อัตราเกิดเกาหลีวิกฤต! คนหันเลี้ยงสัตว์มากกว่ามีลูกทำยอดขายรถเข็นหมาแซงรถเข็นเด็ก

17 ก.ย. 2567 - 05:03

  • เกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเกิดต่ำที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และมีอัตราการเกิดลดลงอีกครั้งในปี 2023

  • ประเด็นนี้ทำให้ผู้กำหนดนโยบายมีความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับผลกระทบในระยะยาวต่อเศรษฐกิจและประชากรสูงอายุของประเทศ ถึงขนาดที่รัฐบาลต้องวางแผนจัดตั้งกระทรวงใหม่เพื่อแก้ปัญหานี้โดยเฉพาะ

  • ปีที่แล้วถือเป็นปีแรกที่ยอดขายรถเข็นสุนัขแซงหน้ารถเข็นเด็กใน Gmarket ซึ่งเป็นผู้ค้าปลีกออนไลน์ชั้นนำของเกาหลีใต้

dog-strollers-outsell-baby-strollers-amid-south-korean-birth-rate-crisis-SPACEBAR-Hero.jpg

ในเกาหลีใต้ รถเข็นสุนัขกำลังมียอดขาย ‘แซงหน้า’ รถเข็นเด็ก ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า อัตราการเกิดของประเทศกำลัง ‘ลดลง’ 

สำนักข่าว The Wall Street Journal รายงานว่า ปีที่แล้วถือเป็นปีแรกที่ยอดขายรถเข็นสุนัขแซงหน้ารถเข็นเด็กใน Gmarket ซึ่งเป็นผู้ค้าปลีกออนไลน์ชั้นนำของเกาหลีใต้  

เกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเกิดต่ำที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และมีอัตราการเกิดลดลงอีกครั้งในปี 2023 โดยจำนวนทารกที่คาดว่าจะเกิดโดยเฉลี่ยคิดเป็น 0.72% จาก 0.78% ในปี 2022 ประเด็นนี้ทำให้ผู้กำหนดนโยบายมีความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับผลกระทบในระยะยาวต่อเศรษฐกิจและประชากรสูงอายุของประเทศ ถึงขนาดที่รัฐบาลต้องวางแผนจัดตั้งกระทรวงใหม่เพื่อแก้ปัญหานี้โดยเฉพาะ 

กระแสการซื้อรถเข็นสัตว์เลี้ยงพุ่งสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ ยอดขายเพิ่มขึ้น 4 เท่าตั้งแต่ปี 2019

“การเลี้ยงสัตว์เลี้ยงกลายเป็นกระแสหลักไปแล้ว การเป็นเจ้าของสัตว์เลี้ยงกำลังเพิ่มขึ้น และการใช้จ่ายกับสัตว์เลี้ยงก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน เนื่องจากผู้คนเลือกที่จะเลี้ยงสัตว์มากกว่าเด็กๆ” ยุนฮยอนชิน ซีอีโอของ Pet Friends แพลตฟอร์มซื้อสัตว์เลี้ยงออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้ บอกกับ The Wall Street Journal

ยุนฮยอนชิน ซีอีโอของ Pet Friends แพลตฟอร์มซื้อสัตว์เลี้ยงออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้ บอกกับ The Wall Street Journal

คิมมุนซู รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเกาหลีใต้ กล่าวเมื่อปี 2023 ว่า “สิ่งที่ผมกังวลคือคนหนุ่มสาวไม่รักกัน พวกเขารักสุนัขและพาไปไหนมาไหนด้วย พวกเขาไม่ได้แต่งงาน และไม่มีลูก” 

เพื่อต่อสู้กับอัตราการเกิดที่ลดลง รัฐบาลเกาหลีใต้ได้จัดสรรเงินเกือบ 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 9.98 ล้านล้านบาท) สำหรับสิ่งจูงใจต่างๆ เช่น เงินอุดหนุนค่าเลี้ยงดูบุตรและการจ่ายเงินสดโดยตรงให้กับครอบครัวที่มีบุตร รัฐบาลท้องถิ่นบางแห่งเสนอเงินมากถึง 70,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.32 ล้านล้านบาท) ต่อทารก 1 คน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการริเริ่มเพื่อเด็กแรกเกิดเหล่านี้ 

นอกจากนี้ยังส่งเสริมกิจกรรมริเริ่มสร้างสรรค์ เช่น กิจกรรมจับคู่พร้อมรางวัลเงินสดสำหรับคู่รักที่นัดเดทและสร้างความสัมพันธ์ รวมไปถึงนโยบายที่ออกแบบมาเพื่อย่นระยะเวลาในการเดินทางและปรับปรุงสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตด้วย 

อย่างไรก็ตาม มาตรการเหล่านี้ยังไม่ได้ผลมากนัก หนุ่มสาวชาวเกาหลีใต้จำนวนมากต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมายในการเริ่มต้นครอบครัวโดยเฉพาะในกรุงโซล ซึ่งมีค่าครองชีพสูงอย่างน่าตกใจ นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมยังส่งผลให้ความต้องการที่จะแต่งงานและมีลูกในหมู่คนเจน Y และเจน Z ของเกาหลีใต้ ‘ลดลง’ ด้วย  

“คนเกาหลีใต้รุ่นใหม่ใช้จ่ายมากกว่าคนรุ่นก่อนๆ แทนที่จะออมเงิน พวกเขามุ่งสร้างความสำเร็จบนโลกออนไลน์ของตัวเอง แทนที่จะมุ่งความสนใจไปที่เป้าหมายที่เป็นไปไม่ได้อย่างการลงหลักปักฐานและมีลูก” จองแจฮุน ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยสตรีโซลบอกกับสำนักข่าว Reuters 

ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ยุนซ็อกยอล เรียกวิกฤตอัตราการเกิดว่าเป็น ‘สถานการณ์ฉุกเฉินระดับชาติ’ The Wall Street Journal รายงานว่า ยุนไม่มีลูกแต่ชอบเลี้ยงสัตว์เช่นเดียวกับคิมก็อนฮี สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง ทั้งคู่เลี้ยงแมวและสุนัขรวมกันกว่า 10 ตัว ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการที่ประเทศให้ความสำคัญกับสัตว์เลี้ยงมากกว่าเด็กๆ 

ทั้งนี้พบว่า ประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออก เช่น ญี่ปุ่น จีน และไต้หวัน ก็มีอัตราการเกิดต่ำในระดับเดียวกันที่ 1.26%, 1.0% และ 0.85% ตามลำดับ และประเทศเหล่านี้ก็ยังต้องดิ้นรนเพื่อแก้ไขอัตราการเกิดที่ลดลงเรื่อยๆ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์