‘เอสโตเนีย' ทำได้ไง จัดเลือกตั้งออนไลน์แบบไร้คอร์รัปชัน

4 พ.ค. 2566 - 03:05

  • เอสโตเนียเป็นประเทศเล็กๆ ในยุโรปตะวันออกที่ทำธุรกรรมแทบจะทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐผ่านออนไลน์ ไม่เว้นแม้แต่การหย่าร้าง

  • ระบบ e-Estonia ของเอสโตเนียได้รับการขนานนามว่าเป็นสังคมดิจิทัลที่สมบูรณ์แบบที่สุดในโลก

estonia-role-model-of-electronic-voting-SPACEBAR-Thumbnail
ประเทศไทยหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร ก็อยู่ที่การเลือกตั้งทั่วไป 2566 ที่จะมีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม สำหรับผู้ลงคะแนนใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต และวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม วันสำคัญที่จะตัดสินอนาคตของประเทศ  

เชื่อว่าการเลือกตั้งในรอบนี้ ทั้งวันที่ 7 และ 14 พฤษภาคม จะมีคนไทยผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกไปลงคะแนนเสียงจำนวนมาก เห็นได้จากกระแสการตื่นตัวทางการเมืองอย่างสูง โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เป็น First Voter หรือ ผู้ใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเป็นครั้งแรก  

สิ่งที่เป็นภาพจำของผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ไม่ว่าจะคนรุ่นใหม่รุ่นเก่า และไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งสมัยใดก็ตามคื ภาพของคนไทยที่ต่อแถวเพื่อรอเข้าคูหาลงคะแนน 

ทว่านับตั้งแต่ช่วงโควิดระบาดเราได้เห็นการทำธุรกรรมหลายอย่าง อยู่ในรูปแบบออนไลน์มากขึ้น แม้แต่ธุรกรรมทางราชการที่แต่ก่อนราชการไทยแทบไม่ได้ให้ความสำคัญต่อแนวคิด e-Governance มากเท่าใด ปัจจุบันก็หันมาทำอะไรต่อมิอะไรออนไลน์มากขึ้น แม้กระทั่งการขายสลากกินแบ่งรัฐบาลผ่านทางออนไลน์ ตลอดจนการลงทะเบียนจ่ายเงินเยียวยา หรือการมอบเบี้ยยังชีพประเภทต่างๆ ซึ่งก็นับเป็นหนึ่งใน e-Governance ที่คืบหน้าในประเทศไทยนับตั้งแต่เกิดโควิดระบาด 

พูดถึงแนวคิด e-Governance หรือการใช้เทคโนโลยีการสื่อสาร สนับสนุนในการบริหารและบริการของภาครัฐ ทั้งระหว่างหน่วยงานรัฐด้วยกัน และระหว่างหน่วยงานรัฐกับเอกชน มีหลายประเทศที่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลหลายชาติให้ความสำคัญต่อแนวคิดดังกล่าว ซึ่งมาพร้อมกับความเข้มงวดในการดูแลความปลอดภัยของข้อมูล  
 
สำหรับประเทศไทยซึ่งประชาชนทั่วไปยังคงเจอปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และสแกมเมอร์ที่ล้วงข้อมูลประชาชน ซ้ำร้ายหากตามข่าวคนที่ทำเรื่องนี้กลับเป็น “คนใน” หน่วยงานของรัฐเสียเอง  
 
อย่างไรก็ตาม มีประเทศหนึ่งซึ่งเรียกได้ว่า  e-Governance ประสบความสำเร็จอย่างสูง จนเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คนไม่เว้นแม้แต่ “การลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง” ที่สามารถลงคะแนนผ่านออนไลน์ได้ แถมที่ล้ำไปกว่านั้น ประชาชนยังสามารถเปลี่ยนการลงคะแนนระหว่างช่วงก่อนการเลือกตั้งได้ถึงสี่วัน  

