“ค่าธรรมเนียมการจราจรติดขัดถูกยกเลิกแล้ว ทั้งแมนฮัตตันและทั่วทั้งนิวยอร์กปลอดภัย...ทรงพระเจริญ!”
โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โพสต์บนแพลตฟอร์ม ‘Truth Social’
ประโยคข้างต้นอาจดูเป็นการบอกเล่าอัปเดตแผนการทำงานของรัฐบาลทั่วๆ ไป ทว่าทรัมป์กลับทิ้งท้ายประโยคว่า “ทรงพระเจริญ” ซึ่งสร้างความแปลกใจแก่คนอเมริกันและคนทั่วโลกอยู่ไม่น้อยว่ามันหมายถึงอะไร? และทรัมป์ต้องการจะสื่ออะไร?
โพสต์ดังกล่าวเกิดขึ้นในขณะที่นักวิจารณ์กล่าวหาว่าทรัมป์ใช้อำนาจเกินกว่ารัฐธรรมนูญในช่วงสัปดาห์แรกๆ ของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี
นับตั้งแต่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา ทรัมป์ออกคำสั่งบริหารไปแล้วมากกว่า 60 ฉบับ ซึ่งคำสั่งหลายฉบับท้าทายอำนาจศาล และอยู่นอกขอบเขตกฎหมาย ทั้งไล่เจ้าหน้าที่ออก แทรกแซงหน่วยงานของรัฐบาลกลางในลักษณะที่เกินขอบเขตอำนาจของตัวเขาเอง แถมยังอายัดเงินที่รัฐสภาจัดสรรไปแล้ว
นอกจากนี้ ทรัมป์ยังพยายามที่จะรวมอำนาจให้มากขึ้นอีก เห็นได้ชัดจากเมื่อต้นสัปดาห์นี้ที่เขาลงนามในคำสั่งบริหารซึ่งประกาศให้หน่วยงานอิสระ เช่น คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการสื่อสารกลาง (FCC) และคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (SEC) มีอำนาจตามกฎหมาย โดยระบุว่ามีเพียงเขาและอัยการสูงสุดเท่านั้นที่สามารถตีความกฎหมายแทนฝ่ายบริหารได้
อีกทั้งเมื่อช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ทำเนียบขาวยังได้แชร์โพสต์แถลงการณ์ของทรัมป์ที่ดูเหมือนว่าจะเป็นการประกาศให้ตัวเองอยู่เหนือกฎหมาย “ผู้ที่ช่วยประเทศของตนไว้ได้จะไม่ละเมิดกฎหมายใดๆ” ทรัมป์ โพสต์ ซึ่งเป็นคำพูดที่เชื่อกันว่าเป็นของ ‘นโปเลียน’ จักรพรรดิและจอมเผด็จการแห่งฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 19
ถ้อยคำดังกล่าวทำให้ผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายหลายคนรู้สึกไม่สบายใจ “พูดตามตรงแล้ว ฉันไม่รู้ว่าจะคิดอย่างไรกับข้อความบนโซเชียลมีเดียที่ทั้งทรัมป์ มัสก์ หรือคนอื่นๆ โพสต์บนโซเชียล ดูเหมือนว่าข้อความเหล่านี้ต้องการสร้างกระแสฮือฮา” จิลเลียน เมตซ์เจอร์ นักวิชาการด้านกฎหมาย บอก แต่ ดอน แม็กเกฮาน อดีตที่ปรึกษาทำเนียบขาวของทรัมป์โต้แย้งว่า “มันไม่มีวิกฤตการณ์ใดๆ เกิดขึ้น”
ดูเหมือนว่าทรัมป์กำลังทำให้สถาบันอิสระ ‘เสื่อม’ ความชอบธรรม
ความกังวลเกี่ยวกับการปกครองของทรัมป์ไม่ได้เกิดขึ้นในภาวะสุญญากาศ ดังที่ แอนน์ แอปเปิลบาม นักประวัติศาสตร์บันทึกไว้ในหนังสือ ‘Autocracy Inc.’ ของเธอว่า “ระบอบเผด็จการทั่วโลกกำลังรวมตัวกันเพื่อทำลายสถาบันประชาธิปไตย แผนการนี้ดูคุ้นเคยอย่างน่าขนลุก นั่นก็คือ การโจมตีสื่อ ทำลายความเชื่อมั่นในการเลือกตั้ง กวาดล้างหน่วยงานของรัฐ และรวบรวมอำนาจ”
การที่ทรัมป์โจมตีหน่วยงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศสหรัฐ (USAID) นั้น สะท้อนถึงกลวิธีที่รัสเซียและจีนใช้ในการทำให้สถาบันอิสระเสื่อมความชอบธรรม
แคมเปญข่าวปลอมกล่าวอ้างเท็จๆ เมื่อไม่นานมานี้ว่า USAID จ่ายเงินหลายล้านให้กับสื่อการเมืองอย่าง ‘Politico’ เพื่อเผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อต่อต้านทรัมป์ แม้ว่าข้ออ้างดังกล่าวจะถูกหักล้างแล้ว แต่ทรัมป์ก็ยังใช้มาเป็นข้ออ้างในการลดการสมัครสมาชิกสื่อที่สำคัญของรัฐบาล
นี่ถือเป็นส่วนหนึ่งของรูปแบบข่าวปลอมที่ขยายกว้างขึ้น แอปเปิลบามเล่าถึงเรื่องที่โฆษณาชวนเชื่อของรัสเซียและจีนสร้างเรื่องราวเกี่ยวกับห้องแล็บชีวภาพที่ได้รับทุนจากสหรัฐฯ ในยูเครนขึ้นมา ซึ่งข้อกล่าวหาดังกล่าวแพร่กระจายไปทั่วสื่อฝ่ายขวาจัดของสหรัฐฯ แม้แต่ ทักเกอร์ คาร์ลสัน นักวิจารณ์การเมืองสายอนุรักษนิยมก็ยังเห็นด้วยกับประเด็นนี้เลย
ทำตัวเสมือนเป็น ‘กษัตริย์’ ทุกกระเบียดนิ้ว...

