คอร์รัปชันเบื้องหลังบอลโลก หรือกาตาร์จ่ายฟีฟ่าเป็นเจ้าภาพเวิลด์คัพ

19 พ.ย. 2565 - 08:26

  • แข่งบอลโลกในทะเลทราย เหตุใดฟีฟ่าเลือกกาตาร์เป็นเจ้าภาพเวิลด์คัพ 2022 ทั้งที่มีประเทศอื่นเหมาะสมกว่า หรือเพราะมีอิทธิพลการเงินอยู่เบื้องหลังจากกรณีทุจริตฟีฟ่าปี 2015

did-qatar-FIFA-controversy-pay-for-location-world-cup-2022-SPACEBAR-Thumbnail
20 พฤศจิกายนนี้ การแข่งขันฟุตบอลโลกฟีฟ่าเวิล์ดคัพจะคิกออฟขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยในนัดแรกจะเป็นแมตช์การเตะระหว่างนักฟุตบอลทีมชาติกาตาร์ กับทีมชาติเอกวาดอร์ ที่สนามกีฬา Al-Bayt สเตเดียมขนาดใหญ่ซึ่งสามารถจุผู้ชมได้ถึง 60,000 ที่นั่ง และเป็นหนึ่งในสเตเดียมใหม่ที่กาตาร์ตั้งใจสร้างขึ้นเพื่องานนี้โดยเฉพาะ  

แม้ใกล้จะเริ่มการแข่งขันนัดแรก แต่ก็มิวายเกิดดราม่า (เล็กน้อย) แต่ก็ทำให้นานาชาติยิ่งจับตาพร้อมตั้งคำถามว่า หน่วยงานสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติหรือ ฟีฟ่า ลงมติเลือกกาตาร์ให้เป็นเจ้าภาพได้อย่างไร  

วิวาทะล่าสุดที่ว่าคือ กรณีที่ รัสมุส แทนโฮลท์ (Rasmus Tantholdt) ผู้สื่อข่าวจากสถานีโทรทัศน์ TV2 ของเดนมาร์ก ที่จู่ๆ ก็ถูกเจ้าหน้าที่ของทางการกาตาร์เข้าไปขัดขวางระหว่างกำลังออกอากาศรายงานข่าวโดยไม่มีเหตุผล เมื่อ 15 พฤศจิกายนที่ผ่านมา  

จากคลิปแสดงให้เห็นว่า ในระหว่างที่ผู้สื่อข่าวเดนมาร์กกำลังรายงานสด เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยกาตาร์ได้เข้ามาห้ามพร้อมใช้มือบังกล้องโดยไม่แจ้งสาเหตุ แม้ว่าระหว่างนั้น นักข่าวเดนมาร์กพยายามจะแสดงบัตรสื่อมวลชนที่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้อง แต่เจ้าหน้าที่กาตาร์ก็ยืนยันไม่ให้มีการรายงานงาน  

หนึ่งในประโยคที่นักข่าวเดนมาร์กพูดต่อเจ้าหน้าที่กาตาร์คือ “คุณเชิญคนทั้งโลกมาประเทศคุณเอง แต่เราไม่สามารถถ่ายทำในที่สาธารณะได้เนี่ย ทำไม คุณจะพังกล้องเราใช่มั้ย อยากทำก็ทำเลย พวกคุณกำลังข่มขู่เรา” 

แน่นอนว่าการเข้าไปขวางรายงานข่าวของสื่อต่างชาติ ได้กลายเป็นอีกประเด็นที่บรรดาสื่อนานาชาติประณามทางการกาตาร์ว่าคุกคามเสรีภาพสื่อมวลชน แต่ไม่ทันที่ดราม่าเรื่องนี้จะลุกลาม ทางการกาตาร์ก็รีบออกมาขอโทษทันควัน โดยภายหลังแทนโฮลท์เผยต่อสื่อของนอร์เวย์ว่า ได้รับคำขอโทษจากฝ่ายกาตาร์เรียบร้อยแล้ว โดยเขาแสดงความเห็นอย่างน่าสนใจว่า “วิวาทะนี้อาจสะท้อนได้ถือการทำงานของเจ้าภาพว่า คำสั่งของเบื้องบนกาตาร์ อาจส่งมาไม่ถึงเจ้าหน้าที่ระดับล่าง ช่วงการแข่งขันอาจมีคนต้องเสียเวลาโต้เถียงกับพวกเขาอีก บางคนอาจเข้าใจผิด ซึ่งสะท้อนได้เลยว่าความความพร้อมของเจ้าภาพเป็นอย่างไร แฟนบอลหรือสื่อมวลชนอาจโดนข่มขู่อีกก็ได้”  

