เมื่อ ChatGPT เข้ามาบุกเบิกโลกปัญญาประดิษฐ์ (AI) คำถามที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ ‘มันสร้างปัญหาให้กับจีน ซึ่งเป็นคู่แข่งทางเทคโนโลยีรายใหญ่ที่สุดของอเมริกาหรือไม่?’ แต่ผ่านไป 2 ปี โมเดล AI ใหม่จากจีนกลับทำให้โลกสร้างคำถามขึ้นมาใหม่ว่า ‘สหรัฐฯ จะหยุดนวัตกรรมของจีนได้หรือไม่?’
ที่ผ่านมา สหรัฐฯ มั่นใจว่าประเทศตัวเองจะพัฒนาเทคโนโลยีให้ก้าวไปข้างหน้า และต้องการให้เป็นเช่นนั้นต่อไป ซึ่งรัฐบาล โจ ไบเดน ในขณะนั้นจึงเพิ่มข้อจำกัดในการห้ามส่งออกชิป รวมถึงเทคโนโลยีขั้นสูงไปยังจีน
นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมการเปิดตัว ‘DeepSeek’ จึงสร้างความประหลาดใจให้กับซิลิคอนแวลลีย์ และคนทั่วโลก “โมเดลอันทรงพลังของเรามีราคาถูกกว่าหลายพันล้านดอลลาร์ที่บริษัทในสหรัฐฯ ใช้ลงทุนไปกับ AI มาก” บริษัท DeepSeek กล่าว
ในตอนนี้ชาวจีนต่างยกย่องผู้ก่อตั้ง DeepSeek ให้เป็น ‘ฮีโร่ AI’...ว่าแต่ว่าบริษัทที่ไม่ค่อยมีใครรู้จักแห่งนี้ทำได้อย่างไร...?
-คำสั่งแบนชิปของสหรัฐฯ ไม่ให้ส่งมาจีนเป็นความท้าทาย-

เมื่อสหรัฐฯ ห้ามไม่ให้ผู้ผลิตชิปชั้นนำของโลกอย่าง Nvidia ขายเทคโนโลยีขั้นสูงให้กับจีน ถือเป็นการโจมตีอย่างหนัก เนื่องจากชิปเหล่านี้มีความจำเป็นต่อการสร้างโมเดล AI ที่มีประสิทธิภาพซึ่งจะสามารถทำงานต่างๆ ที่เหมือนมนุษย์ได้มากมาย ตั้งแต่การตอบคำถามพื้นฐานไปจนถึงการแก้ปัญหาคณิตศาสตร์ที่ซับซ้อน
‘เหลียง เหวินเฟิง’ ผู้ก่อตั้ง DeepSeek เผยว่า การแบนชิปของสหรัฐฯ เป็น ‘ความท้าทายหลัก’ ของพวกเขา ทว่าก่อนที่จะมีการแบนเกิดขึ้นนั้น DeepSeek ได้ซื้อชิป Nvidia A100 ไว้เป็นจำนวนมาก คาดว่ามีตั้งแต่ 10,000-50,000 ตัว
โมเดล AI ชั้นนำในโลกตะวันตกใช้ชิปเฉพาะทางประมาณ 16,000 ชิ้น แต่ DeepSeek ระบุว่าได้ฝึกโมเดล AI ของตัวเองโดยใช้ชิปแค่ 2,000 ชิ้น รวมถึงใช้ชิปเกรดต่ำกว่าอีกหลายพันชิ้น ทำให้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทมีราคาถูกลง
ผู้เชี่ยวชาญหลายคน รวมถึง อีลอน มัสก์ ต่างตั้งคำถามต่อข้อกล่าวอ้างนี้โดยให้เหตุผลว่าบริษัทไม่สามารถเปิดเผยได้ว่าใช้ชิปขั้นสูงจำนวนเท่าใดจริงๆ เนื่องจากมีข้อจำกัดหลายประการ แต่ผู้เชี่ยวชาญเผยว่าคำสั่งแบนของสหรัฐฯ นำมาซึ่งทั้งความท้าทายและโอกาสให้กับอุตสาหกรรม AI ของจีน
