ขีปนาวุธของฮิซบุลเลาะห์อาจจะทำอะไรอิสราเอลไม่ค่อยได้ เพราะมีระบบป้องกันภัยทางอากาศอย่าง Iron Dome คอยสกัดไว้ แต่เมื่อเป็นโดรน อิสราเอลกลับเสียท่าเอาง่ายๆ
เมื่อค่ำวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (13 ต.ค.) โดรนของกลุ่มฮิซบุลเลาะห์ได้ทะลวงระบบ Iron Dome เข้าไปโจมตีฐานทัพกองพลน้อยโกลานิของอิสราเอลใกล้กับเมืองบินยามินาซึ่งอยู่ห่างจากกรุงเทลอาวีฟไปทางเหนือราว 60 กิโลเมตร และอยู่ใกล้กับพรมแดนเลบานอน ส่งผลให้มีทหารเสียชีวิต 4 นาย บาดเจ็บอีกราว 60 นาย ถือเป็นหนึ่งในการโจมตีฐานทัพอิสราเอลที่ร้ายแรงที่สุดนับตั้งแต่อิสราเอลทำสงครามกับกลุ่มฮามาสเมื่อกว่า 1 ปีที่แล้ว
สื่อท้องถิ่นของอิสราเอลรายงานว่า ในวันเกิดเหตุโดรน 2 ลำของกลุ่มฮิซบุลเลาะห์บินข้ามมาจากน่านฟ้าของเลบานอนเหนือทะเลเมดิเตอร์เรเนียน โดยโดรนลำหนึ่งถูกยิงตกและอีกลำหนึ่งหายไปจากเรดาร์ จึงไม่มีสัญญาณเตือนดังขึ้น แต่จู่ๆ โดรนลำดังกล่าวก็เล็ดลอดไปโจมตีโรงอาหารของฐานทัพกองพลน้อยโกลานิสำเร็จ
เหตุการณ์นี้ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่าเหตุใดระบบป้องกันภัยทางอากาศที่มีประสิทธิภาพของอิสราเอลถึงตรวจจับโดรนของฮิซบุลเลาะห์ไม่ได้
อันที่จริงระบบป้องกันภัยทางอากาศ Iron Dome ยังทำงานได้ดี ผู้สื่อข่าวของสำนักข่าว BBC รายงานว่ายังได้ยินเสียงระบบ Iron Dome ทำลายจรวดของกลุ่มฮิซบุลเลาะห์ที่ยังมาจากทางตอนใต้ของเลบานอนอยู่ตลอด
ซาริท เซฮานิ จาก Alma Research Institute ที่เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงมองว่า ไม่ใช่เรื่องบังเอิญหรือโชคช่วย แต่ฮิซบุลเลาะห์วางแผนมาอย่างดี “พวกเขาพยายามทำสิ่งนี้มานานแล้ว”
ที่พักของเซฮานิอยู่ห่างจากชายแดนเลบานอนเพียง 9 กิโลเมตรและมองเห็นเหตุการณ์เมื่อวันอาทิตย์จากระเบียงห้อง เธอเล่าว่ามีการยิงจรวดและเสียงเตือนภัยทั่วพื้นที่ชายแดนตอนที่โดรนถูกปล่อยออกมา ซึ่งจรวดที่ฝั่งฮิซบุลเลาะห์ระดมยิงออกมาทำให้ระบบป้องกันภัยทางอากาศของอิสราเอลต้องรับมือเป็นพัลวัน ช่วยให้โดรนเล็ดลอดเข้าไปได้
