องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) เผยว่าปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Niño) ที่ทำให้เกิดสภาพอากาศและปรากฏการณ์สุดขั้ว เช่น ไฟป่าและพายุไซโคลนเขตร้อน เป็นต้น กำลังจะสิ้นสุดลงส่งไม้ต่อให้ปรากฏการณ์ลานีญา (La Niña) ปลายปีนี้ ซึ่งจะทำให้โลกเย็นลงอีกครั้งในปี 2024 และน่าจะช่วยลดอุณหภูมิโลกลงได้บ้างหลังจากบันทึกอุณหภูมิความร้อนทั่วโลกมาหลายเดือน
ปรากฏการณ์เอลนีโญครั้งล่าสุดซึ่งเริ่มขึ้นในเดือนมิถุนายน 2023 และพุ่งถึงจุดสูงสุดในเดือนธันวาคม ถือเป็น 1 ใน 5 เอลนีโญ่ที่แข็งแกร่งที่สุดเป็นประวัติการณ์ นอกจากนี้ปี 2023 ยังทุบสถิติเป็นปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ทั่วโลกอีกด้วย
ลานีญาน่าจะกลับมาในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า โดย WMO ระบุว่า มีโอกาส 60% ที่ปรากฏการณ์ลานีญาจะเกิดขึ้นระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน และมีโอกาส 70% ที่จะเกิดขึ้นระหว่างเดือนสิงหาคมถึงพฤศจิกายน
แม้ว่าปรากฏการณ์เอลนีโญจะค่อยๆ หายไปแล้ว แต่ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2024 ยังคงทำลายสถิติความร้อนอย่างต่อเนื่อง จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่วัฏจักรนี้มักจะทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นในปีหลังจากที่มันทวีความรุนแรงตั้งแต่ช่วงปลายปี 2023
แต่ WMO เตือนว่า
“การสิ้นสุดของเอลนีโญไม่ได้หมายถึงการหยุดชั่วคราวในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะยาว เพราะอุณหภูมิโลกจะยังคงอุ่นขึ้นต่อไป เนื่องจากการกระทำของมนุษย์และก๊าซเรือนกระจกที่กักเก็บความร้อน ซึ่งทำให้สภาพอากาศเลวร้ายลงเรื่อยๆ อีกทั้งปริมาณน้ำฝนและอุณหภูมิตามฤดูกาลก็จะเปลี่ยนแปลงไปด้วย…อุณหภูมิผิวน้ำทะเลที่สูงเป็นพิเศษจะยังคงมีบทบาทสำคัญต่อไปในช่วงเดือนหน้า”
โก บาร์เร็ตต์ รองเลขาธิการ WMO กล่าว
ความร้อนส่วนเกินของโลกจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่วนใหญ่ถูกกักเก็บไว้ในมหาสมุทร…

องค์การบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติ (NOAA) ของสหรัฐฯ คาดว่าจะเกิดพายุเฮอริเคนใหญ่ 4-7 ลูกในมหาสมุทรแอตแลนติกระหว่างเดือนมิถุนายนถึงพฤศจิกายน
“สภาพอากาศของเราจะยังคงรุนแรงยิ่งขึ้นต่อไป เนื่องจากความร้อนและความชื้นที่เพิ่มขึ้นในชั้นบรรยากาศของเรา” บาร์เร็ตต์กล่าว
9 ปีที่ผ่านมาถือเป็นช่วงที่อบอุ่นที่สุดเป็นประวัติการณ์ แม้จะได้รับผลกระทบจากลานีญาที่ทำให้โลกเย็นลงตั้งแต่ปี 2020 จนถึงต้นปี 2023 ก็ตาม
‘เอลนีโญ’ เป็นภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของอุณหภูมิพื้นผิวมหาสมุทรในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออกและตอนกลางที่มักบันดาลให้ฟากฝั่งเอเชียรวมถึงไทยเจออากาศร้อนจัด แต่ฝั่งอเมริกาใต้ตอนเหนือกลับเจอฝนชุก ในทางกลับกัน การมาของ ‘ลานีญา’ นั้นจะทำให้อุณหภูมิของมหาสมุทรแปซิฟิกแถบศูนย์สูตรเย็นลง ทำให้ฝั่งเอเชียและไทยเจอฝนตกหนักน้ำท่วม ขณะที่ฝั่งอเมริกาใต้ตอนเหนือกลับแล้งจัด
Photo by MOHD RASFAN / AFP