การค้ารัสเซีย-ยุโรปโตต่อเนื่อง แม้ใช้มาตรการคว่ำบาตร

1 เม.ย. 2566 - 08:50

  • บริษัทในสหภาพยุโรป (อียู) ยังคงดำเนินธุรกิจกับรัสเซียได้ตามปกติแม้จะมีมาตรการคว่ำบาตร

  • สำนักงานคณะกรรมการยุโรป ระบุว่า ปี 2021 รัสเซียเป็นหุ้นส่วนการค้ารายใหญ่สุดอันดับที่ 5 ของอียู

  • มีมูลค่าการนำเข้า-ส่งออกสินค้าประเภทต่างๆ ระหว่างกันอยู่ที่ 258,000 ล้านยูโร

despite-sanctions-eu-keeps-on-doing-business-with-russia-SPACEBAR-Thumbnail
แม้ประกาศมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียมาแล้ว 10 รอบ นับตั้งแต่รัสเซียบุกโจมตียูเครนในเดือนก.พ.ปีที่แล้ว แต่บริษัทในสหภาพยุโรป (อียู) ยังคงดำเนินธุรกิจกับรัสเซียได้ตามปกติ และดูเหมือนว่ามาตรการลงโทษรัสเซียที่รุกรานชาติอื่นจะใช้ไม่ได้ผล

เว็บไซต์อัลจาซีราห์ นำเสนอรายงานเรื่องนี้ โดยระบุถึงเจตน์จำนงของอียูที่ใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียก็เพื่อตัดรายได้ของรัฐบาลกรุงมอสโกและจำกัดการเข้าถึงเทคโนโลยีที่จะถูกนำมาใช้ในการทำสงครามกับยูเครน แต่ในบันทึกของรายงานวิจัยจากสภายุโรป ฉบับหนึ่งระบุว่า ในความเป็นจริงแล้ว ผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรไม่ได้รุนแรงมากพอที่จะช่วยลดทอนศักยภาพของรัสเซียในการทำสงครามกับยูเครนในปีนี้เลย
 
การค้ามูลค่ามหาศาลระหว่าง 27 ประเทศในกลุ่มอียูและรัสเซียยังคงมีอยู่และขยายตัวเพิ่มขึ้น เป็นผลพวงจากการล็อบบี้ที่ประสความสำเร็จ จะเห็นว่าอียูไม่ได้มีเจตจำนงที่จะใช้มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียที่รุนแรงไปมากกว่านี้เพราะวิตกกังวลว่าจะส่งผลกระทบทำให้ระบบซัพพลายเชนของโลกปั่นป่วนหนัก มาดูกันว่าอียูยังคงดำเนินธุรกิจกับรัสเซียในเรื่องใดบ้าง และแต่ละส่วนมีการเติบโตมากน้อยแค่ไหน

ปริมาณการค้าหมุนเวียนดี 

สำนักงานคณะกรรมการยุโรป ระบุว่า ปี 2021 รัสเซียเป็นหุ้นส่วนการค้ารายใหญ่สุดอันดับที่ 5 ของอียู โดยมีมูลค่าการนำเข้า-ส่งออกสินค้าประเภทต่างๆ ระหว่างกันอยู่ที่ 258,000 ล้านยูโร (280,000 ล้านดอลลาร์) โดยสินค้าหลักที่อียูนำเข้าคือ เชื้อเพลิง ไม้ เหล็กกล้า เหล็ก และปุ๋ย

นับตั้งแต่รัสเซียบุกโจมตียูเครนในปี 2022 มูลค่าการนำเข้าจากรัสเซียเข้ามาในอียูปรับตัวร่วงลงเหลือประมาณ 10,000 ล้านยูโร (10,850 ล้านดอลลาร์) เมื่อเดือนธ.ค.ปีที่แล้ว

ข้อมูลจากสำนักงานด้านสถิติของอียู (ยูโรสแตท) ระบุว่า โดยรวมแล้ว อียูนำเข้าสินค้าประเภทต่างๆ จากรัสเซียมูลค่า 171,000 ล้านยูโร (186,000 ล้านดอลลาร์) เริ่มตั้งแต่เดือนมี.ค.ปี 2022 จนถึงปลายเดือนม.ค.ปี 2023 

ก๊าซแอลเอ็นจี 

อียูคว่ำบาตรการนำเข้าถ่านหินและน้ำมันที่ขนส่งทางทะเลเมื่อปีที่แล้ว แต่ก๊าซไม่ได้อยู่ในรายการสินค้าถูกคว่ำบาตร แต่รัฐบาลรัสเซียลดปริมาณการส่งก๊าซตามท่อไปยังยุโรปนับตั้งแต่เริ่มบุกยูเครน ในปี 2022 อียูได้รับก๊าซจากรัสเซียน้อยลงประมาณ 40% เมื่อเทียบกับช่วงหลายปีที่ผ่านมา 

รายงานวิเคราะห์ของอียู ระบุว่า ขณะที่ก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) เป็นอีกเรื่องหนึ่ง การจัดส่งก๊าซแอลเอ็นจีของรัสเซียไปยุโรปเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่เกิดสงครามเป็น 22,000 ล้านลูกบาศก์เมตรในปี 2022 เพิ่มขึ้นจากประมาณ 16,000 ล้านลูกบาศก์เมตร 

เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2565 ออยไพรซ์รายงานว่า ในเดือนตุลาคมการส่งออก LNG ของรัสเซียเพิ่มขึ้น 1.1% เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2564 จนถึงระดับล่าสุดในเดือนมีนาคม ภายหลังการรุกรานยูเครนของรัสเซีย 

แม้การส่งออก LNG จะเพิ่มขึ้น แต่การส่งออกก๊าซไปตามท่อก๊าซของรัสเซียไปยังยุโรปอยู่ในระดับที่ต่ำมาก หลังจากที่ก๊าซพรอมตัดการจ่ายก๊าซทั้งหมดไปยังหลายประเทศในสหภาพยุโรป เนื่องจากประเทศเหล่านั้นปฏิเสธที่จะจ่ายค่าก๊าซเป็นเงินรูเบิล 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/46FImnz0127f4yQ9020p12/96caa9501255bee3d0595898b13e387a/despite-sanctions-eu-keeps-on-doing-business-with-russia

เพชรและอัญมณี 

ข้อมูลจากยูโรสแตท ระบุว่า กลุ่มประเทศสมาชิกอียูนำเข้าเพชรจากรัสเซียเมื่อปีที่แล้ว คิดเป็นมูลค่า 1,400 ล้านยูโร (1,520 ล้านดอลลาร์) แม้ว่าในทางหลักการแล้ว อียูห้ามนำเข้าเพชร และขึ้นบัญชีดำเหมืองอัลโรซา เหมืองเพชรของรัฐบาลรัสเซีย 

เมื่อวันที่ 26 ก.ย. ปีที่แล้ว หลังดำเนินการคว่ำบาตรไปแล้ว 6 รอบ นับตั้งแต่ที่รัสเซียเริ่มปฏิบัติการทางทหารในยูเครน กลุ่มประเทศสมาชิกอียู ยังคงต้องมีมติเอกฉันท์ตามกฎ ในการออกมาตรการคว่ำบาตรเพชรจากรัสเซีย ซึ่งเบลเยียม ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของเมืองแอนต์เวิร์ป ศูนย์กลางการค้าเพชรขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เคยปฏิเสธมตินี้มาก่อน 

โปแลนด์ ไอร์แลนด์ ลิทัวเนีย เอสโตเนีย และลัตเวีย คือ 5 ประเทศ ที่เสนอให้มีห้ามนำเข้าเพชรจากรัสเซีย เพื่อตอบโต้ ขณะที่ศูนย์เพชรโลกแอนต์เวิร์ป (เอดับเบิลยูดีซี) บอกว่า การคว่ำบาตรเพชรจะทำให้ธุรกิจหายไปราว 30% และเอื้อประโยชน์ต่อศูนย์กลางการค้าของคู่แข่ง และผู้ซื้อควรได้รับอนุญาตให้ตัดสินใจเองว่าต้องการอัญมณีของรัสเซียหรือไม่ 

แม้กระทรวงการต่างประเทศของเบลเยียม และตัวแทนทางการทูตของอียูจะไม่แสดงความเห็น แต่เมื่อวันที่ 14 ก.ย. ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีอเล็กซานเดอร์ เดอ โกร ของเบลเยียม ก็กล่าวในการประชุมเพชรระดับนานาชาติว่า คำสั่งห้ามดังกล่าวจะนำความสูญเสียครั้งใหญ่มาให้อุตสาหกรรมเพชรและอัญมณี และสร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมที่คิดเป็น 5% ของการส่งออกของเบลเยียม รวมถึงการรองรับงานอีกประมาณ 30,000 ตำแหน่ง 

เคมีภัณฑ์และวัตถุดิบ 

ข้อมูลจากยูโรสแตท ระบุว่า อียูนำเข้าปุ๋ยจากรัสเซียคิดเป็นมูลค่า 2,600 ล้านยูโร (2,820 ล้านดอลลาร์) เพิ่มจากเมื่อปี 2021 กว่า 40% แม้ว่าอียูจะห้ามนำเข้าหรือมีกฏระเบียบที่เข้มงวดในการนำเข้าโปแตชจากรัสเซียและเบลารุส เพื่อนบ้านที่เป็นพันธมิตรใกล้ชิดของรัสเซีย แต่ปุ๋ยหรือเคมีภัณฑ์อื่นๆ กลับซื้อขายได้อย่างอิสระ 

ส่วนวัตถุดิบที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรคือ นิกเกิล ที่ส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้ในการผลิตเหล็กสแตนเลส อียูนำเข้านิกเกิลในปี 2021 ด้วยมูลค่า 2,100 ล้านยูโร เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 3,200 ล้านยูโร (3,470 ล้านดอลลาร์) 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปัจจัยรอบด้านของกิจการเพชรรัสเซียจะง่ายต่อการถูกคว่ำบาตร ทั้งการถือครองกิจการโดยบริษัทอัลโรซา ที่ควบคุมโดยรัฐบาลรัสเซีย และอัลโรซายังครองหุ้น 66% ในกิจการเหมืองที่ยาคูเตีย แถบไซบีเรีย ร่วมกับรัฐบาลรัสเซีย 

แต่เมื่ออียูอนุมัติมาตรการคว่ำบาตรบริษัทต่างๆ ของรัสเซียแล้ว ชื่อของอัลโรซา กลับหายไปจากบัญชีดำอีกเป็นครั้งที่สอง และยังหายไปในนาทีสุดท้าย สะท้อนถึงจุดอ่อนในความสามัคคีของอียูได้อย่างดี

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์