ไขข้อสงสัย ‘ทะเลทรายซาฮาราเกิดน้ำท่วม’ ทั้งๆ ที่เป็นหนึ่งในดินแดนที่ร้อนที่สุดในโลก

20 ต.ค. 2567 - 00:00

  • เกิดอะไรขึ้น ‘ทำไมดินแดนที่ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในสถานที่ที่ร้อนที่สุดในโลกอย่างทะเลทรายซาฮาราถึงเกิดน้ำท่วมได้?’

  • ทั้งๆ ที่ฝนก็แทบไม่มี แถมอากาศก็แห้งแล้งมาโดยตลอด แต่ฝนที่ตกเมื่อเดือนกันยายน 2 วันติด กลับทำให้เกิดเหตุการณ์นี้ได้!!!

flooding-hits-sahara-desert-after-extremely-rare-rainfall-SPACEBAR-Hero.jpg

หากพูดถึง ‘ทะเลทรายซาฮารา’ หลายคนคงจะนึกไม่ออกว่าสถานที่ที่ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในดินแดนที่แห้งแล้งที่สุดในโลก แถมพื้นที่ยังเต็มไปด้วยทะเลทรายแบบนั้นจะมีฝนตนตกได้ยังไง? และถึงขึ้นน้ำท่วมคงเป็นไปไม่ได้แน่ๆ เพราะอากาศที่นั่นต้องร้อนแห้งแล้งมากๆ  แล้วจะมาเกิดน้ำท่วมได้อย่างไร?  

แต่สิ่งนี้ได้เกิดขึ้นแล้วจริงๆ ‘น้ำท่วมทะเลทรายซาฮารา!!!’ ทุกคนอ่านไม่ผิดหรอก เพราะฝนที่ตกต่อเนื่องติดต่อกัน 2 วันในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ของโมร็อกโกบริเวณทะเลทรายทางตอนเหนือของแอฟริกาเมื่อช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา ส่งผลให้พื้นที่ทะเลทรายบริเวณดังกล่าวถูกน้ำท่วมในรอบ 50 ปี 

จากภาพถ่ายทางอากาศเผยให้เห็นน้ำไหลทะลักผ่านผืนทราย แต่ยังเห็นต้นปาล์มและเนินทรายอยู่ นับเป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้ดินแดนที่ประสบภัยแล้งรุนแรงที่สุดมีปริมาณน้ำมากที่สุดเท่าที่เคยพบเห็นมาในหลายทศวรรษ 

เกิดอะไรขึ้น? กับดินแดนที่ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในที่ที่แห้งแล้งที่สุดในโลก...

พายุฝนฟ้าคะนองทำให้เกิดฝนตกมากกว่าที่เคยเป็นในรอบหลายทศวรรษ รัฐบาลโมร็อกโกเปิดเผยว่าปริมาณน้ำฝน 2 วันที่ตกในเดือนกันยายนนั้นเกินค่าเฉลี่ยรายปีในหลายพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่ำกว่า 250 มิลลิเมตร (10 นิ้ว) ต่อปี ซึ่งรวมถึงเมืองทาทา หนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด และในหมู่บ้านตากูนิเต อยู่ห่างจากกรุงราบัตไปทางใต้ประมาณ 450 กิโลเมตร (280 ไมล์) ก็พบปริมาณน้ำฝนมากกว่า 100 มิลลิเมตร (3.9 นิ้ว) ในรอบ 24 ชั่วโมง ซึ่งมากกว่าปริมาณน้ำฝนประจำปีในพื้นที่อื่นๆ หลายแห่ง

“ผ่านมา 30-50 ปีแล้วที่เราไม่ได้เจอฝนตกมากขนาดนี้ในช่วงเวลาสั้นๆ”

ฮูสซีน ยูอาเบบ จากกรมอุตุนิยมวิทยาของโมร็อกโก เผย

นักอุตุนิยมวิทยาเรียกฝนที่ตกหนักดังกล่าวว่าเป็น ‘พายุหมุนนอกเขตร้อน’ (extratropical storm) ซึ่งอาจทำให้สภาพอากาศในภูมิภาคนี้เปลี่ยนแปลงไปในอีกไม่กี่เดือนหรือไม่กี่ปีข้างหน้า เนื่องจากอากาศมีความชื้นมากขึ้น ทำให้เกิดการระเหย และอาจทำให้เกิดพายุมากขึ้น  

ภัยแล้งที่ยาวนานต่อเนื่อง 6 ปี ทำให้เกษตรกรชาวโมร็อกโกต้องทิ้งทุ่งนาให้เป็นที่รกร้าง อีกทั้งเมืองและหมู่บ้านก็ยังต้องใช้น้ำอย่างประหยัดด้วย 

