มันจะเวิร์กไหม? เมื่อหลายประเทศคุมเข้มโควิดผู้เดินทางจากจีน

4 ม.ค. 2566 - 10:00

  • หลังทางการเริ่มเปิดประเทศชาวจีนก็เริ่มวางแผนเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศเพราะอัดอั้นมานานกว่า 3 ปี

  • การติดเชื้อที่อยู่ในช่วงขาขึ้นในจีนทำให้หลายประเทศเริ่มกังวลว่าจะเกิดเชื้อสายพันธุ์ใหม่จนพากันออกมาตรการคุมเข้มนักเดินทางจากจีน

do-restrictions-on-china-travel-work-against-covid-SPACEBAR-Thumbnail
หลังจากทางการจีนเดินหน้าเปิดประเทศด้วยการยกเลิกนโยบายคุมโควิดให้เป็นศูนย์ (Zero-Covid Policy) ชาวจีนจำนวนมากก็เริ่มวางแผนการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ ทว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อที่กำลังพุ่งขึ้นในจีนทำให้หลายประเทศโดยเฉพาะตะวันตกและยุโรปพากันออกมาตรการคุมเข้มโควิดในผู้ที่เดินทางจากจีน 
 
สหรัฐฯ แคนาดา ญี่ปุ่น มาเลเซียเป็นประเทศแรกๆ ที่ประกาศมาตรการกับเที่ยวบินที่มาจากจีน โดยกำหนดให้ผู้โดยสารเครื่องบินทุกคน ไม่ใช่เฉพาะพลเมืองจีน ที่มาจากจีนแสดงผลการตรวจหาเชื้อเป็นลบเพื่อเดินทางเข้าประเทศนั้นๆ  
 
เช่นเดียวกับประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป โดยคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) เผยว่า "เสียงส่วนใหญ่อย่างท่วมท้น" ของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป 27 ประเทศ ต้องการให้ผู้โดยสารที่มาจากจีนได้รับการตรวจโควิด-19 อย่างเป็นระบบก่อนออกเดินทาง เนื่องจากสหภาพยุโรปกลัวว่าการหลั่งไหลของนักท่องเที่ยวจากจีนอาจนำมาซึ่งเชื้อสายพันธุ์ที่หลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันจากวัคซีนที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน อีกทั้งยังกังวลว่าข้อมูลตัวเลขผู้ติดเชื้อของจีนไม่สมบูรณ์และไม่เพียงพอ 
 
  
สเตลลา คีเรียคิเดส คณะกรรมาธิการยุโรปด้านสุขภาพเผยว่า ในการประชุมเพื่อรับมือกับสถานการณ์นักท่องเที่ยวจากจีน คณะกรรมาธิการยังเห็นด้วยที่จะแนะนำให้ประเศสมาชิกยกระดับการจับตาน้ำเสียจากเที่ยวบินและที่สนามบินเพื่อตรวจหาร่องรอยของโควิด และให้ประเศสมาชิกยกระดับการตรวจตรา และจะออกมาตรการที่บังคับใช้ร่วมกันทั่วสหภาพยุโรปอีกครั้งเร็วๆ นี้ 
 
ขณะนี้มีหลายประเทศในสหภาพยุโรป รวมทั้ง ฝรั่งเศส สเปน อิตาลี ออกมาตรการให้นักท่องเที่ยวจากจีนตรวจหาเชื้อเมื่อเดินทางเข้าประเทศแล้วระหว่างที่กำลังรอมาตรการที่จะใช้ทั้งสหภาพยุโรป เช่นเดียวกับออสเตรียที่จะเริ่มตรวจตัวอย่างน้ำเสียจากเครื่องบินที่มาจากจีน รวมทั้งในแหล่งท่องเที่ยวยอดฮิตของนักท่องเที่ยวจีน อาทิ หมู่บ้านฮัลชตัต เวียนนาและซาลซ์บรูก ซึ่งออสเตรียมองว่าจะช่วยให้ตรวจพบเชื้อสายพันธุ์ใหม่แม้ว่านักท่องเที่ยวจากจีนจะไม่ได้เดินทางเข้าออสเตรียจากเที่ยวบินตรงก็ตาม 
 

