ล้ำหน้าไปอีก! สถาบันแพทย์อังกฤษใช้เทคโนโลยี AI วินิจฉัยความเสี่ยงโรคหัวใจ

6 ส.ค. 2567 - 06:13

  • เทคโนโลยีดังกล่าวจะใช้รังสีเอ็กซ์ร่วมกับเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ซึ่งช่วยให้ตรวจเจออาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบในกรณีที่ตรวจไม่เจอจากการทำซีทีสแกน (CT scans)

  • “เทคโนโลยีนี้ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญและครั้งใหญ่ เพราะเป็นครั้งแรกที่เราสามารถตรวจจับกระบวนการทางชีวภาพที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่าของมนุษย์ได้ ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดภาวะตีบและอุดตันภายในหัวใจ”

game-changer-ai-detects-hidden-heart-attack-risk-SPACEBAR-Hero.jpg

นักวิทยาศาสตร์ยกย่องเทคโนโลยีจำลองปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ช่วยระบุถึงความเสี่ยงของบุคคลต่ออาการหัวใจวายในอีก 10  ปีข้างหน้าว่าเป็น ‘การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่’ เทคโนโลยีดังกล่าวจะใช้รังสีเอ็กซ์ร่วมกับเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ซึ่งช่วยให้ตรวจเจออาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบในกรณีที่ตรวจไม่เจอจากการทำซีทีสแกน (CT scans) 

โครงการนำร่องนี้ได้รับการสนับสนุนจากบริการสุขภาพแห่งชาติของอังกฤษ (NHS England) ซึ่งกำลังดำเนินการในโรงพยาบาลในเครือ 5 แห่ง ได้แก่ ในอ็อกซ์ฟอร์ด มิลตันคีนส์ เลสเตอร์ ลิเวอร์พูล และวูล์ฟแฮมป์ตัน คาดว่าจะมีการตัดสินใจเกี่ยวกับการใช้งานเทคโนโลยีดังกล่าวภายใน NHS ภายในไม่กี่เดือนนี้ 

บริษัทคาร์ริสโต ไดแอกโนสติกส์ (Carristo Diagnostics) ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ กล่าวว่า บริษัทกำลังดำเนินการปรับใช้เทคโนโลยีเพื่อป้องกันโรคหลอดเลือดสมองและโรคเบาหวานด้วย 

“เทคโนโลยีนี้ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญและครั้งใหญ่ เพราะเป็นครั้งแรกที่เราสามารถตรวจจับกระบวนการทางชีวภาพที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่าของมนุษย์ได้ ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดภาวะตีบและอุดตันภายในหัวใจ” ศาสตราจารย์คีธ แชนนอน จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดกล่าว 

ผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บหน้าอกที่ถูกส่งตัวมาเพื่อทำการซีทีสแกนตามปกติ จะได้รับการวิเคราะห์การสแกนโดยใช้เทคโนโลยี ‘CaRi-Heart AI’ ของบริษัทคาร์ริสโต ไดแอกโนสติกส์ จากนั้นเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการฝึกอบรมจะประเมินอัลกอริทึมที่ตรวจจับการอักเสบของหลอดเลือดหัวใจและหินปูนบริเวณผนังหลอดเลือดหัวใจเพื่อตรวจสอบความแม่นยำ 

การวิจัยแสดงให้เห็นว่าการอักเสบที่เพิ่มขึ้นมีความเชื่อมโยงกับความเสี่ยงที่สูงขึ้นของโรคหลอดเลือดหัวใจและภาวะหัวใจวายที่ร้ายแรง 

องค์กรวิจัยโรคหัวใจอังกฤษ (BHF) ประมาณการว่ามีผู้คนประมาณ 7.6 ล้านคนที่ป่วยด้วยโรคหัวใจในสหราชอาณาจักร และค่าใช้จ่ายประจำปีของ NHS ในอังกฤษอยู่ที่ 7.4 พันล้านปอนด์ (ราว 3.3 แสนล้านบาท) โดยในแต่ละปีมีผู้ป่วยราว 350,000 รายที่ถูกส่งตัวไปทำการตรวจซีทีสแกนหัวใจในสหราชอาณาจักร 

