เราต่างมีเวลา 24 ชั่วโมงเท่ากัน แต่ในอนาคตตัวเลขนี้กำลังจะเปลี่ยนไป
ผลการศึกษาวิจัยของทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสันระบุว่า เวลา 24 ชั่วโมงบนโลกจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นเป็น 25 ชั่วโมงในที่สุด เนื่องจากดวงจันทร์ค่อยๆ ถอยห่างออกจากโลก
งานวิจัยซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Proceedings of the National Academy of Science ชิ้นนี้ระบุว่า ดวงจันทร์ขยับออกห่างจากโลกราวปีละ 3.8 เซนติเมตร นั่นหมายความว่าในอีกราว 200 ล้านปี 1 วันบนโลกจะมี 25 ชั่วโมง
ศาสตราจารย์ สตีเวน ไมเยอร์ส จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสันเผยว่า “เมื่อดวงจันทร์ขยับห่างออกจากโลก โลกก็เหมือนนักสเกตลีลาที่หมุนตัวช้าลงขณะกำลังเหยียดแขนออก”
ดวงจันทร์อยู่ห่างจากโลกราว 384,400 กิโลเมตร และใช้เวลาในการโคจรรอบโลก 27.3 วัน
ในการศึกษาวิจัยนี้ ไมเยอร์สและทีมได้ประกอบข้อมูลเชิงลึกของความสัมพันธ์ระหว่างโลกกับดวงจันทร์ขึ้นมาใหม่และพบว่า เมื่อ 1,400 ล้านปีก่อน 1 วันบนโลกยาวนานเพียง 18 ชั่วโมงเท่านั้น เนื่องจากดวงจันทร์อยู่ใกล้โลกมากกว่าปัจจุบัน ทำให้โลกหมุนเร็วกว่าทุกวันนี้
ตลอดประวัติศาสตร์ความเป็นไปของโลกนั้น เกิดปรากฏการณ์ “ดวงจันทร์เคลื่อนห่าง” เรื่อยมา และที่เรารู้ว่ามีปรากฏการณ์นี้ก็ต้องขอบคุณนักบินอวกาศในภารกิจอะพอลโลที่ติดตั้งกระจกสะท้อนแสงไว้บนดวงจันทร์เมื่อหลายปีก่อน เมื่อยิงเลเซอร์ไปยังกระจกสะท้อนแสงที่ว่าก็จะทราบว่าดวงจันทร์เคลื่อนห่างออกไปจากโลกเร็วแค่ไหน
เมื่อดวงจันทร์ขยับห่างออกจากโลก แรงดึงดูดที่มีต่อโลกก็จะเปลี่ยนตามไปด้วย ทำให้โลกหมุนช้าลง สาเหตุก็เป็นเพราะดวงจันทร์มีอิทธิพลต่อกระแสน้ำบนโลก เมื่อโลกหมุน แรงโน้มถ่วงของดวงจันทร์ที่โคจรรอบโลกจะดึงมวลน้ำในมหาสมุทรให้เคลื่อนที่ทำให้เกิดน้ำขึ้นน้ำลง โดยโลกฝั่งที่อยู่ใกล้กับดวงจันทร์จะเกิดน้ำขึ้น แม้จะมีแรงเฉื่อยที่พยายามรักษาระดับน้ำไว้ แต่แรงดึงดูดของดวงจันทร์มีมากกว่า น้ำบนโลกจึงถูกดึงดูดเข้าหาดวงจันทร์ ส่วนโลกอีกฝั่งหนึ่งที่อยู่ห่างจากดวงจันทร์ แรงดึงดูดของดวงจันทร์มีน้อยกว่า แรงเฉื่อยจึงชนะ ทำให้เกิดน้ำลง
เมื่อแรงดึงดูดของดวงจันทร์รวมกับแรงเฉื่อยทำให้เกิดน้ำขึ้นน้ำลงที่อยู่ในแนวเดียวกับดวงจันทร์ ขณะที่โลกหมุนรอบแกนหมุนของตัวเองได้เร็วกว่าการโคจรของดวงจันทร์มาก หมายความว่ามีแรงเสียดทานจากแผ่นเปลือกโลกที่ก้นมหาสมุทร ซึ่งพยายามจะลากเอามวลน้ำทั้งหมดไปพร้อมกับการหมุนของโลกด้วย ส่งผลให้มวลน้ำในมหาสมุทรเคลื่อนตัวแซงหน้าการโคจรของดวงจันทร์อยู่เล็กน้อย ในขณะที่แรงดึงดูดของดวงจันทร์ก็พยายามจะดึงเอามวลน้ำให้ถอยหลังไปในทิศทางตรงข้าม
ปรากฏการณ์นี้ทำให้โลกเสียพลังงานในการหมุนรอบตัวเอง จนเริ่มหมุนช้าลงเรื่อยๆ ในขณะที่ดวงจันทร์กลับเป็นฝ่ายได้พลังงานส่วนนี้ไปแทน ทำให้มันมีวงโคจรในระดับที่สูงขึ้นหรือถอยห่างออกจากโลกมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นที่ส่งผลต่อการโคจรของโลก หนึ่งในนั้นคือ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เมื่ออุณหภูมิโลกสูงขึ้น น้ำแข็งขั้วโลกจะละลายเร็วขึ้น น้ำจากการละลายเหล่านี้ก็จะไหลลงสู่มหาสมุทรโดยเคลื่อนจากขั้วโลกไปยังเส้นศูนย์สูตรที่เกิดปรากฏการณ์น้ำขึ้นน้ำลง ทำให้ช่วงกลางของโลกขยายกว้างขึ้น ส่งผลให้โลกหมุนช้าลงอีก
ทั้งหมดนี้หมายความว่า 1 วันบนโลกยาวนานขึ้นเรื่อยๆ แต่การเปลี่ยนแปลงนี้ก็เล็กน้อยมากจนเราไม่ทันสังเกตและไม่กระทบกับนาฬิกาชีวภาพของมนุษย์
แต่เมื่อเวลาผ่านไปหลายล้านปี การเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ เหล่านั้นจะเพิ่มขึ้น และในที่สุดก็ทำให้การโคจร 1 รอบของโลกใช้เวลานานขึ้น
Photo by AFP PHOTO/NASA/HANDOUT