ถ้าโลกร้อนขึ้นอีก 1 องศาฯ เราจะอายุขัยสั้นลงอีกครึ่งปี

4 พ.ค. 2567 - 02:00

  • ขณะนี้โลกของเราร้อนกว่ายุคก่อนอุตสาหกรรมราว 1.1 องศาเซลเซียสแล้ว และนักวิทยาศาสตร์เพิ่งยืนยันว่าปี 2023 เป็นปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์

  • ผลวิจัยชี้การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศทำให้อายุคาดเฉลี่ยของคนเราลดลงถึง 6 เดือน

  • หากอุณหภูมิเพิ่มขึ้นอีก 1 องศาเซลเซียส ทั้งความร้อนและความชื้นจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพและกระทบต่อการทำมาหากินของแรงงานที่ทำงานกลางแจ้งในเขตร้อน

  • อุณหภูมิที่สูงขึ้นยังส่งผลกับชีวิตมนุษย์อีกหลายเรื่อง เช่น ฝนตกรุนแรงขึ้น สเปิร์มน้อยลง

Further-1-degree-celsius-warming-could-cut-months-from-life-expectancy-SPACEBAR-Hero.jpg

โลกร้อนไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป ขณะนี้โลกของเราร้อนกว่ายุคก่อนอุตสาหกรรมราว 1.1 องศาเซลเซียสแล้ว และนักวิทยาศาสตร์เพิ่งยืนยันว่าปี 2023 เป็นปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ ส่วนปีนี้ก็กำลังจะแซงหน้าขึ้นมาเป็นปีที่ร้อนที่สุดเท่าที่เคยมีมา  

โลกร้อนทำอายุสั้น

ที่น่ากังวลคือ ผลการวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร PLOS Climate พบว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศทำให้อายุคาดเฉลี่ย (life expectancy คือ ระยะเวลาเฉลี่ยที่บุคคลคนหนึ่งจะมีชีวิตอยู่ได้) ของคนเราลดลงถึง 6 เดือน พูดง่ายๆ ก็คือ อายุสั้นลงครึ่งปี 

อามิต รอย จากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชาห์จาลาล ศึกษาความเชื่อมโยงกันระหว่างการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศกับอายุคาดเฉลี่ย ด้วยการประเมินอุณหภูมิเฉลี่ย ปริมาณฝน และข้อมูลอายุคาดเฉลี่ยจาก 191 ประเทศ ระหว่างปี 1949-2020 โดยใช้จีดีพีต่อหัวเพื่อควบคุมความแตกต่างระหว่างประเทศต่างๆ  

นอกเหนือจากการวัดผลกระทบแยกจากอุณหภูมิและปริมาณน้ำฝน ซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและยังเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับปัญหาสุขภาพ ผู้เขียนยังได้ออกแบบดัชนีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเชิงประกอบตัวแรกของโลก ซึ่งรวมตัวแปรทั้งสองเข้าด้วยกันเพื่อวัดความรุนแรงที่ครอบคลุมของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

ผลปรากฏว่า ในการวัดผลกระทบของอุณหภูมิและปริมาณฝนแยกกัน หากอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียส อายุคาดเฉลี่ยของมนุษย์จะลดลงราว 0.44 ปี หรือ 6 เดือนกับอีก 1 สัปดาห์ และหากดัชนีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเชิงประกอบเพิ่มขึ้น 10 จุด อายุขัย (lifespan คือ อายุสูงสุดที่บุคคลสามารถมีชีวิตอยู่ได้) คนเราจะลดลง 6 เดือน

Further-1-degree-celsius-warming-could-cut-months-from-life-expectancy-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: คนงานก่อสร้างพักดื่มน้ำในช่วงอากาศร้อนของฮ่องกงหลังอุณหภูมิแตะ 35 องศาเซลเซียสเมื่อ 2 มิ.ย. 2023 Photo by Peter PARKS / AFP

อากาศร้อนขึ้น อยู่กลางแจ้งยิ่งอันตราย 

การศึกษาล่าสุดที่นำโดยสหรัฐฯ พบว่า หากอุณหภูมิเพิ่มขึ้นอีก 1 องศาเซลเซียส ทั้งความร้อนและความชื้นจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพและกระทบต่อการทำมาหากินของแรงงานที่ทำงานกลางแจ้งในเขตร้อน (งานกลางแจ้งในเขตร้อนรวมทั้งกษตรกรรม ก่อสร้าง ทำป่าไม้ และประมง) 

