ช่วงบ่ายของวันอังคาร (17 ก.ย.) จู่ๆ เพจเจอร์หลายๆ เครื่องของสมาชิกกลุ่มก่อการร้ายฮิซบุลเลาะห์ที่มีอิหร่านหนุนหลังก็เกิดระเบิดขึ้นมาในเวลาไล่เลี่ยกัน กินเวลาราว 1 ชั่วโมง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 9 ราย บาดเจ็บอีกเกือบ 3,000 รายในเลบานอน และบาดเจ็บอีก 14 รายในซีเรียซึ่งอยู่ติดกัน
ขณะนี้ยังไม่มีฝ่ายไหนอ้างว่าอยู่เบื้องหลังเหตุสะเทือนขวัญนี้ แต่กลุ่มฮิซบุลเลาระห์และรัฐบาลเลบานอนพากันชี้นิ้วไปที่อิสราเอลซึ่งยังไม่เคลื่อนไหวหรือแสดงความเห็นใดๆ
ที่ผ่านมากลุ่มฮิซบุลเลาะห์เลือกใช้เพจเจอร์แทนโทรศัพท์มือถือ เพราะอย่างหลังอาจถูกฝ่ายตรงข้ามติดตามเพื่อระบุตำแหน่งยิงขีปนาวุธโจมตีบุคคลระดับหัวหน้าได้อย่างง่ายดาย โดยเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ฮัสซัน นาสรัลเลาะห์ หัวหน้ากลุ่มฮิซบุลเลาะห์ สั่งให้สมาชิกกลุ่มเปลี่ยนมาใช้เพจเจอร์สำหรับการติดต่อสื่อสารสำคัญๆ เพราะเชื่อว่าอิสราเอลสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของเครือข่ายผ่านโทรศัพท์มือถือได้
ทว่าตอนนี้แม้แต่เพจเจอร์ก็ไม่ปลอดภัย
หลังเกิดเหตุเพจเจอร์ระเบิดพร้อมๆ กันก็มีการคาดเดากันไปต่างๆ นานาว่าเครื่องมือสื่อสารขนาดเล็กนี้ระเบิดได้อย่างไร ฝั่งหนึ่งคาดว่าในเพจเจอร์อาจมีระเบิดซ่อนไว้ อีกทฤษฎีหนึ่งคาดว่า มีการแฮ็กทำให้แบตเตอรีลิเทียมร้อนเกินจนระเบิด
เดวิด เคนเนดี อดีตนักวิเคราะห์ของสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ ผยกับ CNN ว่า การระเบิดที่เห็นในวิดีโอที่แชร์ทางออนไลน์ดูเหมือนจะ “ใหญ่เกินไปที่จะเป็นการแฮ็กโดยตรงจากระยะไกลที่ทำให้เพจเจอร์ทำงานหนักมากเกินไปจนทำให้แบตเตอรีลิเทียมระเบิด”
เคนเนดีพุ่งเป้าไปที่การปฏิบัติการของสายลับภายในกลุ่มฮิซบุลเลาะห์ “นี่เป็นหนึ่งในการโจมตีในวงกว้างและเกิดขึ้นพร้อมๆ กันมากที่สุดเท่าที่ผมเคยเห็นมาด้วยตัวเอง การจะทำแบบนี้ได้จำเป็นต้องมีความซับซ้อนมากๆ มันอาจต้องใช้องค์ประกอบด้านข่าวกรองและการปฏิบัติการที่แตกต่างกันมากมาย ข่าวกรองทางบุคคล (HUMINT) น่าจะเป็นวิธีหลักที่ทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้นได้ ร่วมกับการตัดตอนซัพพลายเชนเพื่อปรับเปลี่ยนเพจเจอร์”
เจ้าหน้าที่รายหนึ่งเผยกับ DailyMail ว่า สาเหตุของการระเบิดน่าจะมาจากแบตเตอรีลิเทียม
แม้ว่าลิเทียมจะถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ แต่ก็มีโอกาสที่แบตเตอรีลิเทียมจะเกิดความร้อนสูงเกินและติดไฟได้ บางเคสก็เกิดระเบิดรุนแรงซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาที่เรียกว่า thermal runaway หรือปฏิกิริยาลูกโซ่ทางเคมีที่เกิดขึ้นเมื่ออุณหภูมิของแบตเตอรีเปลี่ยนแปลงฉับพลัน ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อแบตเตอรีร้อนเกินไป รั่วไหล ถูกอัดไฟเกิน
