ปฏิรูประบบบำนาญฝรั่งเศส ปัญหาใหญ่ของโลกยุคสังคมสูงวัย

24 มี.ค. 2566 - 09:37

  • เกิดการชุมนุมประท้วงของผู้คนจำนวนมากในหลายเมืองของฝรั่งเศส หลังจากรัฐบาลประกาศว่าจะเพิ่มอายุเกษียณขึ้นอีก 2 ปี

  • นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสผลักดันการใช้มาตรา 49:3 ซึ่งจะทำให้รัฐบาลสามารถปฏิรูประบบบำนาญนี้โดยไม่ต้องผ่านสภา

french-pension-reforms-protest-aging-society-SPACEBAR-Thumbnail
ช่วงหลายสัปดาห์ก่อน เกิดการชุมนุมประท้วงของผู้คนจำนวนมากในหลายเมืองของฝรั่งเศส หลังจากรัฐบาลประกาศว่าจะเพิ่มอายุเกษียณขึ้นอีก 2 ปี รวมถึงจำนวนปีที่ต้องจ่ายเงินสมทบเพื่อให้ได้เงินบำนาญเต็มจำนวนก็ต้องเพิ่มขึ้นด้วยเหมือนกัน (อ่าน ทำไมคนฝรั่งเศสลุกฮือประท้วงแผนการเพิ่มอายุเกษียณของมาครง (อีกครั้ง) ได้ที่นี่)

ชาวฝรั่งเศสไม่พอใจและพากันออกมาประท้วงต่อต้านการปฏิรูปนี้และยิ่งไม่พอใจมากขึ้น หลังจากนายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสผลักดันการใช้มาตรา 49:3 ซึ่งจะทำให้รัฐบาลสามารถปฏิรูประบบบำนาญนี้โดยไม่ต้องผ่านสภา 

สถานการณ์การชุมนุมประท้วงในกรุงปารีส เมืองหลวงของฝรั่งเศสมีผู้ประท้วงจำนวนหนึ่งจุดไฟเผากองขยะที่กระจายอยู่ทั่วเมือง จนไฟลุกลามไปติดรถยนต์คันหนึ่งจนได้รับความเสียหายทั้งคัน มีผู้ประท้วงบางส่วนขว้างปาสิ่งของใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ส่งผลให้เกิดการปะทะกันขึ้น และเจ้าหน้าที่พยายามสลายการชุมนุมด้วยการยิงแก๊สน้ำตาและปืนฉีดน้ำแรงดันสูงเข้าใส่ผู้ชุมนุม 

นอกจากกรุงปารีส เมืองหลวงของฝรั่งเศสแล้ว การประท้วงยังเกิดขึ้นที่เมืองน็องต์ แคว้นเปอีเดอลาลัวร์ ทางตะวันตกของฝรั่งเศส และมีการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับผู้ชุมนุมด้วย โดยผู้ชุมนุมขว้างปาสิ่งของใส่เจ้าหน้าที่และคว่ำถังขยะบนถนน ขณะที่เจ้าหน้าที่ยิงแก๊สน้ำตาใส่ผู้ประท้วงเพื่อสลายการชุมนุม 

การชุมนุมประท้วงของผู้ชุมนุมบริเวณจัตุรัสคองคอร์ดในกรุงปารีส ผู้ชุมนุมถือป้ายมีข้อความว่า ไม่เอาอายุเกษียณ 64 ปี รวมถึงไม่เอามาตรา 49:3 ซึ่งเป็นมาตราพิเศษที่สามารถปฏิรูปกฎหมายได้โดยไม่ต้องผ่านการโหวตของสภาผู้แทนราษฎร และผู้ชุมนุมมีตั้งแต่คนหนุ่มสาว วัยกลางคน ไปจนถึงวัยเกษียณ 

นอกจากนี้ สมาชิกสหภาพแรงงาน (ซีจีที) จากวิชาชีพต่างๆ ก็มาร่วมด้วย ทั้งครู ข้าราชการ หรือพนักงานเอกชนก็ออกมาร่วมชุมนุมและนัดหยุดงานเพื่อต่อต้านการปฏิรูประบบบำนาญนี้ด้วย 

รัฐบาลฝรั่งเศสให้เหตุผลที่ต้องแก้ไขระบบบำนาญก็เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับระบบนี้ เพราะในอนาคตอันใกล้ระบบจะเผชิญกับการขาดดุล เนื่องจากผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และระบบบำนาญของฝรั่งเศสเป็นระบบที่นำเงินจากคนวัยทำงานมาเลี้ยงดูคนวัยเกษียณ รัฐบาลจึงมองว่าจำเป็นที่จะต้องยึดเวลาการทำงานของผู้คนให้เพิ่มขึ้น
 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/3Q4VU3yL0JJ98Ebjexubq9/5a2dec3fec0a9cc78691613109daa3a7/info_french-pension-reforms-protest-aging-society-01__1_
อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญฝรั่งเศสกำหนดให้รัฐบาลสามารถบังคับใช้มาตรา 49:3 ได้เพียงครั้งเดียวในร่างกฎหมายปกติ แต่จะใช้มาตรา 49:3 กี่ครั้งก็ได้ในร่างกฎหมายเกี่ยวกับงบประมาณ 