อย่างไรก็ดี Iron Dome ถูกออกแบบมาให้รับมือกับจรวดและขีปนาวุธซึ่งสามารถคำนวณวิถีที่จะตกได้เป็นหลัก แต่การหยุดยั้งโดรนซับซ้อนกว่า เพราะโดรนสามารถปล่อยออกมาได้จากทุกที่ บินต่ำและช้า ทั้งยังเปลี่ยนทิศทางได้อย่างรวดเร็ว ทำให้การตรวจจับตั้งแต่เนิ่นๆ ทำได้ยาก และบางครั้งยังถูกเข้าใจผิดว่าเป็นนกด้วย
แท็กติกการปล่อยโดรนมาโจมตีของกลุ่มฮิซบุลเลาะห์จึงสร้างความปวดหัวให้อิสราเอลได้ไม่น้อย ถึงขนาดลงมือตรวจสอบว่าเรดาร์ตรวจจับไม่พบโดรนอีกหนึ่งลำของฮิซบุลเลาะห์และไม่ส่งสัญญาณเตือนก่อนโจมตีครั้งล่าสุดได้อย่างไร และกำลังหาวิธีรับมือกับโดรนโดยเฉพาะ
เหตุการณ์ที่บินยามินาไม่ใช่ครั้งแรกที่โดรนของฮิซบุลเลาะห์เล็ดลอดเข้าไปในอิสราเอลได้ เมื่อเดือนมิถุนายน กลุ่มฮิซบุลเลาะห์เผยแพร่คลิปความยาว 9 นาทีที่ถ่ายจากโดรนเผยให้เห็นทั้งที่ตั้งของทหารและพลเรือนทั้งนอกและในเมืองไฮฟาซึ่งเป็นเมืองใหญ่สุดของอิสราเอล และดูเหมือนว่ากองทัพอิสราเอลไม่สามารถตรวจจับโดรนลำนี้
ต่อมาเดือนกรกฎาคมโดรนที่ยิงมาจากกลุ่มกบฏฮูษีในเยเมนทำใช้ชายคนหนึ่งเสียชีวิต คนอื่นๆ บาดเจ็บอีกอย่างน้อย 10 คนในกรุงเทลอาวีฟ โดยไม่มีเสียงไซเรนเตือน โดยองทัพอิสราเอลเผยว่า มีการปล่อยโดรนมา 2 ลำ ลำหนึ่งถูกสกัดได้ ส่วนอีกลำหนึ่งเล็ดลอดไปได้
และดูเหมือนว่าแท็กติกการส่งโดรนออกมา 2 ลำพร้อมกันจะถูกฮิซบุลเลาะห์ใช้อีกครั้งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กองทัพอิสราเอลระบุว่า โดรน 2 ลำถูกปล่อยออกมาจากเลบานอนเมื่อวันศุกร์ และกองทัพสกัดไว้ได้ 1 ลำ แต่ไม่ได้เปิดเผยว่าเกิดอะไรขึ้นกับโดรนอีก 1 ลำ ครั้งนั้นบ้านพักผู้สูงอายุในเมืองเฮิร์ซลิยาได้รับความเสียหายจากการโจมตี แต่ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต
เหตุการณ์ล่าสุดเมื่อวันอาทิตย์ก็ใช้แท็กติกเดียวกัน ก่อนที่จะมีรายงานว่าฐานของกองพลน้อยโกลานิถูกโจมตีไม่นาน กองทัพอิสราเอลสกัดโดรนที่มาจากเลบานอนได้ทางตอนเหนือของพื้นที่กองทัพเรือ ซึ่งบ่งชี้ว่าโดรนลำที่โจมตีฐานทัพเป็นโดรนลำที่ 2 ที่ถูกปล่อยออกมาพร้อมๆ กัน หรืออาจจะก่อนหรือหลังลำแรกไม่นาน
ส่วนฝั่งฮิซบุลเลาะห์ประกาศว่า ได้ยิงจรวดหลายสิบลูกไปยังเมืองนาฮาริยาและเมืองเอเคอร์ทางตอนเหนือของอิสราเอล เพื่อโจมตีระบบป้องกันทางอากาศของอิสราเอล ขณะเดียวกันก็ปล่อยโดรนไปพร้อมกัน
Photo by ANSARULLAH MEDIA CENTRE / AFP