เมื่อการเมืองสิงคโปร์ถึงยุค ‘เปลี่ยนผ่าน’...
นายกฯ ลี เซียนลุง ของสิงคโปร์ที่ดำรงตำแหน่งมาอย่างยาวนานเกือบ 20 ปีตั้งแต่ปี 2004 กำลังจะก้าวลงจากตำแหน่ง ซึ่งถือเป็นการสิ้นสุดยุคทางการเมืองของประเทศแห่งนี้
หลังจากครองอำนาจมานานราว 2 ทศวรรษ ถึงเวลาแล้วที่ลีจะส่งมอบอำนาจอย่างเป็นทางการให้กับ ‘ลอว์เรนซ์ หว่อง’ รองนายกฯ และรัฐมนตรีกระทรวงการคลังในค่ำวันพุธนี้ (15 พ.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น
นับตั้งแต่สิงคโปร์แยกตัวเป็นประเทศเอกราชในปี 1965 สิงคโปร์มีนายกฯ เพียง 3 คนเท่านั้น ซึ่งทั้งหมดมาจากพรรคกิจประชาชน (People's Action Party / PAP) ซึ่งเป็นรัฐบาลอยู่
- คนแรกคือ ลี กวน ยู พ่อของลี ซึ่งได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวางว่าเป็นผู้ก่อตั้งสิงคโปร์ยุคใหม่และเป็นผู้นำประเทศมาเป็นเวลา 25 ปี
- คนที่ 2 คือ โก๊ะ จ๊กตง ดำรงตำแหน่ง 13 ปี
- และคนที่ 3 คือ ลี เซียนลุง ลูกชายคนโตของ ลี กวน ยู ดำรงตำแหน่งนาน 19 ปี
นักวิเคราะห์กล่าวว่า
“การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งสัญญาณถึงวิวัฒนาการในการเป็นผู้นำทางการเมืองของสิงคโปร์ ในขณะเดียวกันประเทศก็กำลังจะหลุดพ้นจากครอบครัวลี แม้ว่าลีจะยังคงอยู่ในคณะรัฐมนตรีในฐานะรัฐมนตรีอาวุโสก็ตาม”
ในการสัมภาษณ์ครั้งสุดท้ายกับสื่อท้องถิ่น เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาในฐานะนายกฯ ลีขอบคุณชาวสิงคโปร์ที่ให้การสนับสนุน “ผมไม่ได้พยายามวิ่งเร็วกว่าคนอื่นๆ ผมพยายามพาทุกคนมาวิ่งกับผม และผมคิดว่าเราประสบความสำเร็จบ้าง…ผมพยายามทำ (สิ่งต่างๆ) ในแบบของผม ในแบบที่แตกต่างจากพ่อของผมและ โก๊ะ จ๊กตง”
ลีเข้าร่วมการเมืองในปี 1984 ในตำแหน่งสมาชิกรัฐสภาในขณะที่พ่อของเขายังอยู่ในอำนาจ และก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกฯ คนที่ 3 ของสิงคโปร์ต่อจาก โก๊ะ จ๊กตง ในปี 2004
ปีแรกของการดำรงตำแหน่งทางการเมืองของเขาย่อมถูกเพ่งเล็งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะนักวิจารณ์กล่าวหาครอบครัวนี้ว่ามีการเลือกที่รักมักที่ชัง และกล่าวว่าพวกเขากำลังสร้างตระกูลการเมือง (political dynasty) ซึ่งครอบครัวลีก็ปฏิเสธซ้ำแล้วซ้ำเล่า
แต่กว่า 2 ทศวรรษในฐานะผู้นำของสิงคโปร์ ลีก็พิสูจน์ตัวเองได้…
ภายใต้การนำรัฐบาลของเขาพบว่า เศรษฐกิจสิงคโปร์มีความหลากหลายและเติบโตจนกลายมาเป็นมหาอำนาจทางการเงินระดับนานาชาติ อีกทั้งยังมีสถานที่ท่องเที่ยวชั้นนำ ไหนจะผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ต่อหัวเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ รัฐบาลของลียังได้รับการยกย่องว่าสามารถขับเคลื่อนประเทศก้าวผ่านทั้งภาวะเศรษฐกิจถดถอย วิกฤตการเงินโลก และการแพร่ระบาดของโควิด
