โลกเรากำลังจะมีดวงจันทร์ดวงที่ 2 อยู่ยาว 2 เดือนเริ่มโคจรปลายกันยานี้!

23 ก.ย. 2567 - 09:24

  • ดวงจันทร์ดวงที่ 2 ที่ว่านี้เรียกว่า ‘มินิมูน’ (mini-moon) หรือดวงจันทร์จิ๋ว ‘2024 PT5’ เพิ่งถูกค้นพบเมื่อเดือนสิงหาคมจะเริ่มโคจรรอบโลกเป็นรูปเกือกม้าในช่วงปลายเดือนกันยายนจนถึงปลายเดือนพฤศจิกายน

  • แต่ดวงจันทร์จิ๋วดวงนี้จะไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เนื่องจากขนาดเล็กเกินไป แถมยังไม่สว่างเพียงพอที่จะมองเห็นได้ท่ามกลางความมืดมิดของอวกาศ แต่ก็สามารถมองเห็นได้ผ่านกล้องโทรทรรศน์กำลังขยายสูง

earth_to_get_mini_moon_for_two_months_what_is_it_SPACEBAR_Hero_c5f03e96e2.jpg

โลกของเรากำลังจะมีดวงจันทร์ดวงที่ 2 หรือที่เรียกว่า ‘มินิมูน’ (mini-moon) หรือดวงจันทร์จิ๋ว ‘2024 PT5’ เนื่องจากดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ที่เพิ่งถูกค้นพบเมื่อเดือนสิงหาคมจะเริ่มโคจรรอบโลก และมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นดวงจันทร์ดวงจิ๋ว โดยโคจรรอบโลกเป็นรูปเกือกม้าในช่วงปลายเดือนกันยายนจนถึงปลายเดือนพฤศจิกายน 

แต่ดวงจันทร์จิ๋วดวงนี้จะไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เนื่องจากขนาดเล็กเกินไป และมีเส้นผ่านศูนย์กลางเพียง 10 เมตร (33 ฟุต) แถมยังไม่สว่างเพียงพอที่จะมองเห็นได้ท่ามกลางความมืดมิดของอวกาศ แต่ก็สามารถมองเห็นได้ผ่านกล้องโทรทรรศน์กำลังขยายสูง 

แล้ว ‘ดวงจันทร์จิ๋ว’ นี้คืออะไร?

ดวงจันทร์จิ๋วนั้นพบได้ยากมาก โดยปกติแล้ว ดาวเคราะห์น้อยจะถูกดึงเข้าสู่วงโคจรของโลกด้วยแรงโน้มถ่วงของโลกเพียง 1 ครั้งในช่วงเวลา 10-20 ปี แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ดาวเคราะห์น้อยเหล่านี้อาจปรากฏให้เห็นมากขึ้นในชั้นบรรยากาศ ซึ่งอยู่สูงจากพื้นผิวโลกประมาณ 10,000 กิโลเมตร (6,200 ไมล์) 

โดยเฉลี่ยแล้ว ดวงจันทร์จิ๋วจะยังคงอยู่ในวงโคจรของโลกเป็นเวลาไม่กี่เดือนไปจนถึง 2 ปี และดาวเคราะห์น้อยจะค่อยๆ หลุดจากแรงดึงดูดของโลก จากนั้นจึงเคลื่อนตัวกลับเข้าสู่อวกาศและกลับสู่วิถีโคจรออกห่างจากโลกอีกครั้ง 

จริงๆ แล้ว ดวงจันทร์จิ๋วก็คล้ายกับวัตถุหินอื่นๆ ในอวกาศ ที่อาจประกอบด้วยส่วนผสมของสารโลหะ คาร์บอน ดินเหนียว และแร่ซิลิเกต 

จากการศึกษาวิจัยดวงจันทร์จิ๋วในปี 2018 ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร ‘Frontiers in Astronomy and Space Sciences’ ของสวิตเซอร์แลนด์ พบว่าดวงจันทร์จิ๋วส่วนใหญ่โคจรเข้ามาใกล้โลกจากแถบดาวเคราะห์น้อยระหว่างดาวอังคารและดาวพฤหัสบดี 

ดวงจันทร์จิ๋วจะไม่มีวงโคจรที่เสถียรเหมือนกับดวงจันทร์ถาวรของโลก แต่จะโคจรในวิถีโค้งเกือกม้า เนื่องจากดาวเคราะห์น้อยถูกแรงโน้มถ่วงของโลกดึงไปข้างหน้าและข้างหลังอยู่ตลอดเวลา ความไม่เสถียรของวงโคจรทำให้ดาวเคราะห์น้อยค่อยๆ เคลื่อนตัวออกห่างจากแรงดึงดูดของโลก เมื่อดวงจันทร์จิ๋วหลุดจากแรงดึงดูดของโลกแล้ว ก็จะถูกปล่อยกลับเข้าสู่อวกาศ 

อย่างไรก็ดี แม้ว่าดวงจันทร์จิ๋วจะพบได้ยาก แต่ก็มีการค้นพบดวงจันทร์หลายดวงภายในวงโคจรของโลกตั้งแต่ปี 2006 

ในปี 2006 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่ ‘RH120’ ดวงจันทร์จิ๋วดวงแรกของโลกที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-4 เมตร ได้รับการยืนยันว่าโคจรอยู่ในวงโคจรของโลกนานประมาณ 1 ปี ดวงจันทร์จิ๋วดวงนี้เป็นเพียงดวงเดียวเท่านั้นที่ถูกถ่ายภาพด้วยกล้องโทรทรรศน์ ‘Southern African Large Telescope’ (SALT) 

นอกจากนี้ ดวงจันทร์จิ๋ว ‘NX1’ ซึ่งมีเส้นผ่านศูนย์กลางระหว่าง 5-15 เมตร ก็ถูกมองเห็นครั้งแรกในปี 1981 และอีกครั้งในปี 2022 ด้วย ทั้งนี้ คาดว่าดวงจันทร์จิ๋วจะกลับโคจรรอบโลกเป็นรูปเกือกม้าอีกครั้งในปี 2051  

เรารู้อะไรบ้างเกี่ยวกับปรากฏการณ์ ‘ดวงจันทร์จิ๋ว’ ครั้งล่าสุด?

ดวงจันทร์จิ๋ว ‘2024 PT5’ ที่กำลังโคจรเข้าใกล้โลกในปัจจุบันนี้ถูกพบเห็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ด้วยการใช้ระบบติดตามดาวเคราะห์น้อย ‘Asteroid Terrestrial-impact Last Alert System’ (ATLAS) ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากองค์การ NASA และตั้งอยู่ในหอดูดาวฮาเลอาคาลาบนเกาะเมาวี รัฐฮาวาย ระบบดังกล่าวจะสแกนท้องฟ้าอย่างต่อเนื่องขณะระบุและติดตามวัตถุใกล้โลกที่อาจเป็นภัยคุกคามต่อโลก 

จากการศึกษาครั้งนี้ นักดาราศาสตร์ได้ยืนยันแล้วว่า ‘2024 PT5’ เป็นดาวเคราะห์น้อย และเผยว่าดวงจันทร์จิ๋วจะโคจรรอบโลกตั้งแต่วันที่ 29 กันยายนถึงวันที่ 25 พฤศจิกายน ก่อนที่จะหลุดพ้นจากแรงดึงดูดของโลกกลับเข้าสู่อวกาศ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์