ทุกวันนี้คุณไปทำงานด้วยวิธีไหนกัน? นั่งรถเมล์? ขึ้น BTS? ขึ้น MRT? ขับรถส่วนตัว? นั่งเรือ? เรียก Grab นั่งวิน หรือจะปั่นจักรยาน แต่รู้ไหมที่สวิตเซอร์แลนด์ มนุษย์เงินเดือนเขา ‘ว่ายน้ำ’ หรือแทบจะ ‘ลอยน้ำ’ ในแม่น้ำไรน์ไปทำงานกันนะ หรือบางคนก็ว่ายกลับบ้านหลังเลิกงาน ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติไปแล้วสำหรับชาวสวิส
ที่นี่สวิตเซอร์แลนด์โดยเฉพาะช่วงฤดูร้อน พลเมืองที่อาศัยอยู่ในกรุงเบิร์น และเมืองบาเซิล มักจะมาว่ายน้ำพักผ่อนหย่อนใจกันในแม่น้ำอาเร และแม่น้ำไรน์อยู่แล้ว จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรถ้าจะเห็นพวกเขาว่ายน้ำไปทำงาน พร้อมกับถุงกันน้ำที่ใส่สัมภาระ เช่น เสื้อผ้า ผ้าขนหนู ของใช้ เป็นต้น จากนั้นก็ว่ายตามกระแสน้ำลอยคอสบายๆ ไม่ต้องเจอรถติดในชั่วโมงเร่งด่วน แถมยังคลายร้อนได้ดีอีกด้วย
ว่ากันว่าวัฒนธรรมว่ายน้ำในแม่น้ำริเริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ชาวสวิสทำความสะอาดทะเลสาบและแม่น้ำเพื่อให้สามารถว่ายน้ำได้
“ฉันเดินจากออฟฟิศไปที่แม่น้ำแค่ 30 วินาทีเท่านั้น ฉันเอาเสื้อผ้า โทรศัพท์ กระเป๋าตังค์ และรองเท้าใส่ไว้ในกระเป๋ากันน้ำ ‘Aare Bag’ จากนั้นฉันก็สวมชุดว่ายน้ำแล้วว่ายน้ำกลับบ้าน ใช้เวลาราว 15 นาที” เอเวลิน ชไนเดอร์-เรเยส ชาวเมือง บอกกับหนังสือพิมพ์ Le News ของสวิตเซอร์แลนด์
นักท่องเที่ยวถึงกับตกตะลึงกับวัฒนธรรม ‘ว่ายน้ำไปทำงาน’
ผู้ใช้ TikTok รายหนึ่งโพสต์วิดีโอและบรรยายว่า “หลังเลิกงาน ผู้คนที่นี่จะเอามือถือ และข้าวของไว้ในกระเป๋ากันน้ำ จากนั้นพวกเขาก็ลอยน้ำกลับบ้าน”
“มันเป็นสิ่งที่ฉันชอบทำที่สุดในเมืองบาเซิล ทุกคนจะมีถุงกันน้ำที่มีรูปร่างคล้ายลำตัวปลาเรียกว่า ‘วิกเคิลฟิช’ (wicklefisch) สำหรับเก็บของ ไม่ว่าจะไปทำงาน หรือหลังเลิกงาน ทั้งผู้ใหญ่ เด็ก สุนัข จะล่องไปตามแม่น้ำไรน์ กระแสน้ำแรงมาก มันสนุกมาก แถมระหว่างทางยังมีห้องเปลี่ยนเสื้อผ้า ห้องอาบน้ำ และห้องสุขาอยู่บ้างตลอดเส้นทาง” อเล็กซา บล็อกเกอร์ท่องเที่ยว เล่า
“ลองจินตนาการดูสิ! คุณเลิกงานกับเพื่อนๆ แล้วอยู่ละแวกเดียวกัน แล้วคุณก็บอกเพื่อนคุณว่า ‘เฮ้พวก ว่ายน้ำกลับบ้านกันเถอะ’” ผู้ใช้ TikTok รายหนึ่งคอมเมนต์
ผู้ใช้ TikTok อีกคนบอกว่า “ฉันต้องบอกว่านี่อาจเป็นหนึ่งในสิ่งที่เจ๋งและสนุกที่สุดที่ฉันเคยทำในเมืองใดเมืองหนึ่งในยุโรปมาเลย” พร้อมให้คำแนะนำว่า “ควรจะว่ายฝั่งขวาของแม่น้ำ เพราะเรือส่วนใหญ่จะแล่นฝั่งซ้าย”
แม่น้ำสะอาดไหม...ไม่เป็นอันตรายหรอ?
ทางการเมืองบาเซิลได้กำหนดโซนว่ายน้ำในแม่น้ำด้วยการใช้ทุ่นสีแดง และทำเครื่องหมายไว้อย่างชัดเจน โดยเส้นทางว่ายน้ำจะเริ่มต้นที่ริมฝั่งไคลน์บาเซิล (Kleinbasel) ใกล้กับพิพิธภัณฑ์ศิลปะทิงเกอลี่ (Tinguely) และสิ้นสุดก่อนถึงสะพานไดรโรเซนบรึคเคอ (Dreirosenbrücke) นอกจากนี้ ตลอดเส้นทางก็จะมีเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยและเรือตำรวจลาดตระเวนตามแม่น้ำไรน์ในเมืองบาเซิล หากมีเหตุด่วนก็สามารถติดต่อหน่วยบริการฉุกเฉินได้ทันที
เนื่องจากกระแสน้ำค่อนข้างแรง ทางการบาเซิลจึงอนุญาตเฉพาะคนที่ว่ายน้ำเก่งเท่านั้นที่จะว่ายในแม่น้ำได้ ส่วนเด็กๆ ที่อยากเล่นน้ำจะเล่นได้แค่ริมฝั่งแม่น้ำเท่านั้นและต้องอยู่ในความดูแลของผู้ปกครอง ที่สำคัญคือห้ามเหล่านักว่ายทั้งหลายว่ายเข้าใกล้จุดรองรับสะพานมากเกินไป เพราะอาจเกิดกระแสน้ำวนและเป็นอันตรายได้
สำหรับคุณภาพแม่น้ำไรน์ในเมืองบาเซิลนั้นได้รับการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง และในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา คุณภาพน้ำได้รับการรับรองว่า ‘ดีเยี่ยม’ กว่าน้ำในสระว่ายน้ำกลางแจ้งของภูมิภาคนี้เสียอีก แต่องค์กรช่วยชีวิตชาวสวิส (SLRG) แนะนำว่า ‘ไม่ควรดื่มน้ำจากแม่น้ำและไม่ควรว่ายไปใต้น้ำ’
กิจกรรมว่ายน้ำประจำปี ‘Basel Rhine Swim’ ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ทุกปี

ทุกๆ ปี SLRG จะจัดการแข่งขันว่ายน้ำ ‘Basel Rhine Swim’ ซึ่งถือว่าเป็นกิจกรรมที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลกเลยและดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากทีเดียว ผู้คนมากกว่า 5,000 คนจะมารวมตัวกันที่ริมฝั่งไคลน์บาเซิล จากนั้นก็พากันลอยไปตามกระแสน้ำเป็นระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร เมื่อว่ายถึงเส้นชัย ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้รับเครื่องดื่ม เหรียญรางวัล และใบรับรองนักว่ายน้ำ สำหรับในปีนี้เพิ่งจัดกิจกรรมไปเมื่อวันที่ 13 สิงหาคมที่ผ่านมา