สำหรับเดนมาร์ก ก็เป็นหนึ่งในชาติที่เข้าร่วมการแข่งขันซึ่งกำลังมีประเด็นดราม่ากับเจ้าภาพกาตาร์ จากการที่ทีมชาติเดนมาร์กประกาศจุดยืนแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ระหว่างการแข่ง ประท้วงกาตาร์จากกรณีที่มีการใช้แรงงานต่างชาติที่ไม่เป็นธรรม รวมถึงสิทธิของกลุ่ม LGBTQ แต่ทว่าถูกฟีฟ่าสั่งห้ามการแสดงออกดังกล่าวเพราะถือเป็นการแสดงจุดยืนทางการเมืองที่ไม่เกี่ยวกับเกมกีฬา 

ดราม่าของเจ้าภาพกาตาร์ในหลายประเด็นตั้งแต่ สิทธิกลุ่มหลากหลายทางเพศ การแต่งตัวในที่สาธารณะ การแสดงความคิดเห็น ตลอดจนกรณีฉาวการใช้แรงงานต่างชาติไม่เป็นธรรมนั้น เป็นเรื่องที่ทั้งองค์กรระหว่างประเทศหลายแห่ง สมาคมฟุตบอลของแต่ละประเทศ ตลอดจนสื่อมวลชนระดับโลก จับตาและถูกวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอด  

แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ทั้งหน่วยงานระหว่างประเทศ และสื่อระดับโลกตั้งคำถามคือ ฟีฟ่าเลือกกาตาร์เป็นเจ้าภาพได้อย่างไร ทั้งที่ในบรรดารายชื่อประเทศที่เข้าชิงรับเลือกเป็นเจ้าภาพ มีหลายชาติที่มีความ ‘เหมาะสม’ มากกว่า  
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/5kQjcH7u0ND0kFrG1siRqF/c4f42a444641ec28a8c0c27baadf71e4/did-qatar-FIFA-controversy-pay-for-location-world-cup-2022-SPACEBAR-Photo01
Photo: ชาวกาตาร์รวมตัวกันที่ตลาดเก่าแก่ใจกลางเมืองหลวง ขณะเปิดตัวโลโก้อย่างเป็นทางการของ FIFA World Cup Qatar 2022 / Photo: AFP

กาตาร์ซื้อฟีฟ่าจัดเวิล์ดคัพ ?  


Now is All คือสโลแกนอย่างเป็นทางการของการแข่งขันฟีฟ่าเวิล์ดคัพ 2022 บางทีหากจะตีความข้อความนี้แบบง่ายๆ กาตาร์ผู้จัดคงต้องการให้โฟกัสไปที่ปัจจุบัน และการแข่งขันในสนามที่จะเริ่มต้นขึ้นโดยทิ้งอดีตไว้เบื้องหลัง  

หลายฝ่ายมองว่าการมอบให้กาตาร์เป็นผู้จัดฟุตบอลโลก 2022 คือมหกรรมการแข่งขันกีฬาที่เต็มไปด้วยเรื่องอื้อฉาวและข้อถกเถียงมากมาย แต่ถ้าจะพูดให้เป็นธรรมที่สุด ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา จีนก็เคยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิกมาแล้ว 2 ครั้ง คือโอลิมปิกฤดูร้อน 2008 และโอลิมปิกฤดูหนาว 2022  