แถมประเทศนี้ยังเป็นหนึ่งในประเทศที่ดัชนีคอร์รัปชันต่ำที่สุดในโลก ประเทศนั้นคือ สาธารณรัฐเอสโตเนีย กับโมเดล i-voting ที่นับว่าเป็นระบบลงคะแนนเลือกตั้งออนไลน์ประเทศแรกของโลก
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4GrB9gwc2wyBbLUo4KO6j2/df99e4c070ea14c9a64edc28a62a8cb1/estonia-role-model-of-electronic-voting-SPACEBAR-Photo01
Photo: บัตรลงคะแนนแบบกระดาษ ระหว่างการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทั่วไปของเอสโตเนีย ที่หน่วยเลือกตั้งแห่งหนึ่งในเมืองทาลลิน เมืองหลวงเอสโตเนีย เมื่อ 3 มีนาคม 2019 / AFP

i-voting มากกว่ากาบนกระดาษ  

ย้อนกลับไปเมื่อ 5 มีนาคมที่ผ่านมา เอสโตเนียมีการเลือกตั้งรัฐสภา เพื่อเลือกสมาชิกรัฐสภาเอสโตเนียทั้ง 101 ที่นั่ง ผลการเลือกตั้งครั้งนั้นส่งผลให้พรรคปฏิรูป โกยคะแนนเสียงถึง 37 ที่นั่ง ส่งผลให้ คาจา คัลลาส ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 19 ของเอสโตเนีย  
 
สิ่งที่น่าสนใจในการเลือกตั้งครั้งนั้นคือ เป็นครั้งแรกที่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวเอสโตเนีย "เข้าคูหาออนไลน์" ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งผ่านระบบเลือกตั้งออนไลน์แห่งชาติที่เรียกว่า i-Voting ในจำนวนมากกว่าการเข้าคูหากาลงในกระดาษที่สัดส่วน 51% ต่อ 49% สะท้อนว่าโมเดล  e-Governance ของเอสโตเนียประสบความสำเร็จอย่างมาก 
 
พูดถึงเอสโตเนีย เชื่อว่าน้อยคนจะรู้จักประเทศนี้ เอสโตเนียเป็นหนึ่งในชาติกลุ่มบอลติกมีพรมแดนอยู่ติดกับรัสเซีย อาณาเขตทางทิศเหนือติดกับอ่าวฟินแลนด์ มีประชากรเพียงราว 1.4 ล้านคน  
 
ครั้งหนึ่งดินแดนเอสโตเนียในปัจจุบันอดีต เคยอยู่ในการปกครองของโซเวียตระหว่างปี 1944–1991 กระทั่งได้รับเอกราชเมื่อราว 30 ปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับหลายชาติที่เคยเป็นอดีตดินแดนของโซเวียต คราวที่เอสโตเนียได้รับเอกราชนับว่าเป็นชาติยากจน แต่ด้วยระยะเวลาเพียง 20 ปี เอสโตเนียได้ฟื้นตัวเองจนปัจจุบันนับว่าเป็นชาติที่มีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีสูงมาก  
 
ธนาคารโลกถือว่าเอสโตเนียเป็นเศรษฐกิจที่มีรายได้สูง GDP (PPP) ต่อหัวของประเทศอยู่ที่ 46,385 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2023 ตามรายงานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศซึ่งอยู่ในอันดับที่ 40 ของโลก เอสโตเนียมักถูกอธิบายว่าเป็นเสือทะเลบอลติก จากความสามารถในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจดิจิทัล เอสโตเนียเป็นชาติตัวอย่างที่สามารถสร้าง Ecosystem ในด้าน e-Governance  

หัวใจสำคัญของ e-Governance ในเอสโตเนียคือหน่วยงานที่ชื่อว่า E-Estonia Briefing Centre ซึ่งก่อตั้งในปี 2009 ซึ่งนอกจากเป็นหน่วยงานหัวใจสำคัญของการบริหารงานด้าน e-Governance ในเอสโตเนียแล้ว ศูนย์แห่งนี้ยังทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราวของ e-Estonia ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็นสังคมดิจิทัลที่สมบูรณ์แบบที่สุดในโลก  
 
คาร์เมน ราล (Carmen Raal) ที่ปรึกษาด้าน Digital Transformation e-Estonia เล่าผ่านเว็บบล็อกของ e-estonia.com ว่า เหตุที่เอสโตเนียมีรากฐานอันแข็งแกร่งอันดับแรกคือ รัฐบาลที่สร้างมาสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน เมื่อประชาชนเชื่อมั่นในภาครัฐพวกเขาจึงค่อยๆ ยินดีที่จะเปลี่ยนมาใช้ระบบยืนยันตัวตนผ่าน e-identification อธิบายง่ายๆ คือ คล้ายกับการมีบัตรประชาชนบนออนไลน์ที่เก็บข้อมูลไบโอเมติกของประชาชนแต่ละคน 