แม้ปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาในปริมาณมากน่าจะช่วยเติมน้ำใต้ดินขนาดใหญ่ที่อยู่ใต้ทะเลทรายและเป็นแหล่งน้ำสำหรับชุมชนในทะเลทรายได้อีกครั้ง แถมยังมีรายงานว่าปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำกลับมาเต็มในอัตราสูงสุดตลอดเดือนกันยายน แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าฝนที่ตกในเดือนกันยายนจะช่วยบรรเทาภัยแล้งได้มากเพียงใด 

ทั้งนี้พบว่า ฝนที่ตกหนักยังทำให้เกิดน้ำท่วมในบางพื้นที่ของโมร็อกโกและแอลจีเรีย จนโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงบ้านเรือนของประชาชนได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง และมีรายงานผู้เสียชีวิตมากกว่า 20 ราย 

ทำไมทะเลทรายซาฮาราถึงน้ำท่วมได้ล่ะ?

นักอุตุนิยมวิทยาเผยว่า โดยปกติแล้วที่นี่ฝนตกไม่ค่อยบ่อยนัก แต่ปัจจัยที่อาจทำให้เกิดฝนตกหนักจนเกิดน้ำท่วมได้ก็คือ : 

  • พายุหมุนนอกเขตร้อน ซึ่งเกิดขึ้นในละติจูดที่อยู่ห่างจากเส้นศูนย์สูตรมาก ปกติแล้วจะอยู่ห่างออกไปมากกว่า 30 องศา พายุหมุนนี้อาจเกิดขึ้นได้ทั้งในทะเลและบนบก โดยพายุหมุนที่พัดถล่มทะเลทรายซาฮารานั้นเริ่มก่อตัวขึ้นเหนือมหาสมุทรแอตแลนติก แต่ยังดึงน้ำบางส่วนมาจากบริเวณเส้นศูนย์สูตรที่ชื้นกว่าของแอฟริกาอีกด้วย 
  • การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคนี้ “ไม่เคยพบเห็นฝนตกหนักเช่นนี้มานานหลายทศวรรษแล้ว ผลกระทบจากพายุลูกนี้ทำให้เรารับรู้ได้ว่า มันเป็นความชื้นที่เพิ่มขึ้นในชั้นบรรยากาศ อาจทำให้เกิดสภาพอากาศเลวร้ายในทะเลทรายซาฮาราได้บ่อยครั้งขึ้น ซึ่งกระทบต่อเกษตรกรรม และชุมชน” ยูอาเบบ เผย 
  • การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในทะเลทรายซาฮาราอาจเกี่ยวข้องกับฤดูพายุเฮอริเคนที่อ่อนกำลังลงในมหาสมุทรแอตแลนติก เพราะฤดูพายุเฮอริเคนในปีนี้ค่อนข้างเงียบสงบ แม้ว่าจะมีการคาดการณ์ในช่วงต้นฤดูร้อนว่าพายุเฮอริเคนจะรุนแรงเนื่องจากอุณหภูมิของมหาสมุทรสูงขึ้น 
  • นักวิทยาศาสตร์กำลังสังเกตว่า จำเป็นต้องใช้กลยุทธ์การปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ เนื่องจากพายุหมุนนอกเขตร้อนอาจเกิดขึ้นบ่อยครั้ง 
  • “วัฏจักรของน้ำทั่วโลกกำลังกลายเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยากมากขึ้น ซึ่งสร้างความท้าทายให้กับพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก” เซเลสเต้ ซาอูโล หัวหน้าองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก กล่าว

ปกติแล้วฝนตกในทะเลทรายซาฮาราบ่อยไหม?

 
 

ทะเลทรายซาฮาราขึ้นชื่อว่าเป็นทะเลทรายที่ร้อนที่สุดในโลก จึงไม่น่าแปลกใจหากที่นั่นจะเผชิญกับสภาพอากาศที่เลวร้ายที่สุดแห่งหนึ่ง อุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 30 องศาเซลเซียส ในขณะที่อุณหภูมิสูงสุดที่เคยบันทึกไว้อยู่ที่ 58 องศาเซลเซียส ยิ่งเรื่องฝนไม่ต้องถามหาเลย ตกลงมาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยครึ่งหนึ่งของทะเลทรายซาฮารามีฝนตกน้อยกว่า 1 นิ้วทุกปี 

ฝนที่ตกลงมาส่วนใหญ่มักเกิดจากพายุฝนฟ้าคะนอง ปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 5 นิ้วต่อปี แม้สภาพอากาศในตอนกลางวันจะดูร้อนตลอดเวลา แต่ในตอนกลางคืน อุณหภูมิกลับลดลงอย่างมากเนื่องจากความชื้นไม่เพียงพอ และอาจลดลงถึง -6 องศาเซลเซียส จนทำให้เกิดหิมะตกบนเทือกเขาทางตอนกลางเป็นประจำ ไม่ได้ตกในทะเลทรายซาฮาราแต่อย่างใด

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์