สัตว์ก็มีหัวใจ! หลายประเทศออกกฎ ‘ห้ามขายสัตว์เลี้ยง’ ยุติทารุณหมาแมว

13 มิ.ย. 2567 - 10:42

  • เมื่อสวัสดิภาพของสัตว์ถูกละเลยมากเกินไป ต่างประเทศจึงออกกฎหมาย ‘ห้ามขายสัตว์ในร้านค้า’

  • แต่ละประเทศ แต่ละรัฐ มีมาตรการจัดการปัญหาเหล่านี้ยังไงบ้าง?

foreign-bans-pet-stores-from-selling-cats-dogs-rabbits-SPACEBAR-Hero.jpg

จากกรณีไฟไหม้ตลาดนัดจตุจักรโซนสัตว์เลี้ยงเมื่อวันอังคาร (11 มิ.ย.) จนส่งผลให้สัตว์หลากหลายชนิดไม่ว่าจะเป็นหมา แมว กระต่าย นก ไก่ ปลา รวมถึงงู และสัตว์เลี้ยงชนิดๆ อื่น ตายเป็นจำนวนมากนับพันตัว จุดชนวนเกิดข้อถกเถียงในโซเชียลมีเดียว่า “ควรจะห้ามขายสัตว์ได้แล้วหรือเปล่า?” “ต่างประเทศก็ห้ามขายสัตว์จำพวกหมาแมว และกระต่ายในร้านขายสัตว์เลี้ยงนะ” “ลำพังแค่ต้องอยู่ในกรงในที่แคบๆ ก็แย่สำหรับสัตว์แล้ว” 

ในต่างประเทศออกกฎห้ามขายสัตว์เลี้ยงในร้านขายสัตว์ SPACEBAR จะพาไปดูว่าแต่ละประเทศมีมาตรการจัดการปัญหานี้ยังไง? ทำไมถึงต้องห้ามขาย?

อังกฤษออกกฏหมาย ‘ห้ามขายลูกหมาลูกหมาในร้านขายสัตว์เลี้ยง’

foreign-bans-pet-stores-from-selling-cats-dogs-rabbits-SPACEBAR-Photo01.jpg

รัฐบาลอังกฤษออกกฎหมายบังคับใช้เมื่อปี 2018 ‘ห้ามการขายลูกหมาและลูกแมวที่มีอายุน้อยกว่า 8 สัปดาห์ในร้านขายสัตว์เลี้ยง’ เว้นแต่ร้านเหล่านั้นจะเพาะพันธุ์สัตว์ด้วยตัวเอง หากใครที่สนใจจะเลี้ยงลูกหมาลูกแมวที่มีอายุน้อยกว่า 6 เดือนจะต้องไปที่ศูนย์เพาะพันธุ์โดยตรง นอกจากนี้ ยังมีการเรียกร้องให้ครอบครัวต่างๆ หลีกเลี่ยงการซื้อสัตว์เลี้ยงแสนน่ารักให้ลูกๆ เป็นของขวัญเซอร์ไพรส์อีกด้วยย 
 
 

แม้ร้านขายสัตว์เลี้ยงจะเป็นสถานประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตจากรัฐบาลในการขายสัตว์เลี้ยง แต่ก็ไม่ได้รับอนุญาตจากศูนย์เพาะพันธุ์สัตว์เลี้ยง 

ทำไมอังกฤษถึงห้ามขายลูกสุนัขและลูกแมวในร้านขายสัตว์เลี้ยง? 

การออกกฏหมายดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อปกป้องสวัสดิภาพของลูกหมาและลูกแมว “มีความกังวลว่าการขายโดยบุคคลที่สาม (ร้านขายสัตว์เลี้ยง) จะทำให้สภาพสวัสดิภาพของสัตว์แย่ลง เมื่อเทียบกับตอนที่คนซื้อโดยตรงจากศูนย์เพาะพันธุ์ุ์” แถลงการณ์ระบุ 

ปัจจุบัน ชาวอังกฤษสามารถซื้อลูกหมาลูกแมวจากศูนย์เพาะพันธุ์โดยตรง ทั้งนี้มีประมาณการว่ายอดขายในสหราชอาณาจักรอยู่ระหว่าง 40,000-80,000 ตัวต่อปี 