ปัจจุบันการยืนยันตัวตนของชาวเอสโตเนียมี 3 รูปแบบคือ บัตรประชาชนแบบไมโครชิป, Mobile ID หรือใช้ซิมการ์ดมือถือยืนยันตัวตน และ Smart App ID หรือการใช้แอปพลิเคชันยืนยันตัวตน  
 
การยืนยันตัวตนผ่านรูปแบบทั้ง 3 ต้องมีการใส่รหัส PIN 1 และ PIN 2 ซึ่งชาวเอสโตเนียจะได้รับและเป็นส่วนตัว (คล้ายกับเลขบัตรประชาชนในบ้านเรา) ดังนั้นการยืนยันตัวตนเพื่อทำธุรกรรมใดก็ตามจะเทียบเท่ากับเป็น Digital Signature (เหมือนการเซ็นชื่อสำเนาถูกต้อง) ซึ่งมีผลใช้ได้ตามกฎหมาย 
 
e-identification ของเอสโตเนียอำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถทำธุรกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐได้ผ่านออนไลน์ ไม่เว้นแม้แต่การหย่าร้าง จนถึงการขอรับเงินชดเชยกรณีว่างงาน  

ในช่วงที่โควิดระบาดหนักระหว่าง 2020-2021 นับเป็นช่วงเวลาที่ผลักดันให้ระบบ e-identification มีปริมาณการใช้งานสูงขึ้น รวมถึงยิ่งทำสังคมเอสโตเนียเข้าสู่ Digital Transformation เร็วขึ้น อีกปัจจัยสำคัญคือ ไม่ว่าพรรคการเมืองฝ่ายใดขึ้นมาเป็นรัฐบาล พวกเขาต่างเห็นพ้องในทิศทางเดียวกันว่า ต้องพัฒนาและปรับปรุงกฎหมายต่างๆ เพื่ออำนวยให้เกิดสังคม Digitalization อย่างต่อเนื่อง 
 
ย้อนกลับมาที่เรื่องการลงคะแนนเลือกตั้งแบบออนไลน์ อันที่จริงเอสโตเนียจัดให้มีการลงคะแนนเลือกตั้งแบบออนไลน์มากตั้งแต่ปี 2005 ผ่านระบบที่เรียกว่า i-Voting ที่ช่วยให้ผู้ลงคะแนนสามารถลงคะแนนออนไลน์ได้จากทุกที่ในโลก เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการจัดตั้งหน่วยลงคะแนน ตลอดจนอำนวยความสะดวกพลเมืองเอสโตเนียที่อยู่ในต่างแดนที่ไม่มีสถานทูตตั้งอยู่ในประเทศนั้นๆ  
 
ในการใช้ระบบ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องมีบัตรประจำตัวประชาชนเอสโตเนียและเครื่องอ่านบัตร ซึ่งสามารถใช้เข้าสู่ระบบลงคะแนนได้อย่างปลอดภัย เมื่อเข้าสู่ระบบแล้ว ผู้ใช้สิทธิสามารถลงคะแนนเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ เช่นเดียวกับที่พวกเขาทำที่หน่วยเลือกตั้งจริง ไม่เพียงแต่การลงคะแนนจะปลอดภัย แต่ยังเก็บเป็นความลับด้วยไม่รู้ว่าคะแนนที่ลงนั้นมาจากใคร  
 
ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงชาวเอสโตเนียยังสามารถใช้สิทธิลงคะแนนได้ทุกที่ไม่ว่าอยู่ที่ใดบนโลก เรียกง่ายๆ ว่ายังสามารถใช้สิทธิเลือกตั้งนอกประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ  
 
