‘มรดกโลกยูเนสโก’ ขึ้นทะเบียนแล้วก็ถูกถอดถอนได้ถ้าไม่รักษาให้ดี

20 ก.ย. 2566 - 03:21

  • ก่อนหน้านี้ยูเนสโกเคยถอดถอนสถานที่ต่างๆ ออกจากรายชื่อแหล่งมรดกโลกมาแล้วหลายครั้ง หากสถานที่นั้นๆ ไม่ได้รับการจัดการหรือปกป้องดูแลที่เหมาะสม

  • หลังได้รับจดหมายเตือนจากยูเนสโก เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กของรัสเซียยอมขยับตึงสูง 470 เมตรออกไปให้ห่างจากใจเมืองไป 9 กิโลเมตรเพื่อรักษาสถานะมรดกโลกไว้

four-amazing-sites-lost-unesco-world-heritage-status.psd-SPACEBAR-Hero.jpg

จากกรณีที่ ส.ส. พรรคก้าวไกลรายหนึ่งโพสต์ข้อความว่า “ประชาชนคนไทยต่างลุ้นกันกรณี ‘ศรีเทพ’ จะได้ขึ้นทะเบียนมรดกโลก แต่ ‘อยุธยา’ ที่เป็นอยู่แล้ว กำลังจะถูกถอดเพราะรถไฟความเร็วสูงผ่ากลางเมือง” จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากคนในพื้นที่

ก่อนหน้านี้ทางยูเนสโกเคยถอดถอนสถานที่ต่างๆ ออกจากรายชื่อแหล่งมรดกโลกมาแล้วหลายครั้ง แต่ก่อนจะเล่าว่าสถานที่ไหนถูกถอดชื่อออกบ้าง เรามาดูหลักเกณฑ์ของยูเนสโกกันก่อน

สถานที่ต่างๆ ที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกนั้นได้รับการคัดเลือกเนื่องจากคุณค่าทางธรรมชาติหรือวัฒนธรรมที่โดดเด่น หรือทั้งสองอย่างรวมกัน แต่หากสถานที่นั้นๆ ไม่ได้รับการจัดการหรือปกป้องดูแลที่เหมาะสม หรือศูนย์มรดกโลกมีความกังวลเกี่ยวกับสถานที่ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน ซึ่งความกังวลส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับสงคราม ภัยธรรมชาติ หรือ การพัฒนาที่ไร้การควบคุม ยูเนสโกจะส่งจดหมายเตือนไปยังรัฐบาลของประเทศนั้นๆ แล้วเปลี่ยนสถานะจากมรดกโลกเป็น “มรดกโลกที่ตกอยู่ในอันตราย” (World Heritage in Danger) แล้วพยายามเจรจากับทางการท้องถิ่นเพื่อแก้ไขสถานการณ์ หากไม่ได้รับการแก้ไขก็จะถอดถอนออกจากรายชื่อมรดกโลก

จดหมายเตือนของยูเนสโกมักจะได้ผล อาทิ เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กของรัสเซียยอมขยับตึงสูง 470 เมตรออกไปให้ห่างจากใจเมืองไป 9 กิโลเมตรเพื่อรักษาสถานะมรดกโลกไว้

และจนถึงปัจจุบันนี้มีสถานที่ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกโลกเพียง 3 แห่งเท่านั้นที่ถูกยูเนสโกถอดถอน และอีก 1 แห่งถูกถอดถอนบางส่วน

สถานที่แห่งแรกที่ถูกยูเนสโกถอดถอนคือ ศูนย์อนุรักษ์แอนติโลปของประเทศโอมาน (Arabian Oryx Sanctuary) (ปี 2007) เนื่องจากยูเนสโกมองว่ารัฐบาลไม่สามารถปกป้องความอุดมสมบูรณ์ของศูนย์อนุรักษ์นี้ หลังจากรัฐบาลโอมานตัดสินใจลดพื้นที่ของศูนย์อนุรักษ์ลงถึง 90% เพื่อพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติ ส่งผลให้ประชากรออริกซ์ หรือแอนติโลปเขายาวลดลงจาก 450 ตัวเหลือเพียงตัวเต็มวัย 4 คู่เท่านั้น