ในด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศ ลีสามารถสร้างสมดุลระหว่างความสัมพันธ์ของสิงคโปร์กับสหรัฐฯ และจีนได้อย่างระมัดระวัง ท่ามกลางมหาอำนาจที่เต็มไปด้วยการแข่งขันในภูมิภาคมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ รัฐบาลของลียังได้ยกเลิกกฎหมายต่อต้านเพศทางเลือกอีกด้วย
อย่างไรก็ดี แม้ลีจะเป็นที่ชื่นชอบของชาวสิงคโปร์ เป็นนักการเมืองที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของสิงคโปร์ แถมระบบเขตเลือกตั้งของเขายังได้รับส่วนแบ่งคะแนนเสียงสูงสุดอย่างต่อเนื่องอีก
แต่ทว่ามีคนรักก็มีคนเกลียด…หนีไม่พ้นคำวิจารณ์
การตัดสินใจของรัฐบาลที่ปล่อยให้ผู้อพยพจำนวนมากเข้ามาแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในช่วงปลายทศวรรษ 2000 ก่อให้เกิดความทุกข์อย่างลึกซึ้ง เมื่อสิงคโปร์ร่ำรวยขึ้น ความไม่เท่าเทียมกันทางสังคมก็เพิ่มขึ้นและช่องว่างทางรายได้ก็กว้างขึ้น
นั่นจึงทำให้ลีและพรรค PAP ได้รับคะแนนเสียงต่ำที่สุดเท่าที่เคยมีมาในปี 2011 และอีกครั้งในปี 2020
“มรดกหลักของ ลี เซียนลุง คือวิธีที่เขาเพิ่มพลังให้กับเศรษฐกิจ แต่ในช่วงครึ่งแรกของการดำรงตำแหน่งของเขา นั่นมาพร้อมกับความทุกข์ที่เพิ่มขึ้น ความไม่เท่าเทียมกันที่เพิ่มขึ้น การมีอยู่ของชาวต่างชาติที่สูงขึ้น การแข่งขันหางาน ความแออัด ซึ่งมันอาจกัดกร่อนอัตลักษณ์ความเป็นพลเมือง”
โดนัลด์ โลว์ ผู้เชี่ยวชาญด้านธรรมาภิบาลของสิงคโปร์ ซึ่งเป็นนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮ่องกงกล่าว
“รัฐบาลของลีไม่ได้เตรียมพร้อมเลยที่จะรองรับการอพยพย้ายถิ่นฐานจำนวนมากที่พวกเขาเห็นว่าจำเป็นสำหรับการผลักดันให้เป็นเมืองระดับโลก” ซูเดียร์ วาเดเคธ นักวิจารณ์การเมืองกล่าว
นักวิเคราะห์บางคนยังกล่าวอีกว่า “รัฐบาลของลีไม่ได้แก้ไขปัญหาระยะยาวที่ซับซ้อนที่เกี่ยวข้องกับการเคหะซึ่งชาวสิงคโปร์ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ เงินออมของผู้คนจำนวนมากถูกนำไปลงทุนในแฟลตเหล่านี้ซึ่งเช่าจากรัฐบาลเป็นเวลา 99 ปี และจะมีมูลค่าลดลง เมื่อพวกเขาอายุมากขึ้น”
รัฐบาลรับทราบปัญหาเหล่านี้และพยายามแก้ไขปัญหาด้วยกฎเกณฑ์การเข้าเมืองที่เข้มงวดมากขึ้น โครงการที่อยู่อาศัยใหม่ และข้อเสนอปรับปรุงกฎหมายต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติ
‘ลอว์เรนซ์ หว่อง’ ว่าที่นายกฯ คนใหม่ที่ไม่คุ้นเคย

ขณะนี้ ลี กำลังเตรียมส่งมอบอำนาจให้ หว่อง อดีตนักเศรษฐศาสตร์และข้าราชการ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยดำรงตำแหน่งเลขานุการส่วนตัวของเขา
นี่เป็นสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคยมาก่อน ไม่เพียงแต่สำหรับหว่องเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสิงคโปร์ด้วย เนื่องจากประเทศเคยชินกับการนำรัฐบาลของครอบครัวลีมาเป็นเวลา 45 ปี