สิ่งที่พิเศษกว่าการลงคะแนนผ่าน i-Voting คือ ระบบยังเปิดให้ผู้ใช้สิทธิ์เปลี่ยนแปลงการลงคะแนนของตนเองได้แบบไม่จำกัดจำนวนครั้ง แต่ต้องทำในช่วงเปิดลงคะแนนล่วงหน้า อาทิ หากในครั้งแรกลงคะแนนเลือกพรรคหนึ่ง แต่ก็สามารถสลับกลับไปเลือกพรรคอื่น ได้จนกว่าจะหมดระยะเวลาในการลงคะแนน โดยจะนับคะแนนจากการลงครั้งหลังสุด ส่วนคะแนนที่ลงไปก่อนหน้าจะถูกลบล้างไป  

ระบบนี้ยังตรวจสอบได้โดยผู้ใช้งานสามารถส่งผลการโหวตให้กับเจ้าหน้าที่ได้โดยตรงภายใน 30 นาที เพื่อตรวจสอบว่าตรงกับที่ตนเองโหวตไปครั้งล่าสุดหรือไม่  

เมื่อถึงเวลาปิดหีบเลือกตั้งผลคะแนนครั้งแรกจะเผยแพร่สู่สาธารณะภายใน 3 ชั่วโมง และจะมีการยืนยันผลคะแนนในเวลาไล่เลี่ยเพียงไม่กี่นาที ด้วยระบบส่วนใหญ่ที่เป็นออนไลน์ทำให้การเลือกตั้งของเอสโตเนีย เป็นหนึ่งในชาติที่มีการนับคะแนนและประกาศผลเร็วที่สุดในโลก 

ระบบ i-Voting ใช้การเข้ารหัสขั้นสูงและมาตรการรักษาความปลอดภัยเพื่อให้แน่ใจว่ากระบวนการลงคะแนนนั้นปลอดภัยและป้องกันการถูกปลอมแปลง คะแนนโหวตจะถูกเข้ารหัสและจัดเก็บไว้ในเซิร์ฟเวอร์หลายเครื่อง และยังมีการสร้างการสำรองข้อมูลกระดาษเพื่อให้แน่ใจว่าผลลัพธ์มีความถูกต้อง  

ระบบนี้ได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวางในด้านการเข้าถึงและความสะดวกสบาย และยังช่วยเพิ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเอสโตเนีย ตัวอย่างเช่น ในการเลือกตั้งรัฐสภาปี 2019 ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนมากกว่า 43% ลงคะแนนทางออนไลน์ 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1rSKxjPt9wluOcQmvpyaoZ/99a426fe6a716c0a07bafb90c08a2c3a/estonia-role-model-of-electronic-voting-SPACEBAR-Photo02
Photo: หน่วยลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเอสโตเนีย ระหว่างการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2019 / AFP

ช่องโหว่แฮกเกอร์? 

แม้แนวคิดเรื่อง e-identification และ i-Voting แม้จะมีหลายส่วนชื่นชมถึงระบบการเลือกตั้งออนไลน์ของเอสโตเนีย ถึงขนาดที่ครั้งหนึ่งนิตยสาร Time ชื่นชมระบบการเลือกตั้งของเอสโตเนียว่าใช้งบประมาณน้อย แต่ได้ผลการเลือกตั้งที่แม่นยำและโปร่งใส่กว่าการจัดการเลือกตั้งของสหรัฐฯ ที่เลือกใช้เครื่องลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ตามหน่วยเลือกตั้งต่างๆ เสียอีก  

แต่ก็มีผู้เชี่ยวชาญด้านไซเบอร์บางส่วนที่มองว่า ระบบของเอสโตเนียก็เปิดช่องโหว่ให้กับบรรดาแฮคเกอร์เช่นกัน 

ในบทความเรื่อง ‘What the U.S. Can Learn About Electronic Voting From This Tiny Eastern European Nation (สหรัฐฯ เรียนรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับรูปแบบการลงคะแนนอิเล็กทรอนิจากประเทศเล็กๆ ในยุโรปตะวันออกแห่งนี้) ที่นิตยสาร Time ตีพิมพ์เมื่อ 1 มีนาคม 2019 ระบุว่า การเลือกตั้งออนไลน์ของเอสโตเนียจะมีประสิทธิภาพกว่า การลงคะแนนเลือกตั้งด้วยเครื่องโหวตอิเล็กทรอนิกสต์ตามหน่วยเลือกตั้ง ซึ่งนอกจากเครื่องนี้จะมีราคาแพงแล้ว รัฐยังต้องเสียงบจำนวนมากไปกับการรักษาความปลอดภัย ขณะที่ผู้ลงคะแนนต่างบ่นกันว่าการลงคะแนนแบบนี้ยากและซับซ้อนเกินไป ทั้งยังพบความผิดพลาดของการลงคะแนนเสียงในบางหน่วย  

