การบินยุโรปเน้นเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม เตรียมพึ่งเครื่องบินพลังงานไฟฟ้า

3 พฤษภาคม 2566 - 03:03

eu-agrees-boost-green-fuels-electric-planes-aviation-future-innovation-SPACEBAR-Thumbnail
  • ระเบียบใหม่ขงอียูกำหนดให้ซัพพลายเออร์เชื้อเพลิงสำหรับการบินต้องจัดหาเชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืนไว้ใช้ในสนามบินทั่วยุโรปภายในปี 2025 และขั้นต่ำต้องมีเชื้อเพลิงยั่งยืน 2% ของปริมาณเชื้อเพลิงที่ใช้งานทั้งหมด

เมื่อไม่นานมานี้ ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) บรรลุข้อตกลงลดคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคการเดินทางทางอากาศ ถือเป็นการเคลื่อนไหวที่น่าสนใจอย่างมาก เพราะเกิดขึ้นในช่วงที่ทุกประเทศพยายามเร่งมือบรรเทาปัญหาโลกร้อนที่กำลังส่งผลกระทบอย่างหนักต่อการดำเนินชีวิต 

ภายใต้กฎระเบียบใหม่ กำหนดให้ซัพพลายเออร์เชื้อเพลิงสำหรับการบินต้องจัดหาเชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืนไว้ใช้ในสนามบินทั่วยุโรปภายในปี 2025 และขั้นต่ำต้องมีเชื้อเพลิงยั่งยืน 2% ของปริมาณเชื้อเพลิงที่ใช้งานทั้งหมด ก่อนจะเพิ่มเป็น 6% ภายในสิ้นทศวรรษ 2030 และเพิ่มเป็น 70% ภายในปี 2050 

นอกจากนี้ สายการบินที่เดินทางออกจากสนามบินในยุโรป ต้องเติมเชื้อเพลิงเท่าที่จำเป็นต่อการเดินทางเท่านั้น เพื่อหลีกเลี่ยงการปล่อยมลพิษที่มีสาเหตุมาจากน้ำหนักเครื่องบินที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่สายการบินจงใจเติมน้ำมันเชื้อเพลิงเกินไว้ก่อน เพื่อหลีกเลี่ยงการเติมน้ำมันใหม่ด้วยเชื้อเพลิงยั่งยืน 

เจ้าหน้าที่อียู มองว่าการบรรลุข้อตกลงนี้เป็นจุดเปลี่ยนและเป็นอีกก้าวที่สำคัญสำหรับการบินของยุโรป เพราะออกแบบมาเพื่อให้ยุโรปลดการพึ่งพาการนำเข้าเชื้อเพลิงจากฟอสซิล และพัฒนาความมั่นคงด้านพลังงานโดยตรง 

ฟรานซ์ ทิมเมอร์แมนส์ รองประธานกรรมการบริหารข้อตกลงสีเขียวสหภาพยุโรป แถลงว่า ซัพพลายเออร์เชื้อเพลิงที่สนามบินยุโรป ต้องมีสัดส่วนเชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืนเพิ่มขึ้น และสายการบินต้องใช้พลังงานส่วนนี้มากขึ้นด้วย 

ถ้าอุตสาหกรรมการบินต้องการปรับตัวให้สอดคล้องกับข้อตกลงปารีสและลดโลกร้อน ต้องไม่ใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลในระยะยาว ซึ่งการหาน้ำมันมาทดแทนเชื้อเพลิงจากฟอสซิล ด้วยการสำรวจการใช้เชื้อเพลิงการบินแบบยั่งยืน ถือเป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นอุตสาหกรรมการบินใช้เชื้อเพลิงยั่งยืนมากขึ้นได้ 

ขณะที่สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (ไออีเอ) คาดการณ์ว่า ในปี 2021 อุตสาหกรรมการบินปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 2% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลก และการเดินทางทางอากาศเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงสิบปีที่ผ่านมา มากกว่าการเดินทางทางบก ระบบราง และเรือ 