เช่นเดียวกับรัสเซียที่เคยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวและฟุตบอลโลกปี 2018 ทั้งสองชาติต่างก็มีข้อครหาด้านสิทธิมนุษยชนอยู่ไม่ใช่น้อย การที่ทั้งสองชาติถูกเลือกจากคณะกรรมการนานาชาติให้จัดงานสำคัญ อาจถูกมองได้ว่าโลกได้ยอมรับระบบอันไม่เป็นธรรม และยิ่งทำให้เผด็จการของพวกเขาแข็งแกร่งขึ้นเพราะได้รับการยอมรับจากนานาชาติ แต่อย่างไรก็ตาม กรณีการมอบหมายให้กาตาร์เป็นเจ้าภาพจัดบอลโลกถูกมองว่าเป็นการตัดสินใจที่พลาดและน่าผิดหวังที่สุดขององค์กรฟีฟ่าในรอบทศวรรษ  

ย้อนกลับไปช่วงปี 2009 ฟีฟ่าได้ประกาศอย่างเปิดรับสมัครประเทศที่ต้องการยื่นชิงเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 และ 2022 โดยตลอดทั้งปี 2009 จนถึง 2010 ฟีฟ่ามีระบบคัดเลือกที่เปลี่ยนใหม่นั้นคือการยกเลิกนโยบายหมุนเวียน (Rotation policy) แต่อันที่จริงในกระบวนการเลือกเจ้าภาพฟุตบอลโลกตั้งแต่ปี 2002, 2006, 2014, 2018 จนถึง 2022 ล้วนสร้างความเดือดดาลไม่พอใจในวงการฟุตบอลทั้งสิ้น 

ในขั้นตอนการเลือกเจ้าภาพปี 2006 แอฟริกาใต้พลาดการเป็นเจ้าภาพให้กับเยอรมนี โดยภายหลังปรากฏว่าบรรดานักการเมืองและนักธุรกิจเยอรมนีล็อบบี้ให้บรรดาสมาชิกฟีฟ่าจากชาติเอเชีย ลงคะแนนให้เยอรมนีโดยแลกกับเงินลงทุน หรือแม้กระทั่งแลกกับอาวุธบางชนิดให้กับชาติสมาชิกฟีฟ่าในเวลานั้น เพื่อโหวตให้เยอรมนีจนได้เป็นเจ้าภาพบอลโลก 2006  

กรณีล็อบบี้บอลโลกปี 2006 กลายเป็นประเด็นขึ้นมา ในที่สุดฟีฟ่าจึงเปลี่ยนไปใช้แนวทางเชิงรุกมากขึ้นด้วยการเปลี่ยนกฏการคัดเลือกใหม่เมื่อเดือนตุลาคม 2007 (Rotation policy) คือไม่มีทวีปใดที่สามารถจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกติดต่อกันได้ ตัวอย่างเช่น ยุโรปไม่สามารถเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 2022 เอเชียไม่สามารถเป็นเจ้าภาพในปี 2026 และอเมริกาเหนือเป็นเจ้าภาพในปี 2032 ด้วยเหตุผลก็คือ ทวีปเหล่านั้นทั้งหมดเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกในรอบก่อนหน้านี้มาแล้ว  

เมื่อฟีฟ่าเปลี่ยนกฎนั่นทำให้ในการคัดเจ้าภาพปี 2018 มีประเทศเข้าคัดเลือกคือ เบลเยี่ยมและเนเธอร์แลนด์ (จัดร่วม) อังกฤษ รัสเซีย โปรตุเกสและสเปน (จัดร่วม) สุดท้ายรัสเซียก็ได้เป็นเจ้าภาพ 2018  
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4WBlKylkEkuDZEHoKmkTGv/562300c6da923a546cc22941807f6e61/did-qatar-FIFA-controversy-pay-for-location-world-cup-2022-SPACEBAR-Photo02
Photo: แฟนบอลแขวนป้ายข้อความว่า ‘บอยคอตกาตาร์’ ระหว่างการแข่งขันฟุตบอลบุนเดสลีกาดิวิชั่น 1 เยอรมัน ระหว่างทีมชาลเก้ 04 กับทีมบาเยิร์น มิวนิค / Photo: UWE KRAFT / AFP
มาถึงการคัดเลือกเจ้าภาพ 2022 มีประเทศที่เข้าคัดเลือกคือ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น กาตาร์ เกาหลีใต้ และสหรัฐฯ ในเวลานั้นออสเตรเลียถือว่าเป็นตัวเลือกเจ้าภาพที่มาแรงของปี 2018 เพราะมีความพร้อมหลายประการที่มากกว่า ทว่าด้วยกฏ Rotation policy ทำให้หัวหน้าสมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชียมองว่าการแข่งขันปี 2018 ควรจัดขึ้นในยุโรป ออสเตรเลียจึงถอนตัวจากคัดเลือก 2018 มาลงชิง 2022 แทน  