ฝรั่งเศส ‘ห้ามขายหมาแมว’ แต่สัตว์ชนิดอื่นยังขายได้

foreign-bans-pet-stores-from-selling-cats-dogs-rabbits-SPACEBAR-Photo02.jpg

ฝรั่งเศสออกมาตรการใหม่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ต้นปี 2024 ระบุว่า ‘ห้ามซื้อหมาแมวในร้านขายสัตว์เลี้ยง’ และร้านจะไม่มีสิทธิ์ขายอีกต่อไป แต่ยังขายงู สัตว์เลื้อยคลาน กระต่าย สัตว์ฟันแทะ นก และปลาได้ 

มาตรการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายต่อต้านการทารุณกรรมสัตว์ที่ผ่านในปี 2021 มีจุดมุ่งหมายเพื่อปรามการซื้อหมาแมวด้วยความหุนหันพลันแล่นทั้งๆ ที่ไม่ได้วางแผนการเลี้ยงสัตว์เลย 

แต่สำหรับผู้ที่ต้องการเลี้ยงน้องหมาน้องแมวจริงๆ สามารถติดต่อทางผู้เพาะพันธุ์ได้โดยตรง หรือไปรับจากสถานสงเคราะห์ก็ได้ 

เหตุผลหลักสำหรับมาตรการใหม่นี้คือ ‘การลดจำนวนหมาและแมวจรจัด’ จากข้อมูลของกลุ่มพิทักษ์สัตว์ในฝรั่งเศสพบว่ามีหมาแมวถูกทิ้งประมาณ 100,000 ตัวทุกปี โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดฤดูร้อนตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม 

เมื่อต้องเผชิญกับความยากลำบากในการย้ายหรือขนส่งสัตว์เลี้ยงและการหาที่พัก เจ้าของบางคนจึงเลือกที่จะทิ้งสัตว์ไว้ข้างถนน 

ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 หลายๆ คนสนุกสนานไปกับสัตว์เลี้ยงในระหว่างที่พวกเขาทำงานจากที่บ้าน แต่เนื่องจากหลายๆ คนเริ่มกลับมาทำงานที่ออฟฟิศ จำนวนสัตว์ที่ถูกทิ้งก็เพิ่มมากขึ้น 

ขณะที่ร้านขายสัตว์เลี้ยงบางรายค้านว่ามาตรการนี้ไม่ยุติธรรมเอาเสียเลย “การห้ามขายหมาและแมวในร้านขายสัตว์เลี้ยงเป็นเรื่องไม่ยุติธรรม สัตว์ที่ถูกทิ้งไม่ได้มาจากร้านขายสัตว์เลี้ยง นี่จะเป็นจุดจบของร้านขายสัตว์เลี้ยง” ลุค ลาดอนน์ ตัวแทนสหภาพร้านขายสัตว์เลี้ยงกล่าว พร้อมเตือนว่า “การค้าแมวและหมามีแนวโน้มที่จะถูกครอบงำโดยเครือข่ายอาชญากรรมที่ไร้ศีลธรรม”  

สเปนออกกฎหมาย ‘ห้ามขายสัตว์เล็กจิ๋ว’

foreign-bans-pet-stores-from-selling-cats-dogs-rabbits-SPACEBAR-Photo03.jpg

เมื่อช่วงปลายปี 2022 สเปนได้นำกฎระเบียบใหม่ว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิสัตว์และสวัสดิภาพในประเทศมาใช้ ซึ่งตัวกฎหมายสวัสดิภาพสัตว์ (Ley de Bienestar Animal) นั้น ‘ห้ามการขายหมาแมว และสัตว์เล็กจำพวกหนูแฮมสเตอร์ หรือกระต่ายในร้านขายสัตว์เลี้ยง’ โดยจะมีเพียงศูนย์เพาะพันธุ์ที่จดทะเบียนเท่านั้นจึงจะได้รับอนุญาตให้ขายได้ อีกทั้งยังนำเสนอกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดยิ่งขึ้นสำหรับเจ้าของสัตว์เลี้ยง รวมถึงภาระผูกพันที่จะไม่ทิ้งสัตว์ไว้โดยไม่มีใครดูแลเป็นระยะเวลาหนึ่ง 

แต่ถึงกระนั้นทางสมาคมผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยงแห่งสเปน (AEDPAC) กลับเชื่อว่าบทบัญญัติทางกฎหมายใหม่จำนวนมากจะส่งผลเสียต่ออุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยง “กฎหมายฉบับใหม่ทำให้ทุกคนไม่มีความสุข และจะบังคับใช้ได้ยาก” อดอลโฟ ซานตา โอลัลลา ประธาน AEDPAC เตือน 

