‘ธารน้ำแข็งวันสิ้นโลก’ ละลายเร็วกว่าที่คิด หนุนน้ำทะเลสูงกรุงเทพฯ เสี่ยงจม

23 พ.ค. 2567 - 10:02

  • ขนาดนักวิทยาศาสตร์ยังกังวลแล้วเราจะไม่กังวลได้อย่างไร? เมื่อ ‘ธารน้ำแข็งวันสิ้นโลก’ ละลายเร็วกว่าที่คิดจนหนุนน้ำทะเลสูง!

  • เมืองบนที่ราบต่ำหรือประเทศชายฝั่งอย่างกรุงเทพฯ นิวยอร์ก เซี่ยงไฮ้ มุมไบ จึงเสี่ยงที่จะจมอยู่ใต้น้ำในไม่ช้านี้

doomsday-glacier-is-undergoing-vigorous-ice-melt-reshape-sea-level-rise-projections-SPACEBAR-Hero.jpg

การศึกษาเมื่อไม่นานมานี้พบว่า ‘ธารน้ำแข็งทเวตส์’ (Thwaites Glacier) หรือที่เรารู้จักกันในอีกชื่อว่า ‘ธารน้ำแข็งวันสิ้นโลก’ (Doomsday Glacier) กำลังละลายลงอย่างรวดเร็วกว่าที่คาดคิดไว้เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและโลกที่ร้อนขึ้น ซึ่งผลที่ตามมาอาจทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและน่ากังวลอย่างมาก 

SPACEBAR พาไปทำความรู้จัก ‘ธารน้ำแข็งวันสิ้นโลก’ ที่บอกเลยว่าผลกระทบจากการละลายของมันไม่ไกลตัวเราอีกต่อไป เพราะกระทบทั้งทั่วโลกและยังทั่วถึงทุกทวีปด้วย แน่นอนว่าอาเซียนบ้านเราก็ (อาจ) โดนด้วย 

‘ธารน้ำแข็งวันสิ้นโลก’ คืออะไร? ทำไมถึงกลายเป็นประเด็นที่นักวิทย์ ‘กังวล’

‘ธารน้ำแข็งทเวตส์’ เป็นธารน้ำแข็งขนาดใหญ่มากในทวีปแอนตาร์กติกาตะวันตก ส่วนฉายา ‘ธารน้ำแข็งวันสิ้นโลก’ นั้นได้จากการที่นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ถึงความเป็นไปได้ว่าจะเกิด ‘น้ำท่วมร้ายแรง’ หากธารน้ำแข็งละลายลงจนหมด 

ธารน้ำแข็งทเวตส์เป็นแนวกั้นสำคัญที่คอยป้องกันไม่ให้น้ำแข็งไหลออกจากแอนตาร์กติกาไปสู่มหาสมุทร หากมันละลายลงเรื่อยๆ น้ำแข็งจากข้างในก็จะไหลออกมาข้างนอกมากขึ้นส่งผลให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แถมธารน้ำแข็งนี้ยังมีส่วนทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญคิดเป็นประมาณ 4% และอัตราการละลายก็ยังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมาอีกด้วย 

ธารน้ำแข็งที่กำลังละลายคิดเป็น 10% ของระดับน้ำทะเลทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น แต่คาดว่าเมื่อมันพังทลายลง อาจทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มขึ้น 65 เซนติเมตรหรือประมาณ 2 ฟุตในช่วงเวลาไม่กี่ปี ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่าการละลายครั้งใหญ่ของธารน้ำแข็งเริ่มขึ้นในทศวรรษ 1940 กรอบเวลานี้น่าสนใจเนื่องจากสอดคล้องกับปรากฏการณ์เอลนีโญรุนแรง ซึ่งเป็นเหตุการณ์ทางธรรมชาติที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน

doomsday-glacier-is-undergoing-vigorous-ice-melt-reshape-sea-level-rise-projections-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: ‘ธารน้ำแข็งทเวตส์’ ในทวีปแอนตาร์กติกาตะวันตก / Photo by HANDOUT / NASA / AFP

การวิจัยยังชี้ให้เห็นว่าเอลนีโญอาจมีส่วนทำให้ธารน้ำแข็งละลาย ประกอบกับธารน้ำแข็งดังกล่าวมีความเสี่ยงอยู่แล้วในเวลานั้น และปรากฏการณ์เอลนีโญอาจทำให้ธารน้ำแข็งไปถึงจุดที่ละลายเร็วขึ้นมาก นอกจากนี้ ปัจจัยอื่นๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก็กำลังทำให้ธารน้ำแข็งละลายอย่างต่อเนื่องและสูญเสียธารน้ำแข็งในอัตราที่รวดเร็วยิ่งขึ้นเช่นเดียวกัน 

ยิ่งกว่าการละลาย คือ ‘พังทลาย’ = หายนะ…

นักวิทยาศาสตร์บางคนเคยคาดการณ์ในปี 2021 ไว้ว่า ส่วนสำคัญของธารน้ำแข็งอาจพังทลายลงภายใน 5 ปีข้างหน้า จากการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร ‘Science’ ระบุว่า “นักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ ต่างคาดการณ์ว่าธารน้ำแข็งอาจถล่มลงมาภายใน 200-900 ปีข้างหน้า”