สุลต่านกาบูส บิน ซาอิด ของโอมานก่อตั้งศูนย์อนุรักษ์แอนติโลปเมื่อปี 1982 เพื่อฟื้นฟูประชากรแอนติโลปที่ถูกประกาศว่าสูญพันธุ์ไปจากป่าเมื่อปี 1972 เนื่องจากถูกล่าและที่อยู่อาศัยถูกทำลาย ก่อนจะประสบความสำเร็จในการเพาะในกรงเลี้ยงที่สหรัฐฯ และปล่อยกลับสู่ธรรมชาติในอีก 10 ปีต่อมา ด้วยเหตุนี้ในปี 1994 ยูเนสโกจึงขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลก

four-amazing-sites-lost-unesco-world-heritage-status-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: แม่น้ำเอลเบอที่มีสะพานวัลท์ชเลิสเซินพาดผ่าน ภาพ: Wikipedia/Bybbisch94 Christian Gebhardt

สถานที่ต่อมาคือ Dresden Elbe Valley หุบเขาลำธารในเมืองเดรสเดินของเยอรมนี ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนจากยูเนสโกเมื่อปี 2004 และถูกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกที่ตกอยู่ในอันตรายในอีก 2 ปีต่อมา เนื่องจากแผนการสร้างสะพาน 4 เลนวัลท์ชเลิสเซิน (Waldschlösschen Bridge)

หลังจากกลับไปกลับมาหลายปี รวมทั้งการร้องขอจากทั้งสหประชาชาติและรัฐบาลเยอรมนีให้ล้มเลิกโครงการสร้างสะพาน คณะกรรมการเมืองเดรสเดินก็ปฏิเสธเงินสนับสนุนจากรัฐบาลกลางที่เสนอให้สร้างอุโมงค์แทน แล้วเดินหน้าสร้างสะพานตามแผนเดิมเหนือแม่น้ำเอลเบอเพื่อลดปัญหารถติด 

แม้จะมีคำเตือนว่าอาจถูกถอดออกจากสถานะมรดกโลกของยูเนสโก และอาจกระทบกับการท่องเที่ยวด้วย แต่ชาวเมืองส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแผนการก่อสร้างดังกล่าว สะพานวัลท์ชเลิสเซินจึงได้ฤกษ์ก่อสร้างในปี 2007 แล้วเสร็จในปี 2012 ขณะที่ยูเนสโกถอดหุบเขาลำธารเอลเบอเดรสเดินออกจากสถานะมรดกโลกในปี 2009 โดยให้เหตุผลส่วนหนึ่งว่า “เนื่องจากการสร้างสะพานสี่เลนในใจกลางภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรม ซึ่งหมายความว่าพื้นที่ดังกล่าวล้มเหลวที่จะรักษาคุณค่าที่โดดเด่นเป็นสากลตามที่จารึกไว้”

อย่างไรก็ดี ยูเนสโกระบุว่าเยอรมนีอาจขอขึ้นทะเบียนใหม่ที่เกี่ยวข้องกับเดรสเดินได้ในอนาคต โดยคณะกรรมการตระหนักว่าบางส่วนของสถานที่อาจได้รับการพิจารณาว่ามีคุณค่าที่โดดเด่นเป็นสากล แต่จะต้องนำเสนอภายใต้เกณฑ์และขอบเขตที่แตกต่างกันจากครั้งก่อนหน้า

four-amazing-sites-lost-unesco-world-heritage-status-SPACEBAR-Photo02.jpg
Photo: จากซ้ายไปขวา: โรงแรมแอตแลนติก, โบสถ์ Our Lady and St.Nicholas, อาคาร Royal Liver Building อาคาร Cunard Building อาคาร Port of Liverpool Building และอาคารแมนน์ไอส์แลนด์ ภาพ: Wikipedia/Phil Nash from Wikimedia Commons