บทความที่รวบรวมงานวิจัยอื่นๆ มาสรุปที่เพิ่งตีพิมพ์ในวารสาร One Earth ระบุว่า หากอุณหภูมิสูงขึ้นอีกเพียง 1 องศาเซลเซียส ผู้คนราว 800 ล้านคนที่อยู่ในเขตร้อนจะอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่การใช้แรงงานอย่างหนักจะเป็นอันตรายมากกว่าครึ่งชั่วโมงใน 1 ปี 

รายงานชิ้นนี้ระบุว่า “คนทำงานกลางแจ้งเกิน 1,000 ล้านคนอาศัยอยู่ในเขตร้อน ซึ่งเกือบ 1 ใน 5 ของเวลาในแต่ละปีมีความร้อนและชื้นเกินระดับความปลอดภัยที่แนะนำสำหรับคนที่ต้องทำงานหนัก” และเตือนถึงความเจ็บป่วยที่เกี่ยวเนื่องกับความร้อน อาทิ ฮีทสโตรกหรือโรคลมแดด และโรคไตเรื้อรัง โดยขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นร่วมด้วย เช่น อายุ สุขภาพ และสภาพการทำงาน 

คำว่า “เขตร้อน” (tropics) ในรายงานฉบับนี้หมายถึง ภูมิภาคที่อยู่ทางเหนือและใต้ของเส้นศูนย์สูตรขึ้นไป 30 องศา ซึ่งรวมถึงทะเลทรายแห้งแล้ง แนวชายฝั่งที่เต็มไปด้วยต้นโกงกาง และป่าเขตร้อนในแอฟริกา เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

รายงานยังระบุอีกว่า ในพื้นที่ที่ศึกษาวิจัยนั้นมีความชื้นสูง ซึ่งคนที่ทำงานกลางแจ้งต้องอยู่ในสภาพที่ทั้งเหงื่อท่วม ทั้งเหนียวเหนอะหนะ และไม่สบายตัวจากความร้อน โดยทั้งความชื้นและความร้อนถือเป็นส่วนผสมที่อันตราย เพราะหากในอากาศมีความชื้นสูง เหงื่อจะระเหยออกจากผิวได้ยาก ซึ่งการที่เหงื่อออกเป็นกลไกหลักที่ร่างกายใช้ในการระบายความร้อน 

ยูตะ มะสุดะ จาก Paul G. Allen Family Foundation ซึ่งเป็นผู้นำในการเขียนรายงานชิ้นนี้เผยว่า “ในสภาวะที่มีความร้อนชื้นสูง การเหงื่อออกจะไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ ทำให้เราต้องเหงื่อออกมากขึ้นเพื่อระบายความร้อน ซึ่งนำมาสู่การตอบสนองของร่างกายต่อความเครียดจากความร้อน จะทำให้รู้สึกไม่สบาย มีความผิดปกติเนื่องจากความร้อน ส่วนจะอันตรายสำหรับผู้ได้รับผลกระทบแค่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม ระดับของการใช้กำลัง เสื้อผ้า ปัจจัยส่วนบุคคล การปรับตัวให้ชินกับสภาวะความร้อน และสิ่งปกป้องต่างๆ” 

และดูเหมือนว่าสิงคโปร์จะเตรียมการรับมือสำหรับคนทำงานกลางแจ้งไว้ค่อนข้างดี คือมีข้อบังคับให้คนทำงานกลางแจ้งที่ต้องใช้แรงงานหนักพัก 15 นาทีในทุกๆ ชั่วโมงหากดัชนีวัดสภาพความร้อน (WBGT) แตะ 33 องศาเซลเซียสหรือสูงกว่านั้น

Further-1-degree-celsius-warming-could-cut-months-from-life-expectancy-SPACEBAR-Photo02.jpg
Photo: ฝนตกหนักจนเกิดน้ำท่วมในเมืองหยางซั่วของเขตปกครองตนเองกว้างซีเมื่อปี 2020 / AFP / STR