ในเวลาเพียงเดือนเดียวหลังจากกลับเข้าทำเนียบขาวอีกครั้ง ทรัมป์ละเมิดรัฐธรรมนูญและหลักนิติธรรมของสหรัฐฯ มากมาย ดูเหมือนว่ารัฐสภาได้ก้าวลงจากตำแหน่งโดยที่ไม่มีการคัดค้านใดๆ แถมทรัมป์ก็ยังไม่ถูกท้าทายโดยเสียงข้างมากในศาลฎีกาที่แต่งตั้งโดยพรรครีพับลิกันซึ่งมีมติสนับสนุนเขาอย่างล้นหลาม
“การฝ่าฝืนกฎหมายของทรัมป์ถือเป็นการทำลาย และละเมิดกฎหมาย...ทรัมป์ในวัย 78 ปี ที่เคยสัญญาไว้ว่าจะ ‘เป็นเผด็จการตั้งแต่วันแรก’ ได้สถาปนาตัวเองเป็น ‘กษัตริย์’ ที่ไม่ต้องรับผิดชอบต่อใคร ทำหน้าที่เสมือนเป็นกษัตริย์ทุกกระเบียดนิ้ว...”
ปีเตอร์ เชน ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายแห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก กล่าว
ถึงกระนั้น ทรัมป์ไม่ได้เป็นผู้คิดค้นแนวคิดในการเพิ่มอำนาจของประธานาธิบดี แต่ขอบเขต ความแข็งแกร่ง และความกล้าหาญของฝ่ายบริหารนั้นเติบโตขึ้นมาหลายทศวรรษแล้ว นับตั้งแต่สมัย ธีโอดอร์ โรสเวลต์ อดีตประธานาธิบดีคนที่ 26 ซึ่งเขาพยายามทำให้รัฐสภาอ่อนแอลง และเสริมอำนาจให้กับฝ่ายบริหาร เช่นเดียวกับ วูดโรว์ วิลสัน อดีตประธานาธิบดีคนที่ 28 ก็ดำเนินรอยตามโรสเวลต์
ส่วน แฟรงคลิน ดี.โรสเวลต์ อดีตประธานาธิบดีคนที่ 32 ใช้ประโยชน์จากวิกฤตการณ์เศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่และสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อยึดอำนาจของประธานาธิบดีให้มากขึ้นไปอีก ยิ่งไปกว่านั้น โรสเวลต์ยังได้รับการเลือกตั้งถึง 4 ครั้งจากความพยายามของเขา ซึ่งนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมครั้งที่ 22 แถมการใช้คำสั่งของฝ่ายบริหารเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการก็เพิ่มมากขึ้นในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา
ทว่าสิ่งเหล่านี้กลับขัดต่อเจตนารมณ์ของบรรพบุรุษผู้ก่อตั้งประเทศอย่างชัดเจน มาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญระบุว่า
“อำนาจนิติบัญญัติทั้งหมดที่ได้รับมอบในรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะตกเป็นของรัฐสภา ซึ่งได้แก่ อำนาจการใช้จ่ายและการกู้ยืมเงิน การควบคุมการย้ายถิ่นฐาน และการทำสงคราม แนวคิดหลักของผู้ก่อตั้งประเทศก็คือ รัฐสภาจะต้องร่างกฎหมาย และประธานาธิบดีจะต้องบังคับใช้กฎหมายเหล่านั้น”
แต่หากรัฐสภาถูกกำหนดให้เป็นองค์กรที่มีอำนาจสูงสุดในการออกกฎหมายในปัจจุบัน รัฐสภาซึ่งประกอบด้วยข้าราชบริพารในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาที่ต่างก็มีส่วนรู้เห็นสมรู้ร่วมคิดในระดับเดียวกัน ขณะที่ทุนนิยมนั้นได้มาจากความจงรักภักดีต่อประธานาธิบดีมากกว่าที่จะเป็นต่อประเทศชาติ
ทำเนียบขาวกำลังดำเนินการตรวจสอบฝ่ายนิติบัญญัติ และกล่าวหาว่าประธานาธิบดีทำการรัฐประหารโดยฝ่ายบริหารอย่างเต็มรูปแบบแม้กระทั่งก่อนที่ อีลอน มัสก์ ที่ปรึกษาของทรัมป์ และกระทรวงประสิทธิภาพรัฐบาล (DOGE) จะเริ่มดำเนินการปฏิรูปรัฐบาล