“คำสั่งแบนดังกล่าวบังคับให้บริษัทจีนอย่าง DeepSeek ต้องสร้างสรรค์นวัตกรรมขึ้นมา เพื่อที่พวกเขาจะได้ทำอะไรได้มากขึ้นด้วยทรัพยากรที่น้อยลง แม้ข้อจำกัดเหล่านี้จะสร้างความท้าทาย แต่มันก็กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์และความยืดหยุ่น ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายนโยบายที่กว้างขึ้นของจีนในการบรรลุความเป็นอิสระทางเทคโนโลยี” มารินา จาง รองศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีซิดนีย์ กล่าว
ที่ผ่านมา จีนลงทุนอย่างหนักในเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ ตั้งแต่แบตเตอรี่ที่ใช้ขับเคลื่อนรถยนต์ไฟฟ้าและแผงโซลาร์เซลล์ ไปจนถึง AI ทั้งนี้ การเปลี่ยนจีนให้กลายเป็นมหาอำนาจทางเทคโนโลยีนั้นเป็นความทะเยอทะยานของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง มาช้านาน ดังนั้น ข้อจำกัดของสหรัฐฯ จึงเป็นความท้าทายที่จีนต้องเผชิญเช่นกัน
“การเปิดตัวโมเดลใหม่ของ DeepSeek เมื่อวันที่ 20 มกราคมซึ่งตรงกับวันที่ โดนัลด์ ทรัมป์ เข้าพิธีสาบานตนเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ นั้นถือเป็นการจงใจ” เกร็กกอรี่ ซี. อัลเลน ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI จากศูนย์การศึกษากลยุทธ์และการระหว่างประเทศ กล่าว
นอกจากนี้ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนยังได้ส่งเสริมบุคลากรด้าน AI โดยเสนอทุนการศึกษาและทุนวิจัย ตลอดจนสนับสนุนความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยและอุตสาหกรรม
-เต็มไปบุคคลากรที่มีพรสวรรค์-

สื่อจีนระบุว่า ทีมงานของ DeepSeek มีสมาชิกไม่ถึง 140 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็น ‘บุคลากรที่มีพรสวรรค์ภายในประเทศ’ จากมหาวิทยาลัยชั้นนำของจีน
“ผู้สังเกตการณ์ชาวตะวันตกมองข้ามการเกิดขึ้นของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการวิจัยพื้นฐานและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในระยะยาวมากกว่าผลกำไรที่รวดเร็ว...มหาวิทยาลัยชั้นนำของจีนกำลังสร้างกลุ่มผู้มีความสามารถด้าน AI ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว...การเติบโตในช่วงที่เทคโนโลยีจีนก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ทำให้พวกเขาได้รับแรงบันดาลใจอย่างมากในการพึ่งพาตัวเองในการสร้างสรรค์นวัตกรรม” จาง กล่าว