นอกจากนี้ กฎหมายใหม่ยังกำหนดด้วยว่า ‘ไม่ควรเลี้ยงสัตว์ขาปล้อง ปลา สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำที่อาจมีความเสี่ยงและมีพิษมาเป็นสัตว์เลี้ยงในสเปน’ 

การออกกฎระเบียบใหม่ดังกล่าวเป็นเพราะว่าสเปนเป็นอีกหนึ่งประเทศในยุโรปที่มีสถิติการทิ้งสัตว์เลี้ยงที่เลวร้ายที่สุดแห่งหนึ่ง ขณะเดียวกันสมาคมเพื่อการคุ้มครองสัตว์ก็อ้างว่า ‘กฎระเบียบใหม่จะช่วยให้สัตว์เลี้ยงตัวจิ๋วอย่างหนูแฮมสเตอร์และหนูเจอร์บิลดูมีคุณค่ามากขึ้น และถูกทิ้งน้อยลงในปัจจุบัน’ 

หลายรัฐในสหรัฐฯ ‘ห้ามขายหมา แมว กระต่ายในร้านขายสัตว์เลี้ยง’

foreign-bans-pet-stores-from-selling-cats-dogs-rabbits-SPACEBAR-Photo04.jpg
  • แคลิฟอร์เนียกลายเป็นรัฐแรกของสหรัฐฯ ที่ออกกฎหมาย ‘ห้ามขายสุนัข แมว และกระต่ายในร้านขายสัตว์เลี้ยง’ เว้นแต่จะไปรับมาเลี้ยงจากสถานสงเคราะห์หรือองค์กรช่วยเหลือ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2019 ทั้งนี้ก็เพื่อต่อต้านศูนย์เพาะพันธุ์ลูกหมาและลูกแมวเชิงพาณิชย์ที่ต้องการเพาะพันธุ์เพื่อเอาไปขายเป็นจำนวนมาก ทำให้สัตว์อยู่ในสภาพที่น่าสงสาร 
  • แมริแลนด์กลายเป็นรัฐที่ 2 ที่ ‘ห้ามร้านขายสัตว์เลี้ยงขายลูกหมาและลูกแมว’ บังคับใช้ในปี 2020 เพื่อต่อต้านการทำฟาร์มหมาที่เพาะพันธุ์ลูกหมาในสภาพที่ไร้มนุษยธรรม และทำการุณยฆาตสัตว์เมื่อพวกมันไม่สามารถผสมพันธุ์ได้อีกต่อไป  
  • ส่วนนิวยอร์กเป็นรัฐล่าสุดที่ ‘ห้ามการขายแมว หมา และกระต่ายในร้านขายสัตว์เลี้ยง’ มีผลบังคับใช้ในปี 2024 โดยมีเป้าหมายมุ่งเป้าไปที่การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์เชิงพาณิชย์ ซึ่งนักวิจารณ์ประณามว่าเป็น ‘โรงสีลูกหมา’ กฎหมายดังกล่าวยังอนุญาตให้ร้านขายสัตว์เลี้ยงประสานงานร่วมกับศูนย์พักพิงแทนเพื่อหาบ้านให้สัตว์ด้วย 
  • ขณะที่รัฐนิวเจอร์ซีย์ร่างกฎหมาย 4079 เสนอ ‘ห้ามขายหมา แมว และกระต่ายที่ร้านขายสัตว์เลี้ยงทั่วรัฐนิวเจอร์ซีย์ แต่ร้านค้าจะยังคงได้รับอนุญาตให้ขายสัตว์เลี้ยงอื่นๆ เช่น กิ้งก่า งู เป็นต้น 
  • ซานฟรานซิสโกของรัฐแคลิฟอร์เนียเป็นอีกหนึ่งเมืองที่ออกกฎ ‘ห้ามการขายหมาแมวเชิงพาณิชย์ในร้านค้าขายสัตว์เลี้ยง’ มีผลบังคับใช้เมื่อปี 2017 แต่สนับสนุนให้ร้านค้าเหล่านี้ร่วมมือกับศูนย์พักพิงสัตว์และกลุ่มช่วยเหลือสัตว์เพื่อหาบ้านให้สัตว์แทน นอกจากนี้ ยังห้ามการขายลูกหมาและลูกแมวที่อายุต่ำกว่า 8 สัปดาห์อีกด้วย หากอยากเลี้ยงน้องๆ สามารถซื้อได้โดยตรงจากศูนย์เพาะพันธุ์ุ์   
  • และลุยส์วิลล์กลายเป็นเมืองที่ 3 ในรัฐเคนตักกีที่ ‘ห้ามการขายหมาแมวในร้านขายสัตว์เลี้ยง’ มีผลบังคับใช้ในปี 2024 เพื่อปราบปรามการทำฟาร์มลูกหมาและศูนย์เพาะพันธุ์ที่ทำเพื่อผลประโยชน์ แต่ร้านขายสัตว์เลี้ยงยังสามารถร่วมมือกับสถานสงเคราะห์ในการหาบ้านให้สัตว์ได้อีกเหมือนกันกับรัฐและเมืองอื่นๆ 

