‘เซาลี นีนิสเตอ’ ประธานาธิบดีฟินแลนด์ ผู้รอดตายสึนามิไทย 2004

22 ธ.ค. 2565 - 08:00

  • รำลึก 18 ปี มหาภัยพิบัติสึนามิ ‘เซาลี นีนิสเตอ’ ประธานาธิบดีฟินแลนด์ หนึ่งในผู้รอดชีวิตจากคลื่นยักษ์ถล่มพังงา

finland-president-sauli-niinistö-victim-2004-earthquake-tsunami-SPACEBAR-Thumbnail
วันที่ 26 ธันวาคม 2004 หรือย้อนกลับไปเมื่อ 18 ปีก่อน  เกิดเหตุแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในมหาสมุทรอินเดีย แรงสั่นสะเทือนสูงถึง 9.1 แมกนิจูด ความลึก 30 กิโลเมตร แรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวที่เกิดจากการยุบตัวของเปลือกโลกใต้มหาสมุทรอินเดีย ส่งผลให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิสูงราว 30 เมตร พัดเข้าถล่มตลอดแนวชายฝั่งโดยรอบมหาสมุทรอินเดีย  

แรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว สร้างความเสียหายเป็นวงกว้างไล่ตั้งแต่บริเวณเกาะสุมาตรา อีกทั้งยังรับรู้ได้เป็นวงกว้างในภาคใต้ของประไทย เหตุการณ์ภัยพิบัติครั้งนั้นนับว่าสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน และการสูญเสียต่อชีวิตของผู้คนจำนวนมาก ทั่วทั้งภูมิภาคชายฝั่งมหาสมุทรอินเดีย  

ประเมินว่าเหตุการณ์นั้นมีผู้เสียชีวิตราว 227,898 คน ในหลายประเทศ ขณะเดียวกันก็มีผู้รอดชีวิตจำนวนไม่น้อย ที่มีความทรงจำจากเหตุการณ์ครั้งนั้นไม่รู้ลืม หนึ่งในบุคคลสำคัญระดับโลกที่เคยอยู่ในเหตุการณ์สึนามิเมื่อ 18 ปีก่อนคือ เซาลี นีนิสเตอ (Sauli Niinistö) ประธานาธิบดีฟินแลนด์คนปัจจุบัน
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/XTVISQHtGQM00ZdLL7Uz7/92ebd830373c0b621209a7585685f3d4/finland-president-sauli-niinisto_-victim-2004-earthquake-tsunami-SPACEBAR-Photo01
Photo: แฟ้มภาพงานรำลึก 10 ปีสึนามิ 2004 ที่หาดป่าตอง จังหวัดภูเก็ต เมื่อ 26 ธันวาคม 2557 (Photo: PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

เสาไฟฟ้าช่วยชีวิตผู้นำฟินแลนด์

นีนิสเตอขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีฟินแลนด์สมัยแรกเมื่อปี 2012 และได้รับเลือกเป็นผู้นำฟินแลนด์สมัยสองเมื่อปี 2018 เมื่อพูดถึงประเทศฟินแลนด์ ตลอดช่วงปี 2022 ที่ผ่านมานับว่าเป็นที่น่านับตาอย่างมาก จากการที่ทั้งฟินแลนด์และสวีเดน จับมือเข้าร่วมสมัครสมาชิกนาโต ซึ่งความเปลี่ยนแปลงนี้มีขึ้นสืบเนื่องจากเหตุการณ์รัสเซียบุกยูเครนจึงทำให้ชาติเพื่อนบ้านรัสเซียที่แม้จะมีจุดยืน "เป็นกลาง" มานาน แต่สงครามยูเครนทำให้ทั้งสวีเดนและฟินแลนด์ ยังต้องพิจารณาจุดยืนของตนเอง  