ส่วนรัฐบาลฝรั่งเศส ภายใต้การนำของประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง รอดพ้นจากมติไม่ไว้วางใจในญัตติที่พรรคฝ่ายค้านยื่นถึง 2 ฉบับ ในการประชุมสมาชิกรัฐสภาฝรั่งเศส เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลจากกรณีการเดินหน้าปฏิรูประบบบำนาญ จนนำไปสู่การชุมนุมประท้วงของประชาชน 

ญัตติไม่ไว้วางใจฉบับแรกถูกยื่นโดยกลุ่มสมาชิกรัฐสภาสายกลาง ส่วนญัตติไม่ไว้วางใจฉบับที่ 2 ยื่นโดยสมาชิกพรรคเนชันแนลแรลลี ซึ่งเป็นพรรคขวาจัดของ มารีน เลอเพน โดยญัตติไม่ไว้วางใจดังกล่าว เห็นว่า รัฐบาลฝรั่งเศสใช้อำนาจโดยมิชอบ จากการที่ประธานาธิบดีมาครง ใช้อำนาจพิเศษจนร่างกฎหมายเพิ่มอายุเกษียณจาก 62 ปี เป็น 64 ปี ตามแผนการปฏิรูประบบบำนาญแม้ว่ารัฐธรรมนูญให้อำนาจดังกล่าวแก่ประธานาธิบดีก็ตาม 

ผลการลงมติไม่ไว้วางใจปรากฏว่า มีสมาชิกรัฐสภาเห็นด้วย 278 เสียง ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ที่ 287 เสียง ทำให้การบังคับใช้กฎหมายเพิ่มอายุเกษียณดังกล่าวมีผลทันที 

สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานเมื่อวันพฤหัสบดี (23 มี.ค.) ว่า การประท้วงต่อต้านกฎหมายเพิ่มอายุเกษียณจาก 62 เป็น 64 ปี ดึงดูดผู้คนมาร่วมชุมนุมหลักแสนเพื่อต่อต้านการ “สบประมาท” และ “คำโกหก” ของมาครง ที่สร้างความไม่พอใจให้กับบรรดาสหภาพและพรรคฝ่ายค้าน หลังจากปฏิเสธที่จะรับฟังเสียงเรียกร้องให้ใส่ใจถึงความไม่พอใจของประชาชนที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ 

พร้อมทั้งยืนกรานอย่างหนักแน่นว่า มีความจำเป็นที่ต้องมีกฎหมายใหม่และจะมีผลบังคับใช้ภายในปลายปีนี้ 

“ฟิลิปเป้ มาร์ติเนซ” ผู้นำสมาพันธ์แรงงานทั่วไป (ซีจีที) บอกว่า การเคลื่อนไหวที่ดีที่สุดที่จะตอบโต้ปธน.ได้คือการหยุดงานประท้วงและการเดินขบวนตามท้องถนนของประชาชนนับล้านคน 

ดูเหมือนว่าคำกล่าวของผู้นำสมาพันธ์แรงงานทั่วไปจะมีเค้าลางเป็นไปได้ เพราะการหยุดงานประท้วงที่ยืดเยื้อมาจนถึงวันพฤหัสบดี (23 มี.ค.) ทำให้การเดินรถไฟหยุดชะงักอย่างรุนแรง และส่งผลให้สนามบินได้รับผลกระทบตามไปด้วย 

แม้การประท้วงส่วนใหญ่เป็นไปอย่างสันติ แต่ความไม่พอใจกลับยิ่งทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น เมื่อรัฐบาลใช้อำนาจพิเศษตามรัฐธรรมนูญผลักดันการอนุมัติกฎหมาย โดยไม่ผ่านการลงคะแนนเสียงในรัฐสภา ซึ่งคาดว่าการประท้วงเรื่องนี้จะยืดเยื้อและสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของฝรั่งเศสอย่างมีนัยสำคัญ 

แม้ว่ามาครงไม่ได้ปฏิรูประบบบำนาญอย่างเดียว แต่ยังประกาศแผนการสำคัญอื่นๆ ด้วย รวมถึงการปฏิรูปกฎหมายคนเข้าเมือง การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม และการก่อสร้างโรงเรียน โรงพยาบาล และสถานีตำรวจเพิ่มเติม
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/WgW0paOM6JT6QF7GjF9yr/fe37b531ac1270f410f4502c51828b5c/info_french-pension-reforms-protest-aging-society-02__1_

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์