ปักกิ่งไม่พอใจต่อข้อจำกัด 

จีนเรียกข้อจำกัดระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นต่อผู้เดินทางจากจีนว่า "เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้” โดย เหมา หนิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนแถลงข่าวว่า “บางประเทศจำกัดการเดินทางเข้าโดยพุ่งเป้ามาที่จีน สิ่งนี้ขาดพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ และการปฏิบัติบางอย่างเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ จีนอาจใช้มาตรการตอบโต้โดยใช้หลักการแบบเท่าเทียม” 
 
ขณะที่สหรัฐฯ  โต้กลับว่า มาตรการของสหรัฐฯ ต่อผู้ที่เดินทางมาจากจีนตั้งอยู่บนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์และอันเนื่องมาจากการที่ทางการจีนขาดความโปร่งใสกรณีตัวเลขผู้ติดเชื้อที่พุ่งขึ้น รวมทั้งจากความกังวลว่าการติดเชื้อจำนวนมากอาจก่อให้เกิดเชื้อสายพันธุ์ใหม่ 
 
เช่นเดียวกับทางการฝรั่งเศส โดยนายกรัฐมนตรี เอลิซาเบธ บอร์น ของฝรั่งเศสเผยถึงปฏิกิริยาของจีนว่า “เราจะเดินหน้าทำต่อไป”  
 

ผู้เชี่ยวชาญเชื่อจำกัดท่องเที่ยวคุมการระบาดได้น้อย 

บรรดาผู้เชี่ยวชาญมองว่า มาตรการต่างๆ ต่อนักท่องเที่ยวจากจีนมีผลเล็กน้อยต่อการควบคุมการระบาดของโควิด-19  
 
พอล ฮันเตอร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านแพทยศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอีสต์แองเกลียของอังกฤษเผยว่า แม้ว่าเชื้อจากจีนจะเข้าสู่ตะวันตก การควบคุมพรมแดนจะไม่ส่งผลกระทบมากนักต่สายพันธุ์เหล่านี้  
 
แม้แต่คณะผู้เชี่ยวชาญด้านโควิด-19 ของฝรั่งเศสซึ่งแนะนำให้รัฐบาลออกมาตรการตรงจคัดกรองโควิดยังบอกว่ามาตรการการคุมเข้มนักท่องเที่ยวจากจีนไม่น่าจะชะลอการแพร่กระจายของเชื้อหรือสายพันธุ์จากจีน “ข้อจำกัดต่างๆ ต่อแอฟริกาใต้หลังการระบาดของโอมิครอนเมื่อปลายปี 2021 ส่งผลกระทบน้อยมากต่อวิวัฒนาการของการระบาดในยุโรป” 
 
ทอม เวนเซเลียร์ส นักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยเลอเฟินของอิตาลีทวีตว่า การสุ่มตรวจหาเชื้อจากนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาจากทั่วโลก “น่าจะมีประโยชน์มากกว่าการตรวจเฉพาะนักท่องเที่ยวจากจีน” 
 
ขณะที่องค์การอนามัยโลกระบุหลังโควิดเริ่มระบาดในปี 2020 ว่า องค์การอนามัยโลกไม่สนับสนุนการห้ามเดินทาง เนื่องจาก “มักจะไม่มีประสิทธิภาพ” และเตือนอีกครั้งหลังโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนระบาดว่า มาตรการจำกัดการเดินทางไม่ช่วยหยุดยั้งการแพร่ระบาดไปทั่วโลก แต่อาจเป็นผลร้าย...โดยการทำให้ประเทศต่างๆ  ไม่อยากรายงานและแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับการระบาดของโรคและลำดับพันธุกรรม 
 
