‘ยุโรป-อเมริกาเหนือ’ อ่วม เจออากาศ ‘ร้อนจัด-หนาวจัด’

6 ม.ค. 2566 - 08:05

  • นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าความแปรปรวนของสภาพอากาศในลักษณะนี้จะเกิดถี่ขึ้นและรุนแรงขึ้นในอนาคต

europe-swelters-staggering-heatwave-hottest-US-winter-storm-bomb-cyclone-SPACEBAR-Thumbnail
ช่วงเดือน ม.ค.อุณหภูมิในหลายประเทศทั่วยุโรปเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์  และมี 8 ประเทศที่อุณหภูมิเพิ่มขึ้นทำลายสถิติอุณหภูมิเดือน ม.ค.สูงสุดระดับประเทศ กับ 3 ประเทศที่ทำลายสถิตอุณหภูมิสูงสุดระดับภูมิภาค 

กรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ มีอุณหภูมิอยู่ที่ 18.9 องศาเซลเซียส หรือ 66 ฟาเรนไฮต์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (1 ม.ค.) ขณะที่เมืองบิลเบาประเทศสเปน มีอุณหภูมิอยู่ 25.1 องศาเซลเซียส สูงกว่าค่าเฉลี่ยเกิน 10 องศาเซลเซียส 
 
ขณะที่อุณหภูมิในเนเธอร์แลนด์ ลิกเตนสไตน์ ลิทัวเนีย ลัตเวีย สาธารณรัฐเช็ก โปแลนด์ เดนมาร์ก และเบลารุสก็พุ่งขึ้นทำลายสถิติอุณหภูมิสูงสุดของประเทศด้วยเหมือนกัน 
 
สำนักงานอุตุนิยมวิทยาสหราชอาณาจักร รายงานว่า ปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังคลื่นความร้อนรุนแรงในยุโรปครั้งนี้คือมวลอากาศอุ่นจากชายฝั่งตะวันตกของแอฟริกา ซึ่งเคลื่อนตัวไปทั่วยุโรป ทำให้เกิดสภาพอากาศที่อบอุ่นผิดฤดูกาล 
 
แต่ยังไม่มีข้อมูลที่ยืนยันได้ชัดเจนว่า คลื่นความร้อนที่ผิดปกตินี้เป็นผลมาจากภาวะโลกร้อนและวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือไม่ แต่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ความแปรปรวนของสภาพอากาศในลักษณะนี้ จะเกิดถี่ขึ้นและรุนแรงขึ้นในอนาคต 
 
บริเวณแถบเทือกเขาแอลป์ของสวิตเซอร์แลนด์ หิมะหดหายไปจากปกติในช่วงเวลานี้ของปี จนผู้ประกอบการต้องพึ่งพาหิมะเทียมสำหรับให้นักท่องเที่ยวเล่นสกีได้ ท่ามกลางนักท่องเที่ยวที่บางตากว่าปกติ 35-40% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว 
 
ช่วงไม่กี่วันมานี้ อุณหภูมิในสวิตเซอร์แลนด์พุ่งสูงแตะ 20.9 องศาเซลเซียส หลังจากก่อนหน้านี้ สำนักงานอุตุนิยมวิทยาของสวิตเซอร์แลนด์ รายงานว่า ปี 2022 เป็นปีที่อากาศอบอุ่นที่สุดนับตั้งแต่เริ่มเก็บข้อมูลสถิติ เมื่อปี 1864 โดยมีอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 7.4 องศาเซลเซียส 
 
ส่วนรีสอร์ทในบอสเนียและเฮอร์เซโกวินา ซึ่งเคยเป็นสถานที่จัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวเมื่อปี 1980 และช่วงนี้น่าจะมีนักท่องเที่ยวมาเล่นสกีมากที่สุด กลับแทบไม่มีหิมะให้เห็น ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวอย่างหนัก โรงแรมและรีสอร์ทต้องพากันลดราคา ลดจำนวนพนักงาน ทำให้หน่วยงานด้านการท่องเที่ยวในหลายท้องที่เตรียมประกาศภาวะฉุกเฉินจากภัยธรรมชาติ 
 
ขณะที่ภาพถ่ายจากดาวเทียมที่เปรียบเทียบภาพระหว่างช่วงปลายปี 2021 และปลายปี 2022 ถึงไม่กี่วันที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของปริมาณหิมะที่ลดลงอย่างชัดเจนทั้งในฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย จากเดิมที่ในช่วงนี้ของปีที่เป็นฤดูหนาวจะมีหิมะปกคลุมปริมาณมาก แต่ปีนี้บางจุดแทบไม่เห็นสีขาวของหิมะเลย 
 