เมื่อปี 2022 ได้มีการพัฒนา Alice เครื่องบินที่ใช้พลังงานไฟฟ้าล้วนๆ ไม่พึ่งพาการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงฟอสซิล ถือเป็นก้าวสำคัญตามแผนลดพึ่งพาน้ำมันเชื้อเพลิงตามกระบวนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดย Alice ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์สู่ชั้นบรรยากาศเลย 

Alice สามารถบินที่ความเร็วสูงสุด 481 กิโลเมตรต่อชั่วโมง บรรทุกคนและสิ่งของได้กว่า 1100 กิโลกรัม หรือ 1.1 ตัน ถือว่าไม่ธรรมดาสำหรับเครื่องบินขนาดนี้ 

ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส ผู้นำด้านการขนส่งด่วนระหว่างประเทศ และ Eviation ผู้ผลิตเครื่องบินไฟฟ้าระดับโลกซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองซีแอตเติล ได้สร้างประวัติศาสตร์ให้กับอุตสาหกรรมการบินด้วยการประกาศว่าดีเอชแอลจะเป็นลูกค้ารายแรกที่สั่งซื้อเครื่องบินไฟฟ้า Alice จำนวน 12 ลำ จาก Eviation และดีเอชแอลตั้งเป้าจะเป็นผู้นำในการสร้างเครือข่ายการขนส่งด่วนด้วยเครื่องบินไฟฟ้าและบุกเบิกการบินอย่างยั่งยืน 

Eviation คาดว่าจะสามารถส่งมอบเครื่องบินไฟฟ้า Alice ให้กับดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส ได้ในปี 2024
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/5tvgFg6rq34ACcG0L9xQux/bed73824c636ad9c9821259750261afa/info_eu-agrees-boost-green-fuels-electric-planes-aviation-future-innovation
เมื่อพูดถึงการเดินทางทางอากาศแนวรักษ์โลกแล้ว มีรายงานสรุปจากทีมวิจัยของสำนักข่าวบีบีซี ที่ทำการศึกษาเรื่องนี้ และพบว่าสามารถใช้วิธีการดังต่อไปนี้เพื่อช่วยลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศของโลก เริ่มจากเดินทางโดยให้มีสัมภาระน้อยที่สุด เนื่องจากของแต่ละชิ้นที่นำติดตัวทำให้เครื่องบินหนักขึ้น ยิ่งเครื่องบินหนักเท่าไหร่ ยิ่งกินน้ำมันมากเท่านั้น เพราะฉะนั้นเวลาจัดกระเป๋าให้ตระหนักถึงความสำคัญของการจัดเสื้อผ้าให้ชิ้นเล็กและน้ำหนักเบาเป็นหลัก 

ต่อมาคือ ‘บินตรง’ เพราะเครื่องบินใช้น้ำมันมากที่สุดตอนขึ้นบินและลงจอด หากบินตรงสู่จุดหมายปลายทางได้ การก่อก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ก็จะน้อยลงไปด้วย 

ต่อมาคือให้เดินทางทางอากาศด้วยชั้นประหยัด  เนื่องจากที่นั่งที่มีขนาดเล็กกว่าในชั้นประหยัดทำให้การบินในแต่ละเที่ยวสามารถรองรับผู้โดยสารได้มากขึ้นในคราวเดียว 

และสุดท้ายคือตรวจสอบประสิทธิภาพของสายการบิน ก่อนออกเดินทาง ควรข้อมูลว่าสายการบินใดก่อมลพิษน้อยและมากที่สุด โดยเครื่องบินที่มีเครื่องยนต์และอากาศพลศาสตร์ที่ดีกว่าจะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้น้อยกว่า 

ต่อมาคือการใช้บริการสนามบินท้องถิ่น ยิ่งเดินทางไปสนามบินไกลเท่าใด ยิ่งก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้น และสุดท้ายคือ ชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากเที่ยวบิน 

ปัจจุบันมีเครื่องมือคำนวณเพื่อช่วยให้ทราบว่าเที่ยวบินที่ใช้เดินทางปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณเท่าใด ซึ่งจะช่วยให้รู้ว่ามีโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมใดที่จะสามารถเข้าร่วมเพื่อชดเชยปริมาณก๊าซที่ก่อได้อย่างไรบ้าง

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์