การศึกษาของ ‘Orfan’ (Oxford Risk Factors and Non-invasive imaging) ที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยจำนวน 40,000 ราย และตีพิมพ์ในวารสาร ‘Lancet’ พบว่า 80% ของผู้คนถูกส่งกลับเข้าสู่การดูแลเบื้องต้นโดยไม่มีแผนการป้องกันหรือการรักษาที่ชัดเจน 

และจากการศึกษากลุ่มตัวอย่างของ ‘Orfan’ พบอีกว่า หากผู้ป่วยมีอาการหลอดเลือดหัวใจอักเสบ พวกเขาก็จะมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากโรคหัวใจเพิ่มขึ้น 20-30 เท่าในอีก 10 ปีข้างหน้า 

ทั้งนี้ การศึกษาที่ได้รับทุนจาก BHF พบว่า การใช้เทคโนโลยี AI ช่วยให้ผู้ป่วย 45% ได้รับการสั่งจ่ายยาหรือได้รับการสนับสนุนให้เปลี่ยนแปลงวิถีการใช้ชีวิตเพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อการเกิดอาการหัวใจวายในอนาคต 

เอียน พิคการ์ด วัย 58 ปี จากตำบลบาร์เวลล์ ในเมืองเลสเตอร์เชียร์ ได้ลงทะเบียนเข้าร่วมการศึกษา ‘Orfan’ ที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเลสเตอร์ในเครือ NHS Trust และถูกส่งตัวไปทำซีทีสแกนในเดือนพฤศจิกายน 2023 หลังจากประสบปัญหาอาการเจ็บหน้าอกเรื้อรัง โดยหลังจากการตรวจวิเคราะห์ด้วยระบบ AI ก็พบว่า พิคการ์ดมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการหัวใจวาย และเขาได้รับยาลดไขมันในเลือดกลุ่มสแตติน (statins) รวมถึงได้รับคำแนะนำให้เลิกสูบบุหรี่ และต้องออกกำลังกายบ่อยๆ

“เครื่องมือที่มีอยู่จนถึงขณะนี้ยังเป็นเพียงเครื่องมือพื้นฐาน เนื่องจากเครื่องคำนวณความเสี่ยงสามารถประเมินได้เฉพาะปัจจัยเสี่ยงทั่วไป เช่น ผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวาน สูบบุหรี่ หรือเป็นโรคอ้วน ตอนนี้ ด้วยเทคโนโลยี AI ประเภทนี้ เราจึงรู้แน่ชัดว่าผู้ป่วยคนใดมีอาการของโรคในหลอดเลือดแดงก่อนที่โรคจะลุกลามด้วยซ้ำ ซึ่งหมายความว่าเราสามารถดำเนินการรักษาได้ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อยุติกระบวนการของโรค และรักษาผู้ป่วยรายนี้เพื่อป้องกันไม่ให้โรคลุกลาม และป้องกันไม่ให้เกิดอาการหัวใจวายได้”

ศาสตราจารย์ชาราลัมโบส แอนโทเนียเดส หัวหน้าการศึกษาวิจัยของ ‘Orfan’ กล่าว

ขณะนี้สถาบันแห่งชาติเพื่อความเป็นเลิศด้านสุขภาพและการดูแล (NICE) กำลังประเมินเทคโนโลยีดังกล่าวเพื่อตัดสินใจว่าควรนำไปใช้งานใน NHS หรือไม่ นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาใช้งานในสหรัฐฯ ขณะที่ในยุโรป และออสเตรเลียได้รับการอนุมัติให้ใช้งานได้แล้ว

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์