ญี่ปุ่นออกกฎเข้มงวด ‘คุ้มครองสวัสดิภาพสัตว์’

foreign-bans-pet-stores-from-selling-cats-dogs-rabbits-SPACEBAR-Photo05.jpg

แม้ว่าญี่ปุ่นจะยังไม่มีความเคลื่อนไหวในการห้ามขายสัตว์ในร้านขายสัตว์เลี้ยง แต่กฎระเบียบบางประการก็ได้เพิ่มความเข้มงวดในการปรับปรุงสิทธิสัตว์มากขึ้น กระทรวงสิ่งแวดล้อมได้บังคับใช้กฎหมายเมื่อปี 2021 เพื่อกำหนดมาตรฐานสำหรับขนาดของกรงผสมพันธุ์ และจำกัดจำนวนครอกต่อสัตว์ 1 ตัว 

กฎดังกล่าวมุ่งเป้าไปที่กลุ่มผู้เพาะพันธุ์สัตว์ที่บังคับให้สัตว์ออกลูกซ้ำแล้วซ้ำอีกในสภาพที่โหดร้าย หมาแต่ละตัวจำกัดการคลอดลูกหมาไว้ที่ 20 ตัวตลอดช่วงชีวิต สำหรับแมวจำกัดที่ 30 ตัว  

และหมาต้องมีพื้นที่ออกกำลังกายแยกต่างหากาก และต้องอยู่ในกรงอย่างน้อย 2 เท่าของความสูงและความยาวของหมา ส่วนแมวนั้น กรงต้องมีความสูงมากกว่า 3 เท่าและมีความยาวเป็น 2 เท่าของตัวมัน 

รัฐสลังงอร์ของมาเลเซียออกกฎ ‘ไม่ให้ขายหมาแมวอีกต่อไป!’

foreign-bans-pet-stores-from-selling-cats-dogs-rabbits-SPACEBAR-Photo06.jpg

รัฐสลังงอร์ของมาเลเซียออกกฎระเบียบใหม่ ‘ร้านขายสัตว์เลี้ยงจะไม่สามารถขายหมาแมวได้อีกต่อไป’ เพื่อกระตุ้นให้ผู้คนรับสัตว์ไปเลี้ยงมากขึ้นแทนที่จะซื้อมาเลี้ยง ทั้งนี้ ร้านขายสัตว์เลี้ยงยังสามารถขายอาหารสัตว์เลี้ยงแทนได้ 

“หากสภาท้องถิ่นทุกแห่งดำเนินตามกฎระเบียบดังกล่าวได้ เราก็สามารถช่วยลดอัตราการทิ้งสัตว์เลี้ยงได้” อึงเซฮัน สมาชิกสภาบริหารของรัฐกล่าว นอกจากนี้ รัฐบาลรัฐสลังงอร์ยังแนะนำให้สภาท้องถิ่นทุกแห่งใช้วิธีการจับสุนัขด้วยตาข่ายอีกด้วย

ขึ้นชื่อว่าเป็นสิ่งมีชีวิต ต่อให้เป็นสัตว์ประเภทอะไร มันก็มีชีวิตจิตใจเหมือนกัน

ในเมื่อเลือกที่จะเลี้ยงมันแล้วไม่ดูแลให้ดี เบื่อแล้วก็ทิ้ง มันก็กลายเป็นปัญหาหมาจรแมวจรอยู่แทบจะทุกประเทศ ส่วนร้านขายสัตว์เลี้ยง หรือศูนย์เพาะพันธ์บางแห่งก็เห็นแต่ประโยชน์มากเกินไป จนสวัสดิภาพของสัตว์ยอดแย่ จึงไม่น่าแปลกใจที่บางประเทศจะออกกฎหมายเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้!

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์