WHO เตือนโลกร้อนทำ ‘ไข้เลือดออก’ ระบาดหนักทั่วโลก ไทยโดนด้วย

26 กรกฎาคม 2566 - 06:50

dengue-mosquitoes-spreading-widely-more-regions-SPACEBAR-Thumbnail
  • องค์การอนามัยโลก (WHO) เตือนว่า ‘โรคไข้เลือดออก’ กำลังแพร่กระจายไปยังภูมิภาคและประเทศอื่นๆ ทั่วโลก เนื่องจากการเคลื่อนย้ายของผู้คนที่เพิ่มขึ้น การขยายตัวของเมือง และปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ

  • ไข้เลือดออกกำลังส่งผลกระทบต่อ 129 ประเทศทั่วโลก ยอดผู้ป่วยและเสียชีวิตพุ่งสูงขึ้น

องค์การอนามัยโลก (WHO) เตือนว่า ‘โรคไข้เลือดออก’ กำลังแพร่กระจายไปยังภูมิภาคและประเทศอื่นๆ ทั่วโลก เนื่องจากการเคลื่อนย้ายของผู้คนที่เพิ่มขึ้น การขยายตัวของเมือง และปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ โดยขณะนี้ไข้เลือดออกในประเทศไทยระบาดไปแล้วใน 30 อำเภอ 18 จังหวัด 
 
“ประมาณครึ่งหนึ่งของประชากรโลกมีความเสี่ยงต่อโรคไข้เลือดออก ไข้เลือดออกส่งผลกระทบต่อ 129 ประเทศ เราประมาณการว่ามีรายงานผู้ป่วยประมาณ 100 ถึง 400 ล้านรายทุกปี นี่เป็นตัวเลขประมาณการ” รามัน เวลาอุดฮัน เจ้าหน้าที่ระดับสูงของโครงการระดับโลกด้านการควบคุมโรคเขตร้อนกล่าวกับนักข่าวในการแถลงข่าวที่กรุงเจนีวา 
 
โรคนี้แพร่กระจายโดยยุงลาย Aedes ที่ส่วนใหญ่เจริญเติบโตในภูมิอากาศเขตร้อนและกึ่งเขตร้อน องค์การอนามัยโลกรายงานว่า ผู้ป่วยได้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมากทั่วโลกในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา โดยเพิ่มขึ้นจากครึ่งล้านในปี 2000 เป็นมากกว่า 4.2 ล้านคนในปี 2022 
  
ปีที่แล้ว ภูมิภาคละตินอเมริการายงานผู้ป่วย 2.8 ล้านราย และเสียชีวิต 1,280 ราย เพียง 7 เดือนในปี 2023 ภูมิภาคนี้ก็มีตัวเลขที่ใกล้เคียงกับตัวเลขดังกล่าวแล้ว โดยมีผู้ติดเชื้อเกือบสามล้านคนและจำนวนผู้เสียชีวิตเกือบเท่าๆ กัน ขณะที่ไข้เลือดออกเป็นโรคที่พบเจอได้ทั่วโลก โดยพบว่ายุงที่เป็นสาเหตุของไข้เลือดออกพบใน 24 ประเทศในยุโรป 
 
เวลาอุดฮันกล่าวว่า ล่าสุดในแอฟริกา มีรายงานผู้ติดเชื้อมากกว่า 2,000 ราย และผู้เสียชีวิต 45 รายในซูดาน เช่นเดียวกับรายงานใหม่ในสัปดาห์ที่ผ่านมาว่ามีไข้เลือดออกในอียิปต์ การมีอยู่ของไข้เลือดออกในแอฟริกาเป็นสิ่งที่น่ากังวลเป็นพิเศษ โดยสังเกตว่าตัวเลขผู้ป่วยมากกว่า 200,000 ราย ที่รายงานทุกปีจากทวีปนี้น่าจะเป็นการประเมินที่ต่ำเกินไป 
 
เวลาอุดฮานกล่าวว่า เรารู้การมีอยู่ของโรคนี้ ทว่ามันถูกปกปิดด้วยโรคอื่นๆ แต่ตอนนี้การต่อสู้กับมาลาเรีย มีความก้าวหน้าอย่างมากและได้ลดลงในแอฟริกา เราได้เห็นเปอร์เซ็นต์ของไข้เลือดออกที่เพิ่มขึ้น สิ่งนี้เกิดขึ้นแล้วขณะที่องค์การอนามัยโลกกำลังติดตามกรณีของโรคที่มีรายงานในซูดาน เอธิโอเปีย เซเนกัล เคนยา ไนจีเรีย และเซาตูเม 
  
ฤดูมรสุมเริ่มขึ้นแล้วในเอเชีย ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขพบว่าน่าเป็นห่วง เนื่องจากภูมิภาคนี้มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกประมาณ 70% องค์การอนามัยโลกได้แจ้งเตือนรัฐบาลให้ใช้มาตรการป้องกันเพื่อควบคุมการแพร่กระจายของโรค 
 
ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพในประเทศเอเชียใต้ซึ่งมีประชากร 170 ล้านคนกล่าวว่าโรคนี้เข้าสู่สัดส่วน ‘การแพร่ระบาด’ แล้ว แม้ว่ารัฐบาลจะไม่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการก็ตาม 
  
ตามรายงานของ Directorate General of Health Services (DGHS) ระบุว่า เมื่อคืนวันอาทิตย์ (23 ก.ค.) มีชาวบังกลาเทศอย่างน้อย 176 คน โดย 31 คนเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 14 ปี เสียชีวิตด้วยโรคไข้ยุงลาย จนกระทั่งวันพุธ (25 ก.ค.) เป็นวันที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดอยู่ที่ 19 คน ซึ่งต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเกือบ 33,000 รายในปีนี้  
 
เจ้าหน้าที่กล่าวว่า อัตราการเสียชีวิตจากโรคนี้ในบังกลาเทศอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 5 ปีที่ ซึ่งมันน่าตกใจที่ 0.53% เทียบกับ 0.45% ของปีที่แล้ว ซึ่งมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคไข้เลือดออกในบังกลาเทศมากเป็นประวัติการณ์ถึง 281 ราย 
  
DGHS กล่าวว่า 115 รายจาก 176 รายเสียชีวิตในปีนี้เกิดขึ้นในช่วง 23 วันแรกของเดือนกรกฎาคม ปีที่แล้วมีผู้เสียชีวิตเพียง 29 รายในช่วงเวลาเดียวกัน 
 
ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าสถานการณ์อาจเลวร้ายลงในอีกไม่กี่วันข้างหน้า เนื่องจากทั้งการรักษาในโรงพยาบาลและการเสียชีวิตด้วยไข้เลือดออกในบังกลาเทศมักจะถึงจุดสูงสุดในเดือนสิงหาคมและกันยายน 
 
“ฉันคิดว่าการระบาดของไข้เลือดออกในปีนี้ส่งผลกระทบต่อผู้คนเช่นเดียวกับในปี 2019 หรือไม่ก็มากกว่านั้น” แพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขกล่าว

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์