เคยเป็นบ่อยไหมทุกครั้งที่จ้องตาเจ้าหมาทีไรเป็นต้องรู้สึกตกหลุมรักเอ็นดู และผูกพันกับน้องขึ้นมาทุกที
งานวิจัยใหม่เผยว่า “สมองของสุนัขจะซิงค์กับสมองของเราเมื่อน้องมองเข้ามาในดวงตาของเรา” นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิทยาศาสตร์จีนพบว่าเซลล์ประสาทในส่วนต่างๆ ของสมองมีการซิงโครไนซ์กันระหว่างมนุษย์และสุนัขเป็นครั้งแรก บ่งชี้ว่าเราสามารถผูกพันกับน้องหมาได้อย่างลึกซึ้งคุ้นเคยกันมากยิ่งขึ้น
เป็นที่ทราบกันมานานแล้วว่าสมองของมนุษย์จะซิงค์กันเมื่อเราโต้ตอบกับมนุษย์ด้วยกัน แต่ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มีการสังเกตเห็นการซิงค์กันของสมองมนุษย์และสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่น และจนถึงขณะนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังไม่เคยสังเกตการซิงค์กันของสมองระหว่างสิ่งมีชีวิต 2 สายพันธุ์ที่แตกต่างกันเลย
เพื่อทำความเข้าใจว่าสิ่งนี้เป็นไปได้หรือไม่? นักวิจัยจึงทำการทดลองวัดกิจกรรมของสมองในมนุษย์และสุนัขด้วยการวางอิเล็กโทรด (หรือขั้วไฟฟ้า) บนกะโหลกศีรษะ ในการทดลองนี้ นักวิจัยนำสุนัขพันธุ์บีเกิลอายุน้อย 10 ตัวมาจับคู่กับมนุษย์แปลกหน้า จากนั้นก็ให้ทั้ง์ู้เข้าร่วมทดลองและเจ้าบีเกิลทำความรู้จักกันตลอดระยะเวลา 5 วัน
ในระหว่างการทดลอง “เราสังเกตเห็นความเชื่อมโยงเพิ่มขึ้นอย่างมากระหว่างสมองโดยตรงเกิดขึ้นระหว่างมนุษย์กับเจ้าบีเกิลตอนที่พวกเขาอยู่ในห้องเดียวกัน โดยเฉพาะบริเวณส่วนหน้าและสมองส่วนข้าง…”
— เว่ย เหริน ผู้เขียนงานวิจัยจากสถาบันวิทยาศาสตร์จีน เขียน
นอกจากนี้ ระดับการซิงโครไนซ์ยังเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 5 วันของการทดสอบ เนื่องจากพวกเขาเริ่มคุ้นเคยกันมากขึ้น
ในส่วนของการทดลองครั้งที่ 2 ผู้เข้าร่วมจะทำการลูบเจ้าบีเกิลโดยไม่มองตาน้องหมา หรือแค่มองตาน้องหมาอย่างเดียวโดยไม่ต้องลูบตัวน้องหมา
ทั้งนี้พบว่า การปฏิสัมพันธ์ทั้ง 2 รูปแบบช่วยเพิ่มระดับการซิงโครไนซ์ของสมอง แต่การจ้องตากันระหว่างผู้เข้าร่วมทดลองกับเจ้าบีเกิลจะทำให้สมองของพวกเขาเชื่อมโยงกันมากขึ้นในบริเวณสมองส่วนหน้า แต่ถ้าผู้เข้าร่วมลูบตัวบีเกิลก็จะทำให้สมองเชื่อมโยงกันบริเวณสมองส่วนข้าง และการซิงโครไนซ์ระหว่างสมองมนุษย์กับสุนัขที่เพิ่มขึ้นนั้น บ่งชี้ว่าพวกเขากำลังผูกพันกัน นั่นเป็นเหตุผลว่า ‘ทำไมแค่เราจ้องตาน้องหมา เราถึงรู้สึกรักและเอ็นดูน้องขึ้นมา’
เพื่อนสี่ขายังรู้ด้วยว่า ‘เรากำลังเครียดอยู่’ เพียงแค่ได้กลิ่นเหงื่อ

เจ้าหมาจะสามารถได้กลิ่นความเครียดจากลมหายใจและเหงื่อของเรา ซึ่งนั่นจะทำให้น้องหมาอารมณ์เสียตามไปด้วย
“สุนัขเป็นสัตว์ที่เป็นเพื่อนใกล้ชิดที่สุดของเรา และมีวิวัฒนาการร่วมกับมนุษย์มานานหลายพันปีแล้ว ส่งผลให้สุนัขประสบกับภาวะที่เรียกว่า ‘การติดต่อทางอารมณ์’ โดยสุนัขจะรับรู้ถึงอารมณ์ของเจ้าของได้”
— ดร.โซอี พาร์-คอร์เตส นักวิจัยหลัก เผยกับสำนักข่าว Daily Mail
แต่การสงบสติอารมณ์ หรือแม้แต่ทำกิจกรรมที่ผ่อนคลายก็อาจช่วยลดผลกระทบเหล่านี้ต่อเพื่อนสี่ขาของเราได้
นักวิจัยกล่าวว่าการค้นพบนี้สามารถช่วยให้ผู้ฝึกสุนัขมืออาชีพและเจ้าของสุนัขเข้าใจว่าอารมณ์ของตัวเองส่งผลต่อการฝึกสุนัขอย่างไร นี่อาจเป็นข้อควรพิจารณาที่สำคัญสำหรับการฝึกสุนัขในบทบาทที่มีความเครียดสูง เช่น การฝึกสุนัขตำรวจ หรือสุนัขกู้ภัย