงพร้อมทั้งบังคับใช้การชำระเงินจากผู้เล่นที่เป็นหนี้ 

ทว่าหลังนายกรัฐมนตรี ฮุน เซน ของกัมพูชาออกคำสั่งห้ามการพนันออนไลน์ภายในเดือนตุลาคม 2019 แก๊งจำนวนมากจึงได้เดินทางไปยังเมียนมาซึ่งในรายงานของทาวเวอร์เน้นย้ำถึงเมือง 3 เมืองที่น่ากังวลในเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) ได้แก่ เขตอุตสาหกรรมไซซีกัง (Saixigang), หวันหยาอินเตอร์เนชั่นแนล (Huanya International City) และ หยาไถ่ อินเตอร์เนชั่นแนล (Yatai International City) ในเมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง 

นี่ (อาจ) เป็นปัญหาความมั่นคงของเอเชีย

อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆ นี้หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของจีนได้ร่วมมือกับหน่วยงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อจัดการกับอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งรวมถึงการฟอกเงิน การค้ามนุษย์ และการหลอกลวงทางไซเบอร์ 

ศาสตราจารย์แซคารี อาบูซา จากวิทยาลัยการสงครามแห่งชาติในกรุงวอชิงตันเผยในบทวิจารณ์ล่าสุดว่า “ปักกิ่งกำลังดำเนินการติดตามรายงานที่มีชาวจีนตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวงและอาชญากรรมอื่นๆ…แนวทางเชิงรุกของจีนยังสะท้อนให้เห็นถึงความจริงที่ว่า ขณะนี้มีพลเมืองจีนเพียงพอในหมู่ผู้ถูกค้ามนุษย์ 120,000 รายในเขตเศรษฐกิจพิเศษของเมียนมา และอีก 100,000 รายในศูนย์สแกม” 

“มันเป็นปัญหาความมั่นคงในเอเชีย” ศาสตราจารย์อาบูซากล่าว 

นอกจากนี้ เมื่อเดือนสิงหาคม 2022 ทางการไทยได้จับกุม เฉอ เจ้อเจียง เจ้าของหยาไถ่ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นชาวกัมพูชาเชื้อสายจีนวัย 41 ปีรายนี้ก็กำลังต่อสู้กับการเนรเทศไปยังประเทศจีน เขามีความเชื่อมโยงกับเครือข่ายบริษัทขนาดใหญ่ทั่วโลก รวมถึงในอังกฤษซึ่งเคยฟอกเงินหลายพันล้านมาแล้วด้วย 

ขณะเดียวกันทาวเวอร์ยังบอกอีกว่า “มันยากที่จะประเมินจำนวนองค์กรชาวจีนทั้งหมดในภูมิภาคนี้” เพราะนอกจากผู้บริหารระดับสูงที่ดูแลพื้นที่ขนาดใหญ่แล้ว ยังมีองค์กรอาชญากรรมเล็กๆ หลายกลุ่มในบริเวณนั้นอีกเหมือนกัน 

เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของจีนร่วมกับกองทัพรวมแห่งรัฐว้าบุกโจมตีศูนย์สแกม 11 แห่งซึ่งถูกกล่าวหาว่าฉ้อโกงเหยื่อเป็นจำนวนเงิน 120 ล้านหยวน (ราว 601 ล้านบาท) โดยจับกุมได้ทั้งหมด 269 คน รวมถึงชาวจีน 186 คนที่ถูกเนรเทศไปยังประเทศจีนทันที ในจำนวนนี้เป็นหัวโจก 21 คน 

ทั้งนี้ สำนักข่าวซินหัวซึ่งอ้างคำแถลงของกระทรวงความมั่นคงสาธารณะของจีนระบุว่า ในเวลาต่อมา พม่าได้ส่งผู้ต้องสงสัย 1,207 รายไปยังจีน และในจำนวนนี้รวมถึงผู้ลี้ภัย  41 ราย

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์