‘เสริมเขี้ยวเล็บกองทัพ’ ทางเลือกที่ช่วยหนุนยอดขายอาวุธโต

10 มีนาคม 2566 - 10:13

defense-industry-boomimg-australia-buy-five-nuclear-subs-taiwan-speed-drone-development-SPACEBAR-Thumbnail
  • ปัจจุบัน มีเพียง 5 ประเทศเท่านั้น ที่มีเรือดำน้ำขับเคลื่อนด้วยพลังงานนิวเคลียร์ ได้แก่ สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส รัสเซีย และจีน

  • ญี่ปุ่นประกาศแผนซื้อขีปนาวุธร่อนโทมาฮอว์กจากสหรัฐจำนวน 400 ลูก โดยรัฐบาลวางแผนใช้งบเกือบ 37,000 ล้านดอลลาร์ในช่วง 5 ปี เพื่อจัดซื้อขีปนาวุธพิสัยไกลนี้

  • ไต้หวันเตรียมสร้างเรือฟริเกตสำหรับต่อต้านเรือดำน้ำ และเรือรบลักษณะเดียวกันโดยตั้งเป้าให้พร้อมใช้งานได้ภายในช่วงปี 2025 และ 2026

ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ของประเทศคู่กรณีหลายคู่ตอนนี้ ทำให้เกิดปรากฏการณ์การสั่งซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ในหลายประเทศ ส่วนใหญ่ประเทศที่ได้อานิสงส์คือสหรัฐฯ ในฐานะเป็นแหล่งส่งออกอาวุธรายใหญ่ของโลก 

ล่าสุด รัฐบาลแคนเบอร์ราก็เตรียมซื้อเรือดำน้ำขับเคลื่อนด้วยพลังงานนิวเคลียร์ 5 ลำ จากสหรัฐฯ ภายใต้กรอบความร่วมมือ “ออคัส” (AUKUS) 

สำนักข่าวอัลจาซีราห์ รายงานโดยอ้างข้อมูลจากแหล่งข่าวระดับสูงอย่างน้อย 4 คน ในรัฐบาลวอชิงตันว่า ออสเตรเลียเตรียมสั่งซื้อเรือดำน้ำ 5 ลำจากสหรัฐฯ เป็นเรือดำน้ำรุ่นขับเคลื่อนด้วยพลังงานนิวเคลียร์ชั้นเวอร์จิเนีย ภายในช่วงปี 2030 โดยเรือทุกลำจะได้รับการออกแบบโดยสหราชอาณาจักร และผลิตโดยใช้เทคโนโลยีของสหรัฐฯ 

การดำเนินการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในเงื่อนไขของกติกาความร่วมมือด้านความมั่นคงระดับไตรภาคี “ออคัส” ที่รัฐบาลแคนเบอร์ราเป็นสมาชิก ร่วมกับสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร 

นายกรัฐมนตรีแอนโธนี อัลบาเนซี ผู้นำออสเตรเลีย และนายกรัฐมนตรีริชี ซูนัค ผู้นำสหราชอาณาจักร เตรียมประชุมร่วมกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ ที่เมืองซานดิเอโก ในวันที่ 13 มี.ค. นี้ เกี่ยวกับแผนยุทธศาสตร์ขั้นต่อไปของออคัส 

ปัจจุบันมีเพียง 5 ประเทศเท่านั้นที่มีเรือดำน้ำขับเคลื่อนด้วยพลังงานนิวเคลียร์ ได้แก่ สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส รัสเซีย และจีน ซึ่งรัฐบาลปักกิ่งวิจารณ์การรวมตัวของออคัสมาตลอดว่าเป็นการรวมกลุ่มที่มีเจตนาเพื่อให้เกิดการแบ่งแยกภายในภูมิภาค และปิดล้อมจีน 

ความเคลื่อนไหวของออสเตรเลียเกี่ยวกับเรือดำน้ำมีขึ้นหลังจากนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเผยต่อที่ประชุมรัฐสภาญี่ปุ่นว่า มีแผนจัดซื้อขีปนาวุธร่อนโทมาฮอว์กที่ผลิตโดยสหรัฐฯ จำนวน 400 ลูก เพื่อเสริมศักยภาพในการตอบโต้ภายใต้นโยบายความมั่นคงฉบับใหม่ 

นายกรัฐมนตรีฟุมิโอะ คิชิดะ ของญี่ปุ่น เผยแผนการจัดซื้อขีปนาวุธร่อนโทมาฮอว์กจากสหรัฐฯ จำนวน 400 ลูก ต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการงบประมาณของสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 27 ก.พ. แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดอะไรมากกว่านี้ 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/5f3tbDdrifVovKR95i3xBk/94b9bc4ad219e5aacb07e4a64b59541b/info_defense-industry-boomimg-australia-buy-five-nuclear-subs-taiwan-speed-drone-development
การเปิดเผยเรื่องนี้มีขึ้นหลังจากพรรครัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ที่พรรคแกนนำพรรคฝ่ายค้านเรียกร้องในสัปดาห์ที่แล้วให้รัฐบาลเปิดเผยว่า จะจัดซื้อขีปนาวุธจำนวนเท่าใด และเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเผยตัวอย่างอย่างเป็นรูปธรรมเกี่ยวกับสถานการณ์ที่รัฐบาลจะตัดสินใจใช้ศักยภาพการตอบโต้ แต่รัฐบาลปฏิเสธ โดยบอกว่า การเปิดเผยรายละเอียดดังกล่าวอาจทำลายความมั่นคงของชาติ 