“ครอบครัวลีมีอิทธิพลเหนือสิงคโปร์มาโดยตลอด และความจริงที่ว่าเราได้ผ่านวิกฤตนั้นซึ่งเป็นผลดีต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมการเมืองในวงกว้างของเรา”
วาเดเคธกล่าว
แม้ว่าหว่องในวัย 51 ปีจะไม่ใช่ตัวเลือกที่ชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้น แต่เมื่อกลุ่มการเมืองของเขาซึ่งรู้จักกันในชื่อ ‘4G’ หรือผู้นำพรรค PAP รุ่นที่ 4 ได้เปิดตัวครั้งแรก เขาก็ถูกมองว่าเป็น ‘ม้ามืด’
ขณะเดียวกัน เฮ็ง สวี เคต รัฐมนตรีอีกคนหนึ่งวัย 63 ปีก็ถูกกำหนดให้เข้ารับตำแหน่งนายกฯ ก่อนที่จะลาออกจากตำแหน่ง โดยอ้างเหตุผลทางสุขภาพและอายุของเขา
ในช่วงที่เกิดโรคระบาดในสิงคโปร์ เห็นได้ชัดว่า หว่องเป็นผู้นำของกลุ่มนี้ในฐานะประธานร่วมคณะทำงานของรัฐบาล เขาเริ่มเป็นที่คุ้นเคยของชาวสิงคโปร์มากขึ้นจากการปรากฏตัวในงานแถลงข่าวประจำสัปดาห์เพื่ออธิบายมาตรการต่อต้านโควิด
ทีมงานของหว่องและสื่อท้องถิ่นยกย่องภาพลักษณ์ของเขาในฐานะคนธรรมดาทั่วไป เหมือนกับชาวสิงคโปร์ส่วนใหญ่อย่างเช่น เขาเติบโตขึ้นมาในอาคารสงเคราะห์ของรัฐ และเป็นนายกฯ คนแรกที่เรียนในโรงเรียนในท้องถิ่น
หว่องสัญญาว่าจะสร้างสิงคโปร์ที่ครอบคลุม พร้อมสนับสนุนประชากรสูงวัยและผู้ขัดสนให้มากขึ้น ในการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว The Economist เมื่อเร็วๆ นี้ ‘เขาให้คำมั่นว่าพลเมืองจะไม่กลายเป็นชนกลุ่มน้อยในสิงคโปร์ และการย้ายถิ่นฐานจะยังคงถูกควบคุมต่อไป’
นอกจากนี้ หว่องยังส่งสัญญาณว่าไม่มีความเบี่ยงเบนต่อประเด็นนโยบายต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดประเด็นหนึ่งสำหรับสิงคโปร์ นั่นคือ ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีน โดยหว่องยืนกรานว่าฝ่ายรัฐบาลไม่ขอฝักใฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
“เขาเป็นอนุรักษนิยมที่เปิดกว้าง ผู้ซึ่งยอมทำตามการเปลี่ยนแปลง แต่มีแนวโน้มที่การเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นจะเปลี่ยนทีละเล็กละน้อย แทนที่จะเปลี่ยนตู้มเดียว” โลว์อธิบาย
นี่คือเหตุผลที่นักวิเคราะห์มองว่าเขาเป็นตัวเลือกที่ปลอดภัยที่ทางพรรค PAP เลือกมาเพื่อเน้นย้ำถึงความต่อเนื่อง “ความต่อเนื่องและเสถียรภาพคือข้อพิจารณาสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่เรากำลังเข้าใกล้จุดสิ้นสุดของวาระของรัฐบาลนี้” หว่องกล่าวเมื่อวันจันทร์ (13 พ.ค.) หลังเปิดเผยรายชื่อคณะรัฐมนตรีของเขา
หว่องกล่าวว่ารัฐบาลต้องเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งภายในเดือนพฤศจิกายนปีหน้า มันจะเป็นบททดสอบทางการเมืองครั้งใหญ่ที่สุดของหว่อง โดยจะต้องลงมติสาธารณะเป็นครั้งแรกในฐานะนายกฯ ในขณะที่ชาวสิงคโปร์เองก็ต้องตัดสินใจเกี่ยวกับอนาคตของตัวเองในยุคหลังลีด้วยเช่นกัน
(Photo by RODGER BOSCH and Julien DE ROSA / AFP)