บ่อยครั้งที่เรามักจะชี้นก ชี้ไม้ให้หมาดู แต่เอาจริงๆ มันรู้ไหมว่าเรากำลังชี้อะไร!?
แม้ว่ามนุษย์จะไม่สามารถอ่านใจสุนัขได้อย่างถ่องแท้ว่ามันกำลังคิดอะไรอยู่ แต่งานวิจัยบอกว่า ‘สุนัขที่ฉลาดบางตัว’ มันรู้นะว่าสิ่งที่เราชี้ๆ ให้มองคืออะไร ซึ่งในสมองสุนัขก็ใช้วิธีการประมวลผลคล้ายๆ กับมนุษย์ด้วย
Spatial bias - อคติความสนใจ
Spatial bias คือสิ่งที่สมองประมวลผลเกี่ยวกับพื้นที่ ตำแหน่ง หรือระยะห่าง และสามารถนำไปสู่วัตถุต่างๆ เทียบกับเด็กในวัยหัดเดิน เมื่อพ่อแม่ชี้ไปที่ที่ใดสักที่หนึ่งเด็กก็จะมุ่งความสนใจไปที่วัตถุนั้นโดยตรง กลับกันในกรณีของสุนัข เมื่อใช้ท่าทางนี้เป็นสัญญาณในการชี้นำไปทิศทางใดทิศทางหนึ่ง ความเข้าใจที่เกิดขึ้นจะไม่ได้ขึ้นอยู่กับสายตาของมัน แต่จะขึ้นอยู่กับวิธีคิดและการตีความ(จากท่าทาง)ด้วย อคติความสนใจนี้มักแสดงให้เห็นชัดๆ เลยจากการที่เราชี้ไปที่ขนม สายจูง หรือของเล่นของมัน
อิไวโล อิออตเชฟ (Ivaylo Iotchev) ผู้วิจัย และนักประสาทวิทยาในบูดาเปสต์ ฮังการี เล่าว่า ในช่วงแรกๆ เด็กตีความท่าทางเป็นการชี้ไปที่วัตถุ ขณะที่สุนัขจะใช้การชี้นี้เป็นการบอกทิศทาง พูดอีกนัยนึงก็คือ ไม่ว่าเราจะชี้ไปที่สิ่งไหนก็ตามความหมายที่เด็กและสุนัขตีความนั้นต่างกัน
ในการศึกษาก่อนหน้านี้ ไม่ได้ชี้ว่าสุนัขมีพฤติกรรมเช่นนี้ เนื่องจากการมองเห็นของมันด้อยกว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อยู่ในลำดับเดียวกับมนุษย์ (Primates) หรืออาจเป็นเพราะปัจจัยของพื้นที่รอบๆ มีความสำคัญกับสุนัขมากกว่าวัตถุที่อยู่ใกล้เคียง โดยการศึกษาครั้งใหม่นี้ทีมผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมสัตว์ได้รับข้อมูลเชิงลึกว่าสุนัขบางตัวสามารถเอาชนะปัจจัยเหล่านั้นได้อย่างไร
สถานที่ VS รูปร่างและสี
ทีมวิจัยได้ทดสอบพฤติกรรมสุนัขบ้านจำนวน 82 ตัว โดยมีสายพันธุ์และขนาดที่ต่างกัน ซึ่งในการทดลองครั้งหนึ่งมีการทดลองกว่า 50 ครั้ง เพื่อให้สุนัขมีการเรียนรู้ว่าขนมวางอยู่ในจานซ้าย หรือจานขวา โดยการทดลองนี้เป็นการออกแบบมาเพื่อสอนสุนัขเกี่ยวกับ ‘สถานที่’ เมื่อได้รับคำสั่งให้ค้นหาว่าขนมอยู่ที่ไหน
ในการทดลองที่ 2 ทีมวิจัยใช้จานกลมสีขาวและจานสี่เหลี่ยมสีดำ ซึ่งสุนัขจะสามารถกินขนมได้จากจานใบเดียวเท่านั้น และพวกมันจะถูกสอนเกี่ยวกับรูปร่างและสีของจาน ซึ่งการทดลองนี้จะช่วยบ่งชี้ว่าคุณสมบัติทางกายภาพช่วยให้สุนัขจดจำได้ง่ายขึ้นหรือไม่ เมื่อวัดความเร็วจากการวิ่งไปที่จานที่ถูกต้อง นักวิจัยพบว่าสุนัขเรียนรู้ได้เร็วขึ้นเมื่อวางขนมไว้ทางซ้ายหรือขวา แทนที่จะวางไว้บนจาน
ซึ่งดูเหมือนว่าสุนัขจะจำรูปร่างและสีได้ยาก จึงสรุปได้ว่าสุนัขเรียนรู้เกี่ยวกับสถานที่ได้เร็วกว่าสีและรูปร่าง
ความฉลาด VS การมองเห็น
การทดลองที่ซับซ้อนขึ้นมาหลังจากนี้คือการค้นหาว่าสุนัขจะรู้ไหมว่าขนมถูกวางไว้ตรงไหน หากสุนัขเคยหาขนมเจอจากทางขวา ให้ลองวางขนมไว้ทางซ้าย และถ้ามันเคยได้รับขนมจากจานกลมสีขาว ให้ลองวางไว้บนจานสี่เหลี่ยมสีดำเพื่อตรวจสอบอคติความสนใจที่เกิดจากประสาทสัมผัส และความฉลาด ซึ่งสิ่งนี้เกี่ยวโยงกับขนาดหัวของสุนัขด้วยเนื่องจากมันสัมพันธ์กับการมองเห็น
โซเฟีย บอร์กนาร์ ผู้ร่วมวิจัยกล่าวว่า ความสามารถในการมองเห็นของสุนัขแต่ละสายพันธุ์ต่างกัน ซึ่งเป็นผลทางอ้อมมาจากศีรษะของมัน สุนัขที่มีหัวสั้นกว่าจะมีพัฒนาการมองเห็นเหมือนมนุษย์ ซึ่งคมชัดและมีสมาธิมากกว่าสุนัขที่มีศีรษะยาว
เพื่อวัดความฉลาดของมัน สุนัขเหล่านี้ได้รับการทดสอบความจำ ความสนใจ และความพยายาม พวกเขาพบว่าสุนัขฉลาด คือสุนัขที่มีอคติความสนใจน้อย ขณะที่เด็กที่เริ่มมีพัฒนาการจะมีอคติความสนใจลดลงตามสติปัญญาที่เพิ่มขึ้น เฉกเช่นเดียวกับสุนัข
ในการศึกษาก่อนหน้านี้ แสดงให้เห็นว่าสุนัขที่ฉลาดจะมีความจำที่ดีกว่าการเรียนรู้คำศัพท์ใหม่ๆ สุนัขที่แสดงลักษณะเฉพาะที่มนุษย์มองว่าเป็นสติปัญญานั่นคือความสามารถในการรับคำสั่งเดิมๆ กับการทำอะไรที่อาจจะซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งอิออตเชฟกล่าวว่า อคติความสนใจในสุนัขไม่ใช่เพียงปัญหาทางประสาทสัมผัสเพียงอย่างเดียว แต่มันยังหมายถึงการคิดด้วย เราพบว่าสุนัขที่ฉลาด(กว่า) มีความยืดหยุ่นในสถานการณ์การเรียนรู้ที่ยากลำบาก และพวกมันก็สามารถเอาชนะอคติของพวกมันได้