ในการชิงเจ้าภาพ 2022 ตัวเลือกสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียถือว่าเป็นตัวเก็ง ด้วยศักยภาพและความพร้อมหลายประการ ขณะที่กาตาร์พยายามโชว์แนวคิดว่าหากเลือกกาตาร์ จะถือเป็นมิติใหม่ของฟีฟ่าและถือเป็นชาติแรกของอาหรับที่ได้จัดบอลโลก ท่ามกลางข้อเคลือบแคลงมากมายถึงความพร้อมของสถานที่ ตลอดจนสภาพอากาศอันร้อนระอุ 

ในแง่อิทธิพลทางเศรษฐกิจ กาตาร์ถือเป็นพันธมิตรที่สำคัญในอาหรับสำหรับบรรดามหาอำนาจตะวันตก Qatar Investment Authority หรือหน่วยงานด้านการลงทุนของรัฐบาลกาตาร์ เป็นเจ้าของห้างหรู Harrods ตึงสูง the Shard ใจกลางกรุงลอนดอน ตลอดจนอยู่ในกลุ่มการลงทุนจำนวนของอังกฤษ อีกทั้งเป็นหนึ่งในผู้จัดหาก๊าซธรรมชาติรายสำคัญต่อสหราชอาณาจักร  

กระทั่งฟีฟ่าเลือกให้กาตาร์เป็นเจ้าภาพจัดเวิลด์คัพ 2022 บรรดาผู้แทนของชาติที่ลงชิงเป็นเจ้าภาพต่างตกในสภาวะงงงวย ส่วนกาตาร์ซึ่งกำลังยินดีปรีดา ก็ให้คำมั่นสัญญาว่า การฟุตบอลโลกในตะวันออกกลางครั้งแรกนี้จะเป็นทัวร์นาเมนต์ที่น่าตื่นเต้นและแปลกใหม่ จัดงานที่จะต้อนรับทุกคน ส่งเสริมกีฬา สร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชน กระตุ้นการท่องเที่ยว กระจายเศรษฐกิจของประเทศ และส่งเสริมความยั่งยืน และด้วยความตึงเครียดในภูมิภาคที่ผ่อนคลายลงบางส่วนจากการฟื้นสัมพันธ์ซาอุดิอาระเบีย กาตาร์จึงมีความหวังว่ากาตาร์จะสามารถพิสูจน์ให้เห็นถึงการรวมพลังเป็นหนึ่งเดียว  

แต่ไม่นานที่กาตาร์ได้รับเลือก ก็เกิดเสียงวิจาณ์ทันทีถึงความเหมาะสมว่ารัฐทะเลทรายเล็กๆ แห่งนี้ ซึ่งไม่มีประวัติศาสตร์ในฟุตบอลโลกและอุณหภูมิฤดูร้อนที่แผดเผา คว้าชัยชนะได้อย่างไร ข้อกล่าวหาเรื่องการคอร์รัปชัน การแลกคะแนนเสียง และการเชื่อมโยงกับข้อตกลงทางการค้าในระดับสูงสุดของรัฐบาล ฝ่ายกาตาร์ปฏิเสธมาโดยตลอดและยังไม่ได้รับการพิสูจน์อย่างชัดเจนจนถึงตอนนี้ แต่สิ่งหนึ่งที่ชัดและฉาวสะเทือนโลกคือกรณี คดีทุจริตฟีฟ่าปี 2015 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1NjFzUfJi9w3qyMwgDSODO/d681681914ddfb37d0fd715a19c11ccd/did-qatar-FIFA-controversy-pay-for-location-world-cup-2022-SPACEBAR-Photo03
Photo: ภายในสนามกีฬา Jassim-bin-Hamad กรุงโดฮา กาตาร์ / Photo: FRANCK FIFE and FRANCK FIFE / AFP