ขณะที่ล่าสุดหลังจากจีนปิดประเทศ ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกทวีตว่า “เนื่องจากขาดข้อมูลที่ครอบคลุมจากจีน จึงเป็นที่เข้าใจได้ว่าประเทศต่างๆ ทั่วโลกกำลังดำเนินการในลักษณะที่พวกเขาเชื่อว่าอาจปกป้องประชากรของตนได้” 
 
ด้าน แอนดรูว์ พอลลาร์ด ผู้อำนวยการ Oxford Vaccine Group เผยกับ BBC ว่า “ความพยายามในการแบนไวรัสโดยการปรับเปลี่ยนสิ่งที่เราทำกับการเดินทางแสดงให้เห็นแล้วว่ามันไม่ดีเท่าไร เราได้เห็นแล้วว่าการแบนการเดินทางจากหลายประเทศในช่วงการระบาดไม่ช่วยหยุดเชื้อไม่ให้แพร่กระจายไปทั่วโลกในที่สุด” 
 
คำว่า “ในที่สุด” ของพอลลาร์ดในบริบทนี้สำคัญมาก เนื่องจากผลการศึกษาวิจัยบ่งชี้ว่า การจำกัดการเดินทางเพียงแค่ช่วยยืดระยะเวลาการระบาดของเชื้อไวรัสในประเทศหนึ่งๆ เท่านั้น ไม่สามารถปิดกั้นไม่ให้เชื้อเข้าประเทศได้อย่างสมบูรณ์ 
 
ผลการวิจัยชิ้นหนึ่งซึ่งตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์อังกฤษพบว่า การปิดพรมแดนช่วยยืดระยะเวลาการแพร่ระบาดได้ 2 เดือนเท่านั้น แคเรน เกรพิน จากมหาวิทยาลัยฮ่องกงซึ่งเปป็นหนึ่งในผู้เขียนผลการวิจัยเผยกับ Reality Check ว่า “เราได้เรียนรู้ระหว่างการแพร่ระบาดว่ามาตรการครอบจักรวาลที่ใช้กับนักท่องเที่ยวทุกคน ไม่ใช่เพียงนักท่องเที่ยวจากประเทศใดประเทศหนึ่ง มีประสิทธิภาพมากกว่ามาตรการที่พุ่งเป้าโดยเฉพาะ เช่นต่อนักท่องเที่ยวจีน มาตรการจำกัดการเดินทางประเภทเดียวที่แสดงให้เห็นว่ามีประสิทธิภาพในช่วงที่มีการระบาดใหญ่คือมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการกักตัวที่ยาวนาน และฉันไม่คิดว่าจะมีคนอยากใช้มาตรการนี้มากนักในตอนนี้” 
 
เช่นเดียวกับ พอล เคลลี หัวหน้าฝ่ายการแพทย์ขงออสเตรเลียระบุว่า “จากข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบัน และในกรณีที่ไม่มีภัยคุกคามเฉพาะจากสายพันธุ์ที่เพิ่มความสามารถในการก่อโรคและการหลบหนีของภูมิคุ้มกัน ผมไม่เชื่อว่ามีเหตุผลด้านสาธารณสุขเพียงพอที่จะกำหนดข้อจำกัดหรือข้อกำหนดเพิ่มเติมสำหรับผู้เดินทางจากประเทศจีน” โดยเคลลีทราบถึงข้อกังวลเกี่ยวกับข้อมูลของโควิด-19 ที่เผยแพร่อย่างจำกัดในประเทศจีน 
 
ทว่าเคลลีเผยเพิ่มเติมว่า เขาปรึกษากับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั้งในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ซึ่งต่างเห็นพ้องต้องกันว่าการจำกัดการเดินทางที่พุ่งเป้าไปที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง “ไม่สอดคล้องกับแนวทางระดับชาติในปัจจุบันในการจัดการกับโควิด-19 และไม่สมส่วนกับความเสี่ยง” 
 
นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญบางคนยังมองว่า มาตรการคุมเข้มโควิดจากผู้เดินทางที่มาจากจีนรังแต่จะทำให้เกิดการเหยียดเชื้อชาติและเกลียดชาวต่างชาติมากขึ้น

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์