เครื่องดื่มใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลเพิ่มความเสี่ยง ‘หัวใจเต้นผิดปกติ’ 20%

6 มีนาคม 2567 - 09:43

diet-drinks-may-boost-risk-of-dangerous-heart-condition-by-20-SPACEBAR-Hero.jpg
  • งานวิจัยใหม่พบว่า “การดื่มเครื่องดื่มที่เติมน้ำตาลก็เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะดังกล่าวได้ 10%...”

  • “…ในขณะที่การดื่มน้ำผลไม้บริสุทธิ์และไม่หวานประมาณ 4 ออนซ์ เช่น น้ำส้มหรือน้ำผักนั้นอาจมีความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วต่ำกว่าที่ 8%”

รู้หรือไม่? การดื่มเครื่องดื่มที่ใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลตั้งแต่ 2 ลิตรขึ้นไป / สัปดาห์ ซึ่งเทียบเท่ากับน้ำอัดลมไม่ผสมน้ำตาลขนาดกลาง / วันนั้น เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะ ‘หัวใจเต้นผิดปกติ’ หรือที่เรียกว่า ‘ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว’ (atrial fibrillation) ถึง 20% เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ดื่มเลย

‘ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว’ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘A-fib’ เป็นภาวะหัวใจเต้นผิดปกติที่คนจำนวนมากมักเรียกว่า ‘สั่นพลิ้ว’ หรือ ‘เต้นระริก’ ของหัวใจบริเวณหน้าอก 

งานวิจัยใหม่พบว่า “การดื่มเครื่องดื่มที่เติมน้ำตาลก็เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะดังกล่าวได้ 10% ในขณะที่การดื่มน้ำผลไม้บริสุทธิ์และไม่หวานประมาณ 4 ออนซ์ เช่น น้ำส้มหรือน้ำผักนั้นอาจมีความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วต่ำกว่าที่ 8%”

“นี่เป็นงานวิจัยชิ้นแรกที่รายงานความเชื่อมโยงระหว่าง ‘สารให้ความหวานที่ไม่มีแคลอรี่’ ‘สารให้ความหวานที่มีแคลอรี่ต่ำ’ และ ‘เครื่องดื่มที่มีน้ำตาล’ ซึ่งมีความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว”

เพนนี คริส-อีเธอร์ตัน ศาสตราจารย์กิตติคุณสาขาวิทยาศาสตร์โภชนาการจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐเพนซิลเวเนีย ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการศึกษาใหม่นี้กล่าวในแถลงการณ์

“เรายังต้องการการวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับเครื่องดื่มเหล่านี้เพื่อยืนยันการค้นพบใหม่นี้ และเพื่อให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงผลกระทบด้านสุขภาพต่อโรคหัวใจและภาวะสุขภาพอื่นๆ ที่ตามมา…ในระหว่างนี้ น้ำคือตัวเลือกที่ดีที่สุด และจากการศึกษาครั้งนี้ ควรจำกัดหรือหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มรสหวานที่มีแคลอรีต่ำ” คริส-อีเธอร์ตันกล่าวเสริม 

ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วเป็น ‘อันตราย’ และมันกำลังเพิ่มขึ้น!

diet-drinks-may-boost-risk-of-dangerous-heart-condition-by-20-SPACEBAR-Photo01.jpg

ตามรายงานของศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐฯ (US Centers for Disease Control and Prevention / CDC) ระบุว่า “ ‘ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว’ (A-fib) เป็นสาเหตุหลักของโรคหลอดเลือดสมองในสหรัฐฯ นอกจากนี้ โรคหลอดเลือดสมองที่มีสาเหตุจากภาวะ ‘A-fib’ ก็มีแนวโน้มที่จะ ‘รุนแรง’ กว่าโรคหลอดเลือดสมองที่มีสาเหตุอื่นๆ”  

“ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วยังทำให้เกิดลิ่มเลือด หัวใจล้มเหลว และเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจวาย ภาวะสมองเสื่อม และโรคไตได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีแนวโน้มว่าจะมีความเสี่ยงในระยะยาว” ดร.เกรกอรี มาร์คัส ศาสตราจารย์คณะแพทย์ศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียบอกกับ CNN  

“การวิจัยก่อนหน้านี้แสดงให้เห็นว่าการบริโภคน้ำอัดลมในปริมาณมากนั้นเชื่อมโยงกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว” นาวีด แซตตาร์ ศาสตราจารย์ด้านเวชศาสตร์เมตาบอลิซึมจากมหาวิทยาลัยกลาสโกว์ สกอตแลนด์ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการศึกษาใหม่กล่าวในแถลงการณ์  

โรคอื่นๆ และ ‘ความเสี่ยง’ ด้านสุขภาพอาจเพรียกหา...

diet-drinks-may-boost-risk-of-dangerous-heart-condition-by-20-SPACEBAR-Photo02.jpg

การศึกษาซึ่งตีพิมพ์เมื่อวันอังคาร (5 มี.ค.) ในวารสาร ‘Circulation: Arrhythmia and Electrophysiology’ ได้วิเคราะห์ข้อมูลจากผู้คนเกือบ 202,000 คนที่เข้าร่วมในฐานข้อมูลชีวการแพทย์ขนาดใหญ่ที่เรียกว่า ‘การศึกษาธนาคารชีวภาพระยะยาว’ (UK Biobank) ซึ่งติดตามมาเป็นเวลาเฉลี่ย 10 ปี โดยผู้คนส่วนใหญ่มีอายุตั้งแต่ 37-73 ปี และมากกว่าครึ่งหนึ่งเป็นผู้หญิง 

การศึกษาพบว่า “ผู้คนบริโภคเครื่องดื่มที่ใช้สารให้ความหวานมากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะเป็นผู้หญิง อายุน้อยกว่า มีน้ำหนักมากกว่า และมีความชุกของโรคเบาหวานประเภทที่ 2 สูงกว่า ส่วนผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มที่มีรสหวานมากขึ้นมีแนวโน้มที่จะเป็นผู้ชาย อายุน้อยกว่า มีน้ำหนักมากกว่า และมีความชุกของโรคหัวใจสูงกว่า” 

“ผู้ที่ดื่มทั้งเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลและน้ำผลไม้บริสุทธิ์มีแนวโน้มที่จะได้รับน้ำตาลทั้งหมดมากกว่าผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มที่ใช้สารให้ความหวาน” แถลงการณ์ระบุ 

“ผลการศึกษาของเราไม่สามารถสรุปได้อย่างแน่ชัดว่าเครื่องดื่มประเภทหนึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพมากกว่าอีกประเภทหนึ่ง เนื่องจากความซับซ้อนของการรับประทานอาหารของเรา และเนื่องจากบางคนอาจดื่มเครื่องดื่มมากกว่าหนึ่งประเภท” ดร.หนิงเจี้ยน หวัง ศาสตราจารย์คณะแพทยศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้เจียวตง และผู้เขียนรายงานการศึกษาหลักกล่าว

“อย่างไรก็ตาม จากการค้นพบเหล่านี้ เราขอแนะนำให้ผู้คนลดหรือหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่ใช้สารให้ความหวานและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลทุกครั้งที่เป็นไปได้ อย่าคิดว่าการดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลต่ำและแคลอรี่ต่ำนั้นดีต่อสุขภาพ เพราะอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพได้”

หวังกล่าวในแถลงการณ์

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์