เมืองการค้าทางทะเลลิเวอร์พูล (Liverpool Maritime Mercantile City) ในเมืองลิเวอร์พูลของอังกฤษเป็นสถานที่แห่งที่ 3 ที่ถูกยูเนสโกถอดถอนจากสถานะแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมเมื่อเดือนกรกฎาคม 2021 หลังจากได้รับการขึ้นทะเบียนเมื่อปี 2004 ซึ่งประกอบไปด้วยสถานที่ 6 แห่งในใจกลางเมืองสำหรับการเป็น “ตัวอย่างที่ยอดเยี่ยมของท่าเรือพาณิชย์ในช่วงเวลาที่อังกฤษมีอิทธิพลอย่างมากต่อโลก”

ทว่าการเสนอโครงการก่อสร้าง Liverpool waters ที่จะมีทั้งอพาร์ตเมนต์ โรงแรม ออฟฟิศ ซึ่งรวมถึงการเสนอโครงการก่อสร้างสนามฟุตบอลของสโมสรเอฟเวอร์ตันที่ท่าเรือแบรมลีย์มัวร์ กลับทำให้ยูเนสโกตัดสินใจขึ้นทะเบียนสถานที่แห่งนี้เป็นมรดกโลกที่ตกอยู่ในอันตราย ในปี 2012 เนื่องจากยูเนสโกมองว่าการก่สร้างเหล่านี้ทำให้ “สูญเสียเอกลักษณ์ทางประวัติศาสตร์อย่างร้ายแรง”

คณะกรรมการของยูเนสโกส่งจดหมายเตือนอังกฤษเมื่อปี 2017 ว่า Liverpool Maritime Mercantile City เสี่ยงต่อการถูกถอดถอน ทว่าคณะกรรมการผังเมืองของสภาเมืองลิเวอร์พูลกลับอนุมัติการก่อสร้างสนามท่าเรือแบรมลีย์มัวร์มูลค่า 500 ล้านปอนด์ในเดือนมีนาคม 2021 คณะกรรมการมรดกโลกจึงมีมติ 13 ต่อ 5 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง ถอดถอน Liverpool Maritime Mercantile City ออกจากแหล่งมรดกโลก เนื่องจาก “สูญเสียคุณลักษณะโดยไม่สามารถเอาคืนกลับมาได้”

อย่างไรก็ดี ปฏิกิริยาจากชาวเมืองลิเวอร์พูลต่อกรณีนี้ค่อนข้างหลากหลาย บางคนมองว่าการที่ถูกขึ้นทะเบียนทำให้ไม่สามารถพัฒนาพื้นที่ที่ถูกทิ้งร้าง ส่งผลให้เมืองลิเวอร์พูลต้องเก็บอาคารที่ไม่สวยงามเอาไว้ ขณะที่บางคนต่อว่าความเชื่อที่ว่าสิ่งนี้มีผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวของเมืองซึ่งมีจำนวนมากอยู่แล้ว

ส่วนสถานที่ที่ถูกถอดถอนบางส่วนคือ มหาวิหารบากราติ (Bagrati Cathedral) ในประเทศจอร์เจีย มหาวิหารบากราติและโบสถ์เจลาติที่อยู่ใกล้เคียงกันในเมืองคูทายซี เมืองใหญ่อันดับสองรองจากกรุงทบิลิซี ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกจากยูเนสโกเมื่อปี 1994 

ทว่าการบูรณะมหาวิหารบากราติซึ่งทำให้สูญเสียความเป็นเอกลักษณ์และคุณค่าทางประวัติศาสตร์อย่างร้ายแรงทำให้ยูเนสโกถอดสถานะเมื่อปี 2017 ส่วนโบสถ์เจลาติยังคงสถานะเดิม

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์