เจ. อเล็กซ์ ฮัลเดอร์แมน ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์แห่งมหาวิทยาลัยมิชิแกน กล่าวว่า ในปี 2014 เขาและทีมนักวิเคราะห์ได้ไปเยือนเอสโตเนียเพื่อทำการวิเคราะห์ด้านความปลอดภัย ซึ่งพบ ปัญหาที่น่าตกใจหลายประการ” ในระบบการเลือกตั้ง  i-Voting ของเอสโตเนียในเวลานั้น  

ฮัลเดอร์แมนระบุในรายงานว่า “การรักษาความปลอดภัยในการปฏิบัติงานนั้นหละหลวมและไม่สอดคล้องกัน มาตรการความโปร่งใสไม่เพียงพอที่จะพิสูจน์ความถูกต้อง และการออกแบบซอฟต์แวร์มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกโจมตีจากมหาอำนาจต่างชาติ ระบบการลงคะแนนทางอินเทอร์เน็ตของเอสโตเนียไว้ใจเซิร์ฟเวอร์การเลือกตั้งและคอมพิวเตอร์ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งอย่างสุ่มสี่สุ่มห้า ทั้งสองอย่างนี้อาจเป็นช่องโหว่ตกเป็นเป้าหมายที่น่าสนใจสำหรับผู้โจมตีระดับรัฐอย่างแฮกเกอร์รัสเซีย” 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเราอาจเทียบการลงคะแนนเลือกตั้งออนไลน์ กับการทำธุรกรรมธนาคารทางออนไลน์ว่ามีความปลอดภัยเหมือนกันหรือไม่ จากข้อมูลของ ACE Electoral Knowledge Network เป็นโครงการริเริ่มโดย UN ในปี 1990 ซึ่งรวบรวมข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการเลือกตั้งและวิจัยนวัตกรรมเกี่ยวกับการเลือกตั้ง มีข้อแตกต่างที่สำคัญหลายประการระหว่างการลงคะแนนเสียงและการทำธุรกรรมแบบธนาคารออนไลน์ 

 หากเทียบกันแล้วทั้งสองมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน ความกังวลหลักคือ การไม่เปิดเผยตัวตน ธุรกรรมทางการเงินแบบดิจิทัลอาศัยความสามารถในการระบุตัวบุคคลที่ดำเนินการได้อย่างปลอดภัย แต่การลงคะแนนต้องการสิ่งที่ตรงกันข้าม นั่นคือการสร้างความมั่นใจว่าผู้ลงคะแนนสามารถเปิดเผยตัวตนได้ แต่ในขณะเดียวกัน พวกเขาจำเป็นต้องสามารถพิสูจน์ตัวตนของตนได้ว่าเป็นพลเมืองผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงที่มีตัวตนจริงๆ ซึ่งเป็นการเพิ่มระดับความซับซ้อนของระบบเลือกตั้งแบบออนไลน์  

อย่างไรก็ดี สิ่งที่พิสูจน์ได้ถึงความปลอดภัยคือ ตลอดกว่า 10 ปีที่ใช้ระบบมา เอสโตเนียไม่เคยเจอปัญหาเรื่องการรักษาความปลอดภัย เพราะระบบได้รับการอัปเดตและพัฒนาอย่างสม่ำเสมอเพื่อปกป้องข้อมูลและสิทธิของประชาชนอย่างต่อเนื่อง  

สุดท้าย แต่ไม่ท้ายสุด ปัจจัยสำคัญของเอสโตเนียที่เป็นต้นแบบด้าน Digitalization สำหรับประเทศอื่นๆ คือด้วยความที่เอสโตเนียเป็นประเทศเล็กมาก ในจำนวนประชากรราว 1.4 ล้านคน เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งประมาณ 900,000 คน การป้องกันการคอร์รัปชัน ตรวจสอบการเลือกตั้ง และบริการของรัฐอื่นๆ จึงง่ายกว่ามาก 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์