รัฐบาลของคิชิดะมุ่งเสริมแสนยานุภาพทางทหารของญี่ปุ่น ท่ามกลางสถานการณ์ที่จีนแผ่ขยายอิทธิพลทางทหาร และเกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธอย่างต่อเนื่อง 

ญี่ปุ่นจัดสรรเงินราว 1,550 ล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับจัดซื้อขีปนาวุธไว้ในงบประมาณสำหรับปีหน้า ที่จะเริ่มขึ้นในวันที่ 1 เม.ย. นี้ ขณะที่รัฐบาลเพิ่มงบด้านการทหารเกือบ 25% ในปีงบประมาณหน้าเป็น 61,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

ปัจจุบันมีเพียงสหรัฐฯ และอังกฤษที่มีขีปนาวุธโทมาฮอว์ก ขีปนาวุธชนิดนี้ยิงได้จากเรือและเรือดำน้ำ และยิงทำลายเป้าหมายได้ไกล 1,600 กม. 

รัฐบาลญี่ปุ่นวางแผนใช้งบเกือบ 37,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 5 ปี เพื่อจัดซื้อขีปนาวุธพิสัยไกลนี้ และคาดว่าจะเริ่มนำมาประจำการได้ในปี 2026 

ขณะที่ไต้หวัน ซึ่งกำลังเผชิญภัยคุกคามทางทหารจากทางการจีนอย่างต่อเนื่อง กำลังจับตามองสงครามรัสเซียรุกรานยูเครนอย่างใกล้ชิดเพื่อนำมาถอดบทเรียนไว้รับมือหากจีนตัดสินใจส่งกองทัพเข้ารุกรานเพื่อยึดครองเกาะไต้หวัน 

ซุนหลี่ฟาง โฆษกกระทรวงกลาโหมไต้หวัน กล่าวว่า ไต้หวันอยู่ระหว่างการเร่งพัฒนาเทคโนโลยีโดรน รวมถึงเทคโนโลยีการผลิตโดรน 

“การเร่งวิจัย พัฒนา และกระบวนการผลิตนี้เพื่อไว้ตอบโต้ภัยคุกคามจากศัตรูและนำบทเรียนการสู้รบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนมาใช้ในยุทธการรบแบบอสมมาตร หรือ การรบระหว่างคู่ต่อสู้ที่มีระดับแสนยานุภาพห่างชั้นกันอย่างมหาศาล  ผ่านโดรนของไต้หวัน” ซุนระบุ 

ความเคลื่อนไหวของไต้หวันเกิดขึ้นหลังอากาศยานไร้คนขับ (ยูเอวี) กลายเป็นหนึ่งในอาวุธที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในสงครามดังกล่าว และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมยูเครนถึงกับบอกว่า เป็นอาวุธของการทำสงครามในอนาคต 

ช่วงเดือนต.ค.ปีที่แล้ว กองทัพเรือไต้หวันวางแผนเสริมเขี้ยวเล็บกองเรือรบ เพื่อตอบโต้การกดดันทางทหารจากจีนแผ่นดินใหญ่ โดยตั้งเป้าจะสร้างเรือฟริเกตสำหรับต่อต้านเรือดำน้ำ และเรือรบลักษณะเดียวกันที่มีความสามารถในการต่อต้านอากาศยาน โดยจะพร้อมใช้งานภายในช่วงปี 2025 และ 2026 

กระทรวงกลาโหมไต้หวันระบุว่า จีนเพิ่มจำนวนเรือรบในการลาดตระเวนประจำวันขึ้นเป็นเท่าตัวหรือราว 4-5 ลำ ในบริเวณน่านน้ำใกล้กับไต้หวันนับตั้งแต่เดือนส.ค. หลังจากที่กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนดำเนินการซ้อมรบ เพื่อตอบโต้กรณีการเดินทางเยือนไต้หวันของนางนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ อีกทั้งจีนยังขยายขอบเขตการลาดตระเวนไปยังหลายพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงใต้และทางเหนือของไต้หวันอีกด้วย 

แผนเพิ่มเรือรบของไต้หวันตอกย้ำถึงความพยายามในการยกระดับการป้องปราม เพื่อเตรียมรับมือกับการรุกรานทุกรูปแบบจากจีน โดยจีนมองว่าไต้หวันเป็นดินแดนของตนเอง 

ขณะที่ถ้อยแถลงของ ไช่อิงเหวิน ประธานาธิบดีไต้หวันในช่วงที่ผ่านมา  ที่ส่งสัญญาณชัดเจนว่าจะมีการเพิ่มกำลังการผลิตและการจัดหาสรรพาวุธต่างๆ เช่น ขีปนาวุธที่มีความแม่นยำสูงและเรือรบประสิทธิภาพสูง โดยปัจจุบันกองทัพเรือไต้หวันมีเรือรบขนาดใหญ่ทั้งหมด 26 ลำ แม้เรือส่วนมากค่อนข้างเก่า

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์