เป็นพ่อแม่ก็ต้องเคารพสิทธิลูก ฝรั่งเศสออกกฎหมายห้ามพ่อแม่แชร์รูปลูกลงโซเชียล

22 มี.ค. 2566 - 08:11

  • ฝรั่งเศสผ่านกฎหมายใหม่ ศาลมีอำนาจสั่งห้ามพ่อแม่โพสต์ภาพลูกลงโซเชียล

france-banned-parents-sharing-children-photos-social-media-privacy-laws-SPACEBAR-Thumbnail
บรรดาแม่ๆ พ่อๆ แชร์รูปลูกๆ ของตัวเองด้วยเหตุผลต่างๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นเพื่อเก็บไว้เป็นความทรงจำ ต้องการแบ่งปันช่วงเวลาการเติบโตของลูกให้สมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อนๆ ได้เห็น หรือเพื่อขอคำแนะนำจากพ่อแม่คนอื่นๆ สำหรับพ่อแม่บางคนโดยเฉพาะอินฟลูเอนเซอร์ รูปของลูกๆ อาจเป็นแหล่งรายได้อีกทางหนึ่ง  

ข้อมูลระบุว่า พ่อแม่ในอังกฤษและสหรัฐฯ กว่า 50% แชร์ภาพหรือคลิปวิดีโอของลูกๆ ลงในโลกโซเชียล หากมีการจัดเก็บข้อมูลพ่อแม่ในเมืองไทยก็น่าจะแชร์ภาพของลูกๆ ตัวเองไม่น้อยไปกว่ากัน เทรนด์นี้มันฮิตเสียจนพจนานุกรมภาษาอังกฤษของออกซ์ฟอร์ดถึงขั้นต้องบรรจุคำว่า sharenting ที่นำคำว่า share ที่แปลว่าแบ่งปัน และ parenting ที่แปลว่า การเลี้ยงลูก มารวมกัน มาใช้เรียกพฤติกรรมที่พ่อแม่แชร์ภาพ คลิป หรือข้อมูลส่วนตัวของลูกในโลกออนไลน์มากเกินไป และไม่คำนึงถึงความยินยอมและความปลอดภัยของลูก  

แต่เหรียญย่อมมีสองด้านเสมอ รูปของเด็กๆ ที่พ่อแม่แชร์ออกไปอาจตกอยู่ในความเสี่ยงหลายประการ อาทิ ข้อมูลต่างๆ เช่น ชื่อ วันเกิดหลุดไปอยู่ในมือผู้ไม่หวังดี หรือการนำภาพเด็กไปแชร์บนเว็บไซต์ภาพอนาจารเด็ก  

ล่าสุดสภาผู้แทนราษฎรฝรั่งเศสผ่านร่างกฎหมายคุ้มครองสิทธิและความเป็นส่วนตัวของเด็กโดยพ่อแม่อาจถูกแบนไม่ให้แชร์รูปลูกลงโซเชียล โดยผู้ปกครองทั้งสองฝ่ายจะต้องรับผิดชอบร่วมกันในสิทธิในภาพของลูกๆ และการตัดสินใจใดๆ ในการโพสต์ภาพเหล่านี้ทางออนไลน์เด็กจะต้องให้ความยินยอมด้วยตาม ‘อายุและวุฒิภาวะ’  

หากพ่อและแม่เห็นไม่ตรงกันศาลอาจสั่งห้ามคนใดคนหนึ่งโพสต์รูปลูกได้ หรืออาจสูญเสียอำนาจเหนือสิทธิในภาพของลูก หากการโพสต์ดังกล่าว "ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อศักดิ์ศรีของเด็ก" หรือในกรณีร้ายแรงพ่อแม่อาจเสียสิทธิในการจัดการรูปของลูกไปเลย โดยผู้พิพากษาสามารถมอบความไว้วางใจให้บุคคลที่สามใช้สิทธิในภาพของเด็กแทน 

นอกจากนี้ กฎหมายยังพุ่งเป้าไปที่การลงโทษบรรดาพ่อแม่อินฟลูเอนเซอร์ที่โพสต์รูปลูกๆ ของตัวเองเพื่อให้มีผู้ติดตามเพิ่มขึ้นและเป็นช่องทางหาเงิน 

บรูโน สตัดเดอร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของฝรั่งเศสที่เสนอร่างกฎหมายนี้เผยว่า จุดมุ่งหมายของกฎหมายนี้คือ การให้อำนาจพ่อแม่และแสดงให้เด็กๆ เห็นว่าพ่อแม่ไม่ได้มีสิทธิเด็ดขาดในรูปภาพของพวกเขา 

สตัดเตอร์ให้ข้อมูลว่า เด็กคนหนึ่งปรากฏตัวอยู่ในรูปถ่าย 1,300 รูปที่ถูกแชร์ออนไลน์ก่อนที่เด็กคนนี้จะอายุ 13 ปี และ 50% ของรูปถ่ายที่ถูกแลกเปลี่ยนกันในกลุ่มสื่อลามกเด็กถูกเผยแพร่ครั้งแรกโดยผู้ปกครองบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ของพวกเขา  

ตัวเลขของสตัดเตอร์มาจากข้อมูลของสำนักงานกรรมาธิการเพื่อเด็กและเยาวชนในออสเตรเลียเมื่อปี 2015 ซึ่งค่อนข้างเก่าแล้ว แต่ข้อมูลของสภาสมาคมเพื่อสิทธิเด็กของฝรั่งเศส (Confrade) ระบุว่า “ยูโรโพล (Europol) และ อินเตอร์โพล (Interpol) แจ้งเตือนเมื่อช่วงต้นปี 2020 ถึงการแพร่กระจายของเนื้อหาการล่วงละเมิดทางเพศเด็กทางออนไลน์และการแพร่หลายของเนื้อหาที่ผลิตขึ้นเองโดยเยาวชนเองหรือคนรอบข้าง” 