“ในกรณีที่เลวร้ายที่สุด ระดับน้ำทะเลอาจสูงขึ้น 3 ฟุตภายในปี 2070, 10 ฟุตในช่วงต้นทศวรรษ 2100 และ 50 ฟุตภายในปี 2300”

ดร.เจมส์ เคิร์กแฮม นักธรณีวิทยาและหัวหน้าที่ปรึกษาทางวิทยาศาสตร์ของสถาบัน ‘International Cryosphere Climate Initiative’ คาดการณ์

หากแผ่นน้ำแข็งแอนตาร์กติกาตะวันตกละลายทั้งหมด ก็อาจทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นกว่า 10 ฟุต ส่งผลให้เมืองที่อยู่ต่ำและเมืองชายฝั่งอย่าง นิวยอร์กซิตี้ ไมอามี เซี่ยงไฮ้และมุมไบ เจอหายนะจมอยู่ใต้น้ำ นำไปสู่การพลัดถิ่นในวงกว้างและความเสียหายทางเศรษฐกิจ  

แม้ว่าสถานการณ์นี้จะไม่ใช่ภัยคุกคามในทันที แต่ก็แสดงถึงความเสี่ยงระยะยาวที่เพิ่มมากขึ้นพร้อมกับภาวะโลกร้อนและการละลายของแผ่นน้ำแข็งอย่างต่อเนื่อง 

ภัยคุกคามที่ไม่ไกลตัว…อีกต่อไป

doomsday-glacier-is-undergoing-vigorous-ice-melt-reshape-sea-level-rise-projections-SPACEBAR-Photo02.jpg
Photo: Photo by Jack TAYLOR / AFP

ปกติเมืองหรือประเทศชายฝั่งก็มักได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมบ่อยๆ อยู่แล้ว ประกอบกับระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นจากการแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ ไหนจะผลกระทบจากธารน้ำแข็งวันสิ้นโลกที่ละลายเร็วกว่าที่คาดไว้ ก็ยิ่งทำให้ประเทศชายฝั่งเหล่านี้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมหนักขึ้นไปอีก และอาจเสี่ยงจมในอีกไม่นาน 

ภายในปี 2100 หากความแปรปรวนถึงขีดจำกัดสูงสุด เมืองใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่าง ย่างกุ้ง กรุงเทพฯ โฮจิมินห์ซิตี้ มะนิลา เจนไนและโกลกาตาในอินเดีย ก็อาจหนีไม่พ้นอาจกลายเป็นเมืองใต้น้ำ 

การศึกษาก่อนหน้านี้ระบุว่า น้ำท่วมชายฝั่งในกรุงมะนิลา ซึ่งคาดว่าจะเกิดบ่อยขึ้น 18 ครั้งภายในปี 2100 ซึ่งมากกว่าในปี 2006 โดยพิจารณาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตาม การศึกษาใหม่แสดงให้เห็นว่าในกรณีที่เลวร้ายที่สุด น้ำท่วมดังกล่าวอาจเกิดบ่อยขึ้น 96 ครั้ง ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศภายใน 

ขณะเดียวกันก็คาดว่าน้ำจะท่วมย่างกุ้งบ่อยขึ้นเพิ่มขึ้นจาก 148 เป็น 471 ครั้ง ในขณะที่ในโฮจิมินห์ซิตี้จะท่วมเพิ่มขึ้นจาก 77 ครั้งเป็น 2,882 ครั้ง 

ส่วนกรุงเทพฯ เมืองหลวงของไทยซึ่งเป็นพื้นที่ราบต่ำอยู่แล้วก็ยิ่งเสี่ยงที่จะถูกน้ำท่วมจมบาดาลก่อนสิ้นศตวรรษ เพราะปกติก็เจอปัญหาน้ำท่วมขังบ่อยในช่วงฤดูฝนอยู่แล้ว บางทีอาจถึงคราวต้องพิจารณาย้ายเมืองหลวงกันจริงๆ ซะแล้ว 

ชะตากรรมของโลกขึ้นอยู่กับมนุษย์…

“มนุษย์กำลังเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเล็กๆ น้อยๆ อย่างต่อเนื่องสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงกระทบไปถึงธารน้ำแข็งได้”

มาร์ติน ทรูฟเฟอร์ ศาสตราจารย์ฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยอะแลสกา แฟร์แบงค์ กล่าว

นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงในทวีปแอนตาร์กติกายังส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศและระดับน้ำทะเลทั่วโลก อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อผู้คนทั่วโลก สิ่งนี้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการร่วมมือกันระดับโลกในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การเปลี่ยนไปสู่แหล่งพลังงานที่ยั่งยืน และการดำเนินนโยบายสภาพภูมิอากาศที่มีประสิทธิผล 

เวลานี้ชะตากรรมของโลกขึ้นอยู่กับว่าเราแล้วล่ะว่าจะใส่ใจในคำเตือนและร่วมมือกันปกป้องโลกใบนี้จากภาวะโลกร้อน คาร์บอน และก๊าซเรือนกระจกได้หรือไม่? 

Photo by HANDOUT / NASA / AFP

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์