ในเว็บไซต์ของประธานาธิบดีฟินแลนด์ ได้ระบุประวัติอย่างเป็นทางการของเซาลี นีนิสเตอ โดยมีช่วงหนึ่งระบุอย่างชัดเจนว่า นีนิสเตอเป็นหนึ่งในผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์สึนามิปี 2004 โดยสมัยที่นีนิสเตอดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการทั่วไปของ European Investment Bank เมื่อปี 2007 เป็นครั้งแรกที่เขาเผยประสบการณ์รอดตายจากภัยพิบัติครั้นนั้นผ่านหนังสือ Hiljainen historia (Teos) Niinistö  

นีนิสเตอ เผยว่าช่วงวันหยุดคริสต์มาสปี 2004 เขากับลูกชายสองคนคือ Matias กับ Nuut และ Saara แฟนสาวของ Nuut เดินทางไปเที่ยวพักผ่อนที่เขาหลัก ในจังหวัดพังงา โดยช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 26 ธันวาคม เขาตื่นหลังรู้สึกตัวจากแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว นินีเตอซึ่งกำลังนั่งรับประทานอาหารเช้ากับ Matias ได้สังเกตเห็นน้ำทะเลลดระดับลงอย่างรวดเร็ว เขาจึงรีบกลับมาห้องพักเพื่อปลุก Nuut กับ Saara แฟนสาวของลูกชาย 

ในตอนนั้นเองนีนิสเตอเดินลงไปยังชายหาดที่อยู่ใกล้กับโรงแรมที่พักเพื่อสังเกตการณ์ เขาระบุว่าในตอนนั้นสามารถมองเห็นชายฝั่งได้ไกลมากกว่า 1 กิโลเมตร หลังน้ำทะเลลดลงอย่างรวดเร็ว ในเวลานั้นเองด้วยสัญชาตญาณนักกฎหมาย เชื่อว่าถ้าน้ำลดลงอย่างรวดเร็ว มันต้องกลับมาอย่างรวดเร็ว และก็จริงตามคาด นีนิสเตอเริ่มเห็นกำแพงคลื่นขนาดใหญ่ ปรากฏอยู่ในเส้นขอบฟ้ากำลังเคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่ง  

ในตอนนั้นเขาและลูกชาย Matias วิ่งออกจากชายหาด และรีบปีนขึ้นบนเสาไฟฟ้าคอนกรีตที่อยู่ห่างจากชายฝั่งราวหนึ่งร้อยเมตร ทั้งนินีสเตอและลูกชายต่างใช้ความสูงของเสาไฟฟ้าคอนกรีตเป็นที่ยึดเกาะในระหว่างที่มวลน้ำมหาศาลพัดพาความเสียหายและสิ่งของต่างๆ ตั้งแต่เฟอร์นิเจอร์จนถึงต้นไม้ เคลื่อนตัวไปตามกระแสน้ำ  

ทั้งสองพ่อลูกเผยว่าพวกเขาใช้เวลาเกาะบนเสาไฟฟ้านานเกือบ 2 ชั่วโมง เนื่องจากด้านล่างยังเต็มไปด้วยมวลกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยว  

นินีสเตอเผยความรู้สึกว่าในห้วงเวลาวิกฤตว่า เขาจำไม่ได้ว่าตัวเองกับลูกชายเกาะอยู่บนเสาไฟฟ้านานเท่าใด เพราะทุกครั้งที่ดูเหมือนน้ำกำลังจะลด มันก็กลับขึ้นมาใหม่ ในช่วงเวลาแห่งความหวังนีนิสเตอรำลึกชีวิตที่ผ่านมา และรู้ว่าเขาพร้อมตายได้ทุกเมื่อ แต่ยังรู้สึกห่วงบุตรชายทั้งสองที่ยังใช้ชีวิตไม่คุ้มค่าพอ หากต้องมาจบชีวิตเช่นนี้ แต่ในจังหวะนั้นนินีสเตอก็ได้ยินเสียงตะโกนจาก Nuuti และ Saara จากระเบียงของโรงแรม ทำให้เขารู้สึกยินดีอย่างมากที่ได้รู้ว่าทุกคนยังปลอดภัยดี  

