โปรดรัดเข็มขัดให้แน่น! วิจัยชี้เครื่องบินจะตกหลุมอากาศบ่อยขึ้นเพราะโลกร้อน

13 มิถุนายน 2566 - 08:45

flight-turbulence-increasing-as-planet-heats-up-SPACEBAR-Hero
  • งานวิจัยระบุว่าความปั่นป่วนรุนแรงเพิ่มขึ้น 55% ระหว่างปี 1979-2020 บนเส้นทางแอตแลนติกเหนือที่มีการสัญจรทางอากาศคับคั่ง

  • เส้นทางการบินในสหรัฐฯ และแอตแลนติกเหนือนั้นตกหลุมอากาศเพิ่มขึ้นมากที่สุด

  • ขณะที่เส้นการบินแถบยุโรป ตะวันออกกลาง และมหาสมุทรแอตแลนติกตอนใต้ก็เกิดสภาวะนี้เพิ่มขึ้นอย่างมากเช่นกัน

เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย…เครื่องบินเลยตกหลุมอากาศมากขึ้น?

การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและอุณหภูมิโลกที่ร้อนขึ้น็ส่งผลให้เครื่องบินตกหลุมอากาศ (Flight turbulence) บ่อยขึ้นด้วยนะ  

นักวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเรดดิงในสหราชอาณาจักรได้ทำศึกษาความปั่นป่วนในอากาศแจ่มใส (clear-air turbulence) ซึ่งเป็นสภาวะที่นักบินอาจหลีกเลี่ยงได้ยากขึ้น (สภาพอากาศที่นักบินมองเห็นเป็นท้องฟ้าปกติ ไม่ได้มีตัวบ่งชี้ใดๆ ว่าจะมีโอกาสเกิดการสั่นสะเทือน) โดยพวกเขาพบว่าความปั่นป่วนรุนแรงเพิ่มขึ้น 55% ระหว่างปี 1979-2020 บนเส้นทางแอตแลนติกเหนือที่มีการสัญจรทางอากาศคับคั่ง 

“หลังจากทศวรรษของการวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเพิ่มความปั่นป่วนในอากาศที่ชัดเจนในอนาคต ตอนนี้เรามีหลักฐานที่บ่งชี้ว่าการเพิ่มขึ้นของสภาวะดังกล่าวได้เริ่มขึ้นแล้ว” 

“เราควรลงทุนในระบบคาดการณ์และตรวจจับความปั่นป่วนที่ได้รับการปรับปรุง เพื่อป้องกันไม่ให้หลุมอากาศทำให้เที่ยวบินตกหลุมอากาศบ่อยขึ้นในทศวรรษต่อๆ ไป” ศาสตราจารย์พอล วิลเลียมส์ นักวิทยาศาสตร์ด้านบรรยากาศแห่งมหาวิทยาลัยเรดดิงซึ่งเป็นผู้ร่วมวิจัยกล่าว 

ทั้งนี้พบว่าเส้นทางการบินในสหรัฐฯ และแอตแลนติกเหนือนั้นตกหลุมอากาศเพิ่มขึ้นมากที่สุด ขณะที่เส้นการบินแถบยุโรป ตะวันออกกลาง และมหาสมุทรแอตแลนติกตอนใต้ก็เกิดสภาวะนี้เพิ่มขึ้นอย่างมากเช่นกัน 

ศาสตราจารย์วิลเลียมส์กล่าวอีกว่า “ความปั่นป่วนทางอากาศที่เพิ่มขึ้นนั้นเกิดจากแรงเฉือนของลมที่มากขึ้นหรือความแตกต่างของความเร็วลมในกระแสลมกรด (jet stream) ซึ่งเป็นกระแสลมแรงจัดที่พัดจากตะวันตกไปตะวันออกในระดับความสูงประมาณ 5-7 ไมล์เหนือพื้นผิวโลก เกิดขึ้นเนื่องจากความแตกต่างของอุณหภูมิระหว่างเส้นศูนย์สูตรและขั้วโลก”  

แม้ว่าดาวเทียมจะมองไม่เห็นถึงความปั่นป่วนของสภาพอากาศ แต่ก็สามารถเห็นโครงสร้างและรูปร่างของกระแสลมกรดได้ซึ่งทำให้สามารถวิเคราะห์ได้ ขณะที่เรดาร์สามารถตรวจจับความปั่นป่วนจากพายุได้ แต่ความปั่นป่วนในอากาศแจ่มใสแทบมองไม่เห็นและตรวจจับได้ยาก 

อย่างไรก็ดี การตกหลุมอากาศไม่เพียงแต่ทำให้ไม่สบายตัวเท่านั้นแต่อาจทำให้ผู้ที่อยู่บนเที่ยวบินได้รับบาดเจ็บอีกด้วย แม้ความปั่นป่วนรุนแรงนั้นเกิดขึ้นได้น้อยมาก แต่ความปั่นป่วนในอากาศแจ่มใสสามารถเกิดขึ้นได้ในขณะที่ผู้โดยสารไม่ได้คาดเข็มขัดนิรภัย 

“ไม่มีใครควรหยุดบินเพราะกังวลกับความปั่นป่วน แต่คุณควรรัดเข็มขัดนิรภัยไว้ตลอดเวลา เว้นแต่ว่าคุณจะเคลื่อนที่ไปรอบๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่นักบินทำ…นั่นเกือบจะรับประกันได้ว่าคุณจะปลอดภัยแม้จะตกอยู่ในภาวะปั่นป่วนที่เลวร้ายที่สุด” ศาสตราจารย์วิลเลียมส์กล่าวเสริม 

นอกจากนี้ยังมีผลกระทบทางการเงินอีกด้วยซึ่งนักวิจัยกล่าวว่า “แค่เพียงปีเดียวอุตสาหกรรมการบินในสหรัฐฯต้องสูญเสียเงินไปประมาณ 150-500 ล้านดอลลาร์ (ราว 5.1-17.2 พันล้านบาท) จากผลกระทบของสภาวะอากาศปั่นป่วน รวมถึงการสึกหรอของเครื่องบิน อีกทั้งยังมีต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมเนื่องจากนักบินหลีกเลี่ยงการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง” 

หมายเหตุ: งานวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการวิทยาศาสตร์ธรณีศาสตร์ ‘Geophysical Research Letters’

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์