เมื่อปฏิกิริยาเคมีดำเนินไป อาจนำไปสู่การปล่อยพลังงานอย่างกะทันหัน ซึ่งอาจทำให้อุปกรณ์ระเบิดด้วยแรงและความร้อนที่รุนแรง
แหล่งข่าวสายทหารของเลบานอนคาดว่าเป็นฝีมือการโจมตีของอิสราเอล โดยมีความเป็นไปได้ว่ากองกำลังของอิสราเอลหรือตัวละครอื่นอาจจะแฮ็กเพจเจอร์เหล่านั้นแล้วทำให้แบตเตอรีถูกชาร์จไฟเกินจากระยะไกล จนเกิด thermal runaway เพราะเพจเจอร์มักจะใช้ซอฟต์แวร์ที่ล้าสมัย ง่ายต่อการถูกโจมตี
แม้เพจเจอร์ที่สื่อสารทางเดียวจะไม่ถูกติดตาม แต่เมื่อมีข้อความส่งมาก็จะทำให้เครื่องส่งของเพจเจอร์เครื่องอื่นที่อยู่ใกล้ๆ ทำงานด้วย ดังนั้นเมื่อแฮ็กสัญญาณได้ก็สามารถควบคุมเพจเจอร์ทุกเครื่องในเครือข่ายได้พร้อมๆ กัน
หรืออีกอย่างหนึ่งคือ การฝังไวรัสไว้ในเครือข่ายเพจเจอร์ของกลุ่มฮิซบุลเลาะห์แล้วรอจนกว่าไวรัสจะแพร่ไปในวงกว้างจึงค่อยแผลงฤทธิ์ มัลแวร์นี้อาจไปกระตุ้นตัวตั้งเวลาที่ตั้งโปรแกรมไว้
จากในคลิปขณะเกิดเหตุจะเห็นว่า เครื่องเพจเจอร์ได้รับข้อความก่อนแล้วจึงระเบิด สัญญาณนี้อาจเป็นสาเหตุของการระเบิดหรืออาจถูกนำมาใช้เพื่อให้แน่ใจว่าสมาชิกกลุ่มฮิซบุลเลาะห์กำลังถืออุปกรณ์ไว้ขณะที่เครื่องระเบิด
เพจเจอร์ก็เหมือนโทรศัพท์มือถือหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ที่ต้องอาศัยพลังงานจากการชาร์จแบตเตอรีลิเทียม และเมื่อลิเทียมระเบิดก็สามารถปล่อยความร้อนได้สูงถึง 590 องศาเซลเซียส
ในอดีตอิสราแอลเคยใช้วิธีการนี้เพื่อสังหาร ยาห์ยา อัยยาช หัวหน้าฝ่ายผลิตระเบิดของกลุ่มฮามาสในปี 1996 โดยการให้หน่วยข่าวกรองชินเบต (Shin Bet) แอบฝังระเบิด RDX 15 กรัมไว้ในโทรศัพท์ของอัยยาช เมื่ออัยยาชโทรคุยกับพ่อก็เกิดระเบิดขึ้น
ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนมองว่า อิสราเอลอาจแทรกซึมเข้าไปในซัพพลายเชนของเพจเจอร์ที่ฮิซบุลเลาะห์สั่งซื้อ
The New York Times รายงานโดยอ้างเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ และเจ้าหน้าที่อื่นที่ได้รับฟังการบรรยายสรุปของปฏิบัติการว่า อิสราเอลซ่อนวัตถุระเบิดพร้อมกับสวิตช์จุดระเบิดที่ควบคุมจากระยะไกลไว้ในเพจเจอร์ก่อนที่จะถูกส่งไปที่เลบานอน
สอดคล้องกับ เอไลจาห์ แม็กเนียร์ นักวิเคราะห์ด้านการทหารและความมั่นคงในกรุงบรัสเซลส์ที่บอกว่า “อิสราเอลจำเป็นต้องเข้าถึงซัพพลายเชนของอุปกรณ์เหล่านี้เพื่อให้สามารถฝังตัวจุดระเบิดไว้ในเพจเจอร์ สายลับอิสราเอลแทรกซึมกระบวนการผลิต ใส่วัตถุระเบิดและติดตั้งกลไกจุดระเบิดที่ควบคุมจากระยะไกลในเพจเจอร์โดยไม่มีใครสงสัย” โดยอาจเป็นไปได้ว่าบุคคลที่สามที่ขายเพจเจอร์ให้ฮิซบุลเลาะห์อาจเป็น “หน่วยสืบราชการลับ” ที่อิสราเอลตั้งขึ้นมาเพื่อหวังผลในครั้งนี้
แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนที่พูดคุยกับ Reuters ตั้งข้อสังเกตว่า แบตเตอรีเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดการระเบิด
พอล คริสเตนเซน ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยของแบตเตอรีลิเทียมไอออนของมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิลกล่าวว่า ความเสียหายดูไม่สอดคล้องกับเคสแบตเตอรีระเบิดที่ผ่านมา “เรากำลังพูดถึงแบตเตอรีขนาดเล็กๆ ที่ลุกเป็นไฟ เราไม่ได้กำลังพูดถึงการระเบิดรุนแรงที่นี่...สัญชาตญาณของผมบอกว่ามันไม่น่าจะเป็นไปได้”
โอโฟไดค์ เอซีคอย ศาสตราจารย์ด้านวิศวเครื่องกลของมหาวิทยาลัยท็กซัสออสตินกล่าวว่า อีกหนึ่งเหตุผลที่ผู้เชี่ยวชาญมองว่าไม่น่าเกิดจากแบตเตอรีร้อนเกินไปคือ โดยปกติแล้วจะมีเฉพาะแบตเตอรีที่ชาร์จเต็มที่เท่านั้นที่ลุกเป็นไฟหรือระเบิด “ถ้าชาร์จต่ำกว่า 50%...มันจะทำให้เกิดแก๊สหรือไอน้ำ แต่ไม่มีไฟหรือระเบิด แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่ทุกคนที่เพจเจอร์ระเบิดจะชาร์จแบตมาเต็ม”

เพจเจอร์รุ่นไหนที่ระเบิด
แหล่งข่าวด้านความมั่นคงชาวเลบานอนและแหล่งข่าวอื่นๆ เผยกับ Reuters ว่า สายลับมอสซาด (Mossad) ของอิสราเอลฝังระเบิดขนาดเล็กไว้ในเพจเจอร์ที่ผลิตในไต้หวัน 5,000 เครื่องที่กลุ่มฮิซบุลเลาะห์สั่งซื้อก่อนหน้านี้
แหล่งข่าวเลบานอนเผยว่า ฮิซบุลเลาะห์สั่งซื้อเพจเจอร์จากบริษัท Gold Apollo ที่ตั้งอยู่ในไต้หวัน ซึ่งแหล่งข่าวหลายคนบอกว่าสินค้าถูกนำเข้ามาที่เลบานอนเมื่อช่วงต้นปี โดยแหล่งข่าวระบุรุ่นของเพจเจอร์จากภาพถ่ายว่าคือรุ่น AP924 การวิเคราะห์ภาพของเพจเจอร์ที่เสียหายโดย Reuters พบว่า รูปแบบและสติ๊กเกอร์ด้านหลังเครื่องสอดคล้องกับเพจเจอร์ที่ผลิตโดย Gold Apollo ของไต้หวัน
อย่างไรก็ดี สวีเจิ้งกวง ผู้ก่อตั้ง Gold Apollo ชี้แจงว่า บริษัทไม่ได้ผลิตเพจเจอร์ที่ระเบิดในเลบานอน เพจเจอร์เหล่านั้นผลิตโดยบริษัทแห่งหนึ่งในยุโรปที่ได้สิทธิ์ในการใช้ชื่อแบรนด์ของ Gold Apollo โดย Gold Apollo สานสัมพันธ์กับบริษัทแห่งนี้เมื่อราว 3 ปีก่อน
สวีเจิ้งงกวงแจงต่อว่า ตอนแรกบริษัทยุโรปเพียงแต่นำเข้าเพจเจอร์รุ่นอื่นและอุปกรณ์สื่อสารจาก Gold Apollo ต่อมาบริษัทแห่งนี้แจ้ง Gold Apollo ว่าต้องการผลิตเพจเจอร์ของตัวเองแล้วขอใช้ชื่อแบรนด์ของไต้หวัน โดย Gold Apollo พบความผิดปกติอย่างน้อยหนึ่งอย่างในการติดต่อกับผู้จัดจำหน่ายนั่นคือ การโอนเงินที่ใช้เวลานาน
Photo by ANONYMOUS / AFP