อย่างไรก็ตาม แม้สภาพอากาศร้อนระอุที่เกิดในช่วงนี้จะไม่ได้ทำให้ผู้คนเสียชีวิตเหมือนอย่างคลื่นความร้อนในฤดูร้อน แต่ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจอย่างหนัก
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1PysjRsIitOnlqzRLmTy2T/2de138fbc269a9251b028b8e51472325/INFO_europe_hot_weather
แต่ไม่ใช่ว่าทุกประเทศของยุโรปจะมีอากาศอบอุ่นขึ้นทั้งหมด มีการคาดการณ์ว่าอุณหภูมิจะเย็นลงและมีหิมะตกในบางพื้นที่ของสแกนดิเนเวีย และคาดว่าในกรุงมอสโก  เมืองหลวงของรัสเซียอุณหภูมิจะติดลบ 20 องศาเซลเซียสในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา 

นับจากนี้ไป คลื่นความร้อนมีความถี่ รุนแรง และยาวนานขึ้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ โดยโลกร้อนขึ้นประมาณ 1.1 องศาเซลเซียส ตั้งแต่การเริ่มต้นของยุคอุตสาหกรรม และอุณหภูมิจะยังคงสูงขึ้นเรื่อยๆ นอกเสียจากว่ารัฐบาลทั่วโลกจะลดการปล่อยมลพิษลงอย่างมาก และหันมาร่วมมือกันแก้ปัญหาอย่างจริงจัง 

สภาพอากาศที่อบอุ่นกว่าปกติในยุโรปเกิดขึ้นในขณะที่หลายพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐฯ เผชิญกับพายุหิมะลูกแรกของฤดูหนาวปีนี้ในช่วงกลางเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา โดยมีปริมาณหิมะตกหนักที่สุดจนทำลายสถิติสำหรับหิมะเดือนธ.ค. ในหลายพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชน 60 ล้านคนในพื้นที่ดังกล่าว
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/26a6X0riJ8iKT5gQiQoYs6/06e9238c265a2195f9a466b0dfc05803/europe-swelters-staggering-heatwave-hottest-US-winter-storm-bomb-cyclone-SPACEBAR-Photo01
Photo: HANDOUT / THE OFFICE OF GOVERNOR KATHY HOCHUL / AFP
สำนักงานสภาพอากาศแห่งชาติในเมืองสเตทคอลเลจ รัฐเพนซิลเวเนีย ระบุว่า หิมะตกหนาถึง 62.73 เซนติเมตร สูงกว่าสถิติเดิมที่ 61 เซนติเมตรเมื่อเดือน ม.ค. ปี 1964 

ส่วนที่เมืองบอสตัน รัฐแมตซาชูเซตส์ มีหิมะที่ตกหนักเป็นประวัติการณ์เช่นกันเมื่อวันที่ 17 ธ.ค. ตามเวลาท้องถิ่น ด้วยความหนาถึง 23.11 เซนติเมตร โดยตกมาตั้งแต่เที่ยงคืนวันพุธที่16 ธ.ค. ไม่ต่างจากเมืองบิงแฮมตัน ในรัฐนิวยอร์ก ที่หิมะตกหนาเกือบ 101 เซนติเมตร ช่วงเช้าของวันที่ 17 ธ.ค. 

ขณะที่สายการบินต่างๆ ยกเลิกเที่ยวบินกว่า 3,800 เที่ยวบิน เช่นเดียวกับรถไฟโดยสารของสหรัฐฯ “แอมแทร็ก” ก็ยกเลิกบริการรถไฟบางเที่ยวเช่นกัน 

พายุฤดูหนาวรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในชั่วอายุคน ครอบคลุมเกือบทั่วประเทศกดดันให้ชาวอเมริกันเร่งเตรียมพลังงานความร้อนที่มีราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า ค่าใช้จ่ายในการทำความร้อนในบ้านจะเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูหนาวนี้สู่ระดับสูงสุดในรอบกว่าทศวรรษ           

ด้านสมาคมผู้อำนวยการด้านพลังงานแห่งชาติของสหรัฐฯ คาดการณ์ว่าราคาเฉลี่ยของเครื่องทำความร้อนในบ้านจะเพิ่มขึ้น 17.2% จากฤดูหนาวที่แล้วเป็น 1,208 ดอลลาร์ขณะที่คาดว่าค่าใช้จ่ายในการทำความร้อนบ้านจะเพิ่มขึ้น 35.7% ในฤดูหนาวนี้ เมื่อเทียบกับฤดูหนาวปี 2020-2021 

นี่แค่เพิ่งเริ่มต้นปี ยังเหลืออีก 11 เดือนกว่าจะหมดปี 2023 น่าจะได้เห็นผลพวงจากภาวะโลกร้อนที่ส่งผลให้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงอีกแน่ๆ  ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดกันต่อไป

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์