เหลียง เหวินเฟิง ผู้ก่อตั้งวัย 40 ปีเป็นตัวอย่างของบุลคลที่มีความสามารถพิเศษ เขาศึกษาด้าน AI ที่มหาวิทยาลัยเจ้อเจียง “เขาดูเหมือนคนบ้าเทคโนโลยีมากกว่าเป็นเจ้านาย” ผู้ที่คุ้นเคยกับเขาบอก ขณะที่สื่อจีนบรรยายถึงเขาว่าเป็น ‘นักอุดมคติทางเทคนิค’ เพราะเขายืนกรานที่จะรักษา DeepSeek ไว้เป็นแพลตฟอร์มโอเพ่นซอร์ส ซึ่งผู้เชี่ยวชาญยังเชื่ออีกด้วยว่าวัฒนธรรมโอเพ่นซอร์สที่เฟื่องฟูยังทำให้บริษัทสตาร์ทอัพรุ่นใหม่สามารถรวบรวมทรัพยากรและก้าวหน้าได้เร็วขึ้น
DeepSeek ไม่เหมือนกับบริษัทเทคโนโลยีจีนขนาดใหญ่ เพราะ DeepSeek ให้ความสำคัญกับการวิจัย ซึ่งทำให้สามารถทดลองสิ่งต่างๆ ได้มากขึ้น
แต่ผู้เชี่ยวชาญต่างสงสัยว่า DeepSeek จะไปได้ไกลแค่ไหน...“ข้อจำกัดใหม่ของสหรัฐฯ อาจจำกัดการเข้าถึงข้อมูลผู้ใช้ในอเมริกา ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการขยายโมเดลของจีนอย่าง DeepSeek ไปทั่วโลก” จาง กล่าว
ขณะที่ อัลเลน อดีตผู้อำนวยการด้านกลยุทธ์และนโยบายของศูนย์ปัญญาประดิษฐ์สหรัฐฯ เผยว่า สหรัฐฯ ยังคงมีข้อได้เปรียบมหาศาล แต่ ณ ตอนนี้ DeepSeek กำลังเพลิดเพลินไปกับช่วงเวลาอันรุ่งโรจน์ เนื่องจากคนส่วนใหญ่ในจีนไม่เคยได้ยินเรื่องนี้มาก่อนจนกระทั่งสุดสัปดาห์นี้
-เกิดฮีโร่ ‘AI’ คนใหม่-
หลังจาก DeepSeek เปิดตัวได้ราว 1 สัปดาห์ก็สร้างปรากฏการณ์กลายเป็นแอปฯ ฟรีที่มีการดาวน์โหลดมากที่สุดในสหรัฐฯ ส่งผลให้ ‘เหลียง’ ได้รับการยกย่องว่าเป็น ‘1 ใน 3 ฮีโร่ด้าน AI’ ส่วนอีก 2 คนได้แก่ :
- จื้อหลิน หยาง ผู้เชี่ยวชาญระดับแนวหน้าของมหาวิทยาลัยชิงหัว
- ไข่หมิง เหอ อาจารย์แห่งสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ในสหรัฐฯ
“DeepSeek แสดงให้เราเห็นว่าคุณจะยืนหยัดผ่านการทดสอบของเวลาได้ก็ต่อเมื่อคุณมีของจริงเท่านั้น” ชาวเน็ตคนหนึ่งคอมเมนต์บนเว่ยป๋อ
ชาวเน็ตอีกคนคอมเมนต์ว่า “นี่คือของขวัญปีใหม่ (ตรุษจีน) ที่ดีที่สุด ขอให้มาตุภูมิของเราเจริญรุ่งเรืองและแข็งแกร่ง”
นักวิเคราะห์ AI หลักของ ‘Counterpoint Research’ สำนักวิจัยตลาดอธิบายถึงปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นในประเทศจีนว่า “เต็มไปด้วยความตกตะลึงและความตื่นเต้น โดยเฉพาะในชุมชนโอเพนซอร์ส”
ขณะที่ ฟิโอนา โจว พนักงานด้านเทคโนโลยีในเมืองเซินเจิ้นทางตอนใต้ กล่าวว่า “เมื่อวานนี้ ฟีดโซเชียลมีเดียเต็มไปด้วยโพสต์ที่เกี่ยวข้องกับ DeepSeek...ผู้คนบอกว่ามันเป็น ‘ความรุ่งโรจน์ของผลิตภัณฑ์ในจีน’ และบอกว่ามันทำให้ ‘ซิลิคอนแวลลีย์ตกตะลึง’ ดังนั้น ฉันจึงดาวน์โหลดมันมาเพื่อลองดูว่ามันดีแค่ไหน”