“สิ่งที่เราทำในวันนั้นหรือสิ่งที่เกิดขึ้นในครั้งนั้น แม้เป็นปาฏิหาริย์ที่รอดชีวิตอย่างน่าเหลือเชื่อ สี่คนที่รอดชีวิตเป็นเพียงเศษเสี้ยวเล็กๆ ที่หายไปเมื่อหลายล้านคนต้องทนทุกข์ทรมาน” นีนิสเตอ ระบุในหนังสือประวัติของเขา 

เหตุสึนามิครั้งนั้น เฉพาะที่เขาหลักก็มีผู้เสียชีวิตนับพันราย จำนวนนี้เป็นชาวฟินแลนด์มากถึง 179 คน ซึ่งชาวฟินแลนด์ที่เสียชีวิต ต่างก็ไปท่องเที่ยวพักผ่อนเช่นเดียวกับครอบครัวของนีนิสเตอ 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/vdOHDk5M8HGgRY7duGMb0/f419349d88f58188c50ed395cf15370d/finland-president-sauli-niinisto_-victim-2004-earthquake-tsunami-SPACEBAR-Photo02
Photo: แฟ้มภาพวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2547 แสดงให้เห็นความเสียหายบนเกาะพีพีหลังจากสึนามิซัดเข้าชายฝั่งไทย (Photo: PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

ชวา-สุมาตราแดนแผ่นดินไหว

บริเวณเกาะชวาและสุมาตราของอินโดนีเซียนับว่าเป็นหนึ่งในพื้นธรณีที่มีการสั่นไหวบ่อยครั้งที่สุดแห่งหนึ่งของโลก หากนับเฉพาะปี 2022 ที่ผ่านมา บริเวณเกาะชวาและสุมาตรา เกิดเหตุแผ่นดินไหวแล้วทั้งสิ้น 5 ครั้ง โดยครั้งแรกเมื่อ 14 มกราคม บริเวณเกาะชวา ความแรง 6.6 แมกนิจูด  

ครั้งที่สอง 25 กุมภาพันธ์ บริเวณเกาะสุมาตรา ความแรง 6.1 แมกนิจูด ครั้งที่สาม 30 กันยายน ที่เกาะสุมาตรา ความแรง 5.9 แมกนิจูด ครั้งที่สี่วันที่ 21 พฤศจิกายน บริเวณเกาะชวา ความแรง 5.6 แมกนิจูด และครั้งที่ห้าวันที่ 3 ธันวาคม บนเกาะชวา ความแรง 5.7 แมกนิจูด 

ในบรรดาเหตุแผ่นดินไหวทั้งห้าครั้งนี้ มีครั้งที่รุนแรงที่สุดคือเหตุครั้งที่สี่ เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ทำให้มีรายงานผู้เสียชีวิตราว 300 คน บาดเจ็บนับพันคน ไร้ที่อยู่อาศัยกว่า 7,000 คน  

เหตุที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากจากเหตุแผ่นดินไหวที่มีความแรงเพียง 5.6 แมกนิจูด เนื่องจากเป็นการไหวที่เกิดในจังหวัดชวาตะวันตกของเกาะชวา ซึ่งเป็นเขตที่มีประชากรอาศัยหนาแน่นมากที่สุดแห่งหนึ่งของอินโดนีเซีย  

นอกจากนี้ แผ่นดินไหวได้เกิดใกล้กับบริเวณรอยเลื่อนอื่นจึงเสมือนตัวกระจายกำลังที่ทำให้แรงสั่นสะเทือนกระจายเป็นวงกว้าง ขณะเดียวกันจุดศูนย์กลางที่ตื้นเพียง 10 กิโลเมตร ผนวกกับอาคารบ้านเรือนในพื้นที่ไม่ได้รับการออกแบบรองรับแผ่นดินไหว จึงเกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง  

แม้ผ่านมา 18 ปี แต่สิ่งที่ผู้ในความทรงจำของผู้คนเสมอคือ การระลึกถึงผู้เสียชีวิตและผู้ที่สูญหายจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น อีกทั้งเป็นสิ่งที่ย้ำเตือนให้มนุษย์เคารพและระลึกถึงความนยิ่งใหญ่ของธรรมชาติอยู่เสมอ 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์