ตั้งแต่นั้นมา พวกเขาก็เริ่มดำเนินการด้วยการทำให้รัฐบาลสูญเสียผลประโยชน์ ล้มล้าง หรือยุบหน่วยงานต่างๆ ไล่ข้าราชการออกไปหลายพันคน เข้าถึงข้อมูลที่ไม่ควรเข้าถึง และยึดระบบการชำระเงินของกระทรวงการคลัง ในขณะเดียวกันก็ปฏิเสธที่จะใช้จ่ายเงินที่รัฐสภากำหนดไว้
บางทีทรัมป์อาจจะพูดว่า “L'état, c'est moi” (รัฐก็คือฉัน) เหมือนกับที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เคยพูดเอาไว้ รัฐบาลของทรัมป์นั้นเต็มไปด้วยพวกคนประจบสอพลอและสุนัขรับใช้ ทั้งคณะรัฐมนตรีและทีมบริหารของทรัมป์เป็นสิ่งที่ ฮิลลารี คลินตัน อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศจากพรรคเดโมแครตอธิบายว่า ‘น่ารังเกียจ’
เจ.ดี.แวนซ์ รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศอย่างน่ากังวลว่า “ไม่มีใครสามารถล้มล้างวาระการทำงานของทรัมป์ได้ แม้แต่รัฐธรรมนูญด้วยซ้ำ...ผู้พิพากษาไม่มีสิทธิควบคุมอำนาจนิติบัญญัติของฝ่ายบริหาร”
ผู้ขณะเดียวกัน เคธี่ โฮชูล ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์กก็ออกมาโต้กลับด้วยความตกตะลึงว่า “นิวยอร์กไม่เคยอยู่ภายใต้การปกครองของกษัตริย์มานานกว่า 250 ปีแล้ว และเราคงจะไม่เริ่มดำเนินการในตอนนี้อย่างแน่นอน”
“อเมริกาไม่ได้มีกษัตริย์ และผมจะไม่ยอมคุกเข่าให้กับผู้ใด” เจ.บี. พริตซ์เกอร์ ผู้ว่าการรัฐอิลลินอยส์ กล่าว
ที่น่าเป็นห่วงคือ ทรัมป์พูดซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าเขาต้องการที่จะเพิกเฉยต่อรัฐธรรมนูญและลงสมัครประธานาธิบดีเป็นสมัยที่ 3 โดยจะอยู่ในตำแหน่งผู้นำประเทศจนถึงปี 2033 หรืออาจจะนานกว่านั้นก็เป็นได้
อนาคตของประชาธิปไตยอเมริกัน...จะเป็นอย่างไรต่อไป

การดำรงตำแหน่งสมัยที่ 2 ของทรัมป์กำลังเป็นรูปเป็นร่างขึ้นเพื่อทดสอบความยืดหยุ่นของระบอบประชาธิปไตยในอเมริกา รัฐบาลของเขาได้พยายามยกเลิกการปฏิรูปหลังเหตุการณ์วอเตอร์เกตที่จำกัดอำนาจของประธานาธิบดี รวมไปถึงการแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลฎีกาของทรัมป์ทำให้ฝ่ายตุลาการเอียงไปในทางที่เป็นประโยชน์ต่อเขา ไหนจะพันธมิตรของเขาที่พูดคุยกันอย่างเปิดเผย
เกี่ยวกับการตอบโต้ฝ่ายตรงข้าม
แต่สิ่งนี้หมายความว่าสหรัฐฯ กำลังอยู่ในวิกฤตทางรัฐธรรมนูญหรือไม่?...“ยังไม่ถึงเวลา มันเป็นกระบวนการ เป็นเอกสารจำนวนมาก เป็นคำสั่งของฝ่ายบริหารจำนวนมาก เป็นการโฆษณาเกินจริงจำนวนมาก ศาลจะจัดการเรื่องนี้ รัฐสภาช่วยจัดการเรื่องนี้ได้” แม็กเกฮาน บอก
คำถามที่แท้จริงคือ ศาลและรัฐสภาจะดำเนินการดังกล่าวจริงหรือไม่? หรือวิสัยทัศน์ของทรัมป์เกี่ยวกับตำแหน่งประธานาธิบดีที่ไม่ผูกมัดจะกลายเป็นเรื่องปกติใหม่?
อเมริกากำลังยืนอยู่บนทางแยก ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ สถาบันประชาธิปไตยของอเมริกาจะแข็งแกร่งเพียงพอที่จะต้านทานการโจมตีของทรัมป์ได้หรือไม่? หรือพวกเขาจะยอมจำนนต่อเจตจำนงของทรัมป์อย่างถาวร
Photo : Shutterstock / Phil Mistry