โลกร้อนขึ้นฝนยิ่งตกรุนแรงในเขตภูเขา 

นักวิจัยจากศูนย์วิจัย Lawrence Berkeley National Laboratory ระบุว่า เมื่ออากาศร้อนขึ้น ปริมาณไอน้ำในบรรยากาศจะเพิ่มขึ้น และการรวมตัวกันของน้ำในอากาศ (precipitation) จะเปลี่ยนไปสู่การมีฝนมากขึ้น มีหิมะตกน้อยลง กลไก 2 อย่างนี้ทำให้ความรุนแรงของฝนในพื้นที่ที่ระดับความสูงมากกว่า 2,000 เมตรเพิ่มขึ้น 15% ในทุกๆ 1 องซาเซลเซียสที่ร้อนขึ้น ซึ่งสูงกว่าปริมาณที่เคยรายงานไว้ราว 2 เท่า และเมื่อฝนตกก็มีโอกาสเกิดน้ำท่วม ดินถล่ม ซึ่งอาจกระทบกับประชากรโลกราว 1 ใน 4  

พื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์นี้คือ เทือกเขาในแถบซีกโลกเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทือกเขาอเมริกาเหนือแปซิฟิกอย่างเทือกเขาแคสเคดส์ เซียร์ราเนวาดา และเทือกเขาตามแนวชายฝั่งตั้งแต่แคนาดาไปจนถึงแคลิฟอร์เนียใต้ รวมทั้งเทือกเขาหิมาลัย และภูมิภาคที่ตั้งอยู่สูงๆ  

ความร้อนทำสเปิร์มน้อยลง 

อากาศร้อนๆ ไม่เพียงกระทบกับสุขภาพหรือประสิทธิภาพการทำงานเท่านั้น แต่ผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) พบว่าความร้อนยังส่งผลไปถึงการเจริญพันธุ์ด้วย 

นักวิจัยศึกษาตัวอย่างสเปิร์ม 818 ตัวอย่างที่เก็บไว้ที่แผนกบุรุษเวชศาสตร์ของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแห่งชาติ (NUH) จากนั้นลงมือติดตามการสัมผัสความร้อนจัดของผู้ชาย หรือในวันที่อุณหภูมิสูงเกิน 29.8 องศาเซลเซียส ด้วยการดูบันทึกสภาพอากาศ 90 วันก่อนที่ผู้ชายกลุ่มนี้จะเข้ามาเก็บสเปิร์ม 

ทีมวิจัยพบว่า ผู้ชายที่ต้องเผชิญกับความร้อนจัดในช่วง 3 เดือนก่อนเก็บสเปิร์มมีความเสี่ยงมีจำนวนอสุจิน้อยสูงกว่าถึง 46% และมีความเสี่ยงพบความเข้มข้นของสเปิร์มต่ำเพิ่มขึ้น 40% รวมทั้งสเปิร์มเคลื่อนไหวช้า โดยพบได้ชัดเจนในผู้ชายอายุ 25-35 ซึ่งเป็นวัยเจริญพันธุ์  

ซามูเอล กันเธอร์ นักวิจัยที่เป็นหนึ่งในทีมวิจัยเผยว่า “โดยปกติแล้วงานวิจัยหลายชิ้นชี้ว่าคุณภาพขอสเปิร์มจะลดลงเมื่อคนเราอายุมากขึ้น แต่สิ่งที่เราพบจากงานวิจัยชิ้นนี้คือ ผู้ชายที่อยู่ในวัยเจิรญพันธุ์ อายุระหว่าง 25-35 ปี ได้รับผลกระทบจากความร้อนมากที่สุด ดังนั้นอย่าคิดว่าคุณจะรอดเพียงเพราะว่าคุณยังหนุ่มแน่น และอย่าคิดว่าคุณไม่เสี่ยงจากผลกระทบนี้ หากมองไปข้างหน้า อากาศจะยิ่งร้อนกว่านี้ และนั่นคือสิ่งที่เราต้องจำให้ขึ้นใจในการวางแผนครอบครัว” 

นอกจากผู้ชายแล้ว ความร้อนยังส่งผลกระทบกับวงรอบการตกไข่และคุณภาพของไข่ขงผู้หญิงเช่นกัน  

Photo by Ted ALJIBE / AFP

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์