FIFA Uncovered 


ไม่นานมานี้มีสารคดีชุดที่ชื่อ ‘FIFA Uncovered’ กล่าวถึงคดีทุจริตฟีฟ่าเมื่อปี 2015 ผลของคดีอื้อฉาวดังกล่าวทำให้ เซปป์ แบลตเตอร์ ลาออกจากตำแหน่งประธานฟีฟ่า และเริ่มมีการตั้งคำถามถึงความโปร่งใสในการคัดเลือกเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 2022 แม้ว่าข้อกล่าวหาเรื่องการคอร์รัปชัน การล็อบบี้แลกคะแนนเสียง และการเชื่อมโยงกับข้อตกลงทางการค้าในระดับสูงสุดของรัฐบาลกาตาร์จะยังไม่ได้รับการพิสูจน์  

แต่ที่ชัดเจนคือกรณีอื้อฉาวฟีฟ่า 2015 ที่ถูกสอบสวนโดย FBI มีอดีตเจ้าหน้าที่อาวุโสฟีฟ่า 3 คนยอมรับว่ารับสินบนจากการลงคะแนนเสียงให้สนับสนุนกาตาร์ ประกอบกับในขั้นตอนการลงคะแนนเมื่อ 12 ปีก่อน มีเจ้าหน้าที่อีกสองคนที่ถูกสั่งพักงานหลังกระบวนการคัดเลือกเจ้าภาพ เมื่อหนังสือพิมพ์แห่งหนึ่งเปิดโปงโดยกล่าวหาว่าทั้งคู่ขอเงินสดเพื่อแลกกับการโหวตฟุตบอลโลก ปี 2018 และ 2022  

ขณะที่ไม่นานหลังฟีฟ่าประกาศให้รัสเซียและกาตาร์เป็นเจ้าภาพปี 2018 และ 2022 ตามลำดับ หนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่ของอังกฤษกล่าวหาว่าฟุตบอลโลกถูก ‘ขาย’ ให้กับรัสเซีย สื่อท้องถิ่นสเปน เนเธอร์แลนด์ และญี่ปุ่น แสดงความเห็นว่าด้วยอำนาจทางการเงินและสินค้าโภคภัณฑ์ของรัสเซีย และอำนาจด้านพลังงานของกาตาร์ จึงไมแปลกที่เหตุใดสองชาตินี้ได้รับเลือก แม้ว่า เซปป์ แบลตเตอร์ ประธานฟีฟ่าในขณะนั้น บอกว่ารัสเซียถือเป็นประเทศแรกในยุโรปตะวันออกที่เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก ในขณะที่กาตาร์จะเป็นประเทศแรกในตะวันออกกลางที่เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก  

การตัดสินใจครั้งนี้ของฟีฟ่าถือเป็นมิติใหม่ในการนำเกมกีฬาฟุตบอลไปสู่ ‘ไปยังดินแดนใหม่’ และสะท้อนถึงความปรารถนาที่จะ ‘พัฒนาฟุตบอล’ โดยการนำไปยังประเทศอื่นๆ  

จนถึงตอนนี้ผ่านมากว่าทศวรรษที่กาตาร์พยายามพิสูจน์ตัวเองถึงความพร้อม ด้วยการเนรมิตสนามกีฬาขนาดใหญ่หลายแห่งท่ามกลางทะเลทราย แต่ท้ายที่สุดตลอดห้วงเวลาระหว่าง 20 พฤศจิกายน ถึง 18 ธันวาคม แฟนบอลทั่วโลกจะเป็นผู้ตัดสินเองว่า กาตาร์จะสามารถพิสูจน์ตัวเองในฐานะผู้จัดเวิลด์คัพในทะเลทรายชาติแรกได้อย่างประสบความสำเร็จแค่ไหน 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์