ขณะที่การวิจัยโดย Observatory for Parenthood and Digital Education พบว่า มากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ปกครองในฝรั่งเศสแชร์ภาพของลูกๆ ในโลกออนไลน์ และ 91% แชร์ภาพก่อนที่ลูกของตัวเองจะอายุครบ 5 ปี 

ดิจิทัลฟุตพริ้นท์ 

ก่อนจะโพสต์ภาพลูกพ่อแม่ต้องไม่ลืมว่าทุกๆ ภาพที่อยู่ในโลกโซเชียลจะทิ้งดิจิทัลฟุตพริ้นท์ไว้เสมอ และยากที่จะลบออกได้ทั้งหมด และเมื่อรูปเหล่านั้นออกสู่โลกออนไลน์ พ่อๆ แม่ๆ จะไม่สามารถควบคุมการเผยแพร่รูปภาพได้อีก นอกจากนี้ เมื่อเด็กๆ โตขึ้น รูปภาพสมัยเด็กๆ ที่พ่อแม่แชร์ออกไปอาจกระทบกับภาพลักษณ์หรือเป็นเรื่องน่าอับอายซึ่งอาจทำให้ลูกของคุณมีปัญหาในการสร้างมิตรภาพและความสัมพันธ์ได้ 

ความยินยอมสำคัญที่สุด 

วิธีแก้ปัญหาที่ต้นเหตุที่แท้จริงคือ การถามและขอความยินยอมจากลูกก่อนโพสต์ภาพหรือคลิป  

งานวิจัยปี 2016 ของมหาวิทยาลัยมิชิแกนซึ่งสอบถามคู่พ่อลูกหรือแม่ลูกกว่า 249 คู่เรื่องกฎการใช้โซเชียลมีเดีย พบว่าเด็กที่มีอายุระหว่าง 10-17 ปี ต้องการให้พ่อแม่ขออนุญาตก่อนจะโพสต์เรื่องราวของเขาลงในโซเชียลมีเดีย ในขณะที่ฝ่ายพ่อแม่แทบไม่ตระหนักถึงประเด็นนี้เลย 

คำถามที่จะใช้ถามลูกก็สำคัญเช่นกัน สำหรับเด็กเล็กๆ อายุ 3-4 ขวบอาจใช้คำถามที่เข้าใจง่ายๆ ว่า “ลูกอยากให้คนอื่นเห็นภาพนี้ไหม” 

กฎหมาย 

หลายประเทศทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับประเด็น ‘สิทธิความเป็นส่วนตัวของเด็ก’ อย่างมาก โดยเฉพาะประเทศในแถบยุโรป หลายประเทศต่างออกกฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิของผู้ปกครองในการแชร์ข้อมูลส่วนตัวลูกๆ เช่น ในฝรั่งเศสก่อนหน้านี้หากพ่อแม่โพสต์ข้อมูลส่วนตัวหรือรูปถ่ายของลูกโดยไม่ได้รับอนุญาตต้องรับโทษทั้งจำและปรับฐานละเมิดความเป็นส่วนตัวของบุคคลในโลกออนไลน์ 

หรือในสหภาพยุโรป มีการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของสหภาพยุโรป (General Data Protection Regulation : GDPR) โดยรูปภาพนับเป็นหนึ่งในข้อมูลส่วนบุคคลที่ใครนำมาเผยแพร่โดยไม่ขออนุญาตไม่ได้ นอกจากนี้ GDPR ยังมีหลักที่ว่าด้วยเรื่องสิทธิการถูกลืม (Right to be forgotten) คือ ผู้ให้ข้อมูลมีสิทธิในการสั่งให้ลบข้อมูลส่วนตัวที่เผยแพร่ไปในโลกออนไลน์ หากไม่ต้องการให้ข้อมูลดังกล่าวปรากฏอยู่ในโลกออนไลน์ต่อไป  

ส่วนสหรัฐฯ ก็มีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของเด็กและเยาวชน (The Children’s Online Privacy Protection Act of 1998) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ‘COPPA’ ซึ่งบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2000 โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อป้องกันการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลจากการใช้อินเทอร์เน็ตของเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี   

มุมมองส่วนหนึ่งจากเด็กๆ  

มีงานวิจัยบางชิ้นสำรวจว่าเด็กๆ คิดอย่างไรกับเทรนด์ sharenting บางคนมองว่ามันาจเป็นเรื่องดีถ้าภาพของตัวเองออกมาดี เด็กบางคนบอกว่าพ่อแม่ของตัวเองทำให้พวกเขารู้สึกมีความสุขและภาคภูมิใจ อีกส่วนหนึ่งชอบเพราะมันช่วยให้พวกเขาใกล้ชิดกับสมาชิกครอบครัวคนอื่นๆ หรือเด็กคนหนึ่งที่พ่อแม่ทำบล็อกเกี่ยวกับครอบครัวบอกว่า “มันเจ๋งนะ...เหมือนมีครอบครัวใหญ่เฝ้าดูเราเติบโต” อย่างไรก็ดี เด็กๆ บางคนบอกว่า sharenting อาจทำให้เกิดความอับอายหรือวิตกกังวล หลายๆ คนต้องการให้พ่อแม่ขออนุญาตก่อนโพสต์ 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์