ไขเคล็ดลับ ‘มายาโบราณ’ แนวคิดสุดอัจฉริยะที่ช่วยแก้ปัญหาวิกฤติน้ำในปัจจุบันได้

10 ธันวาคม 2566 - 23:00

genius-ancient-maya-water-trick-can-solve-future-water-crisis-SPACEBAR-Hero.jpg
  • เปิดแนวคิด ‘แก้วิกฤตน้ำ’ สุดอัจฉริยะที่ต้องย้อนเวลากลับไปถึง 1 พันปีของอาณาจักรที่เคยรุ่งเรือง ‘มายาโบราณ’

  • จากแนวคิด ‘อ่างเก็บน้ำมายา’ ปูทางไปสู่ ‘บึงประดิษฐ์’ (CWs)

ปัจจุบัน ผู้คนประมาณ 2 พันล้านคนทั่วโลกไม่สามารถเข้าถึงน้ำดื่มที่ปลอดภัย และประชากรประมาณครึ่งหนึ่งของโลกกำลังประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรงเป็นเวลาอย่างน้อยในช่วงหนึ่งปี โดยจากข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ (UN) ระบุว่า ตัวเลขเหล่านี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้น ทั้งยังจะรุนแรงขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเติบโตของประชากรด้วย 

ตัวอย่างเช่น การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลที่เกิดจากสภาพภูมิอากาศนั้นคาดว่าจะขยายความเค็มของน้ำใต้ดิน จนส่งผลให้ความเพียงพอของน้ำจืดสำหรับมนุษย์และระบบนิเวศในพื้นที่ชายฝั่งทะเลลดลง นอกจากนี้ คุณภาพน้ำยังได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากอุณหภูมิของน้ำที่สูงขึ้น รวมถึงน้ำท่วมและความแห้งแล้งที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งมากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะทำให้มลพิษทางน้ำหลายรูปแบบรุนแรงขึ้น

สืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบที่เป็นอันตรายจึงทำให้ในขณะนี้ มีน้ำบนโลกเพียง 0.5% เท่านั้นที่สามารถหามาและนำมาใช้ได้

แต่ทว่านักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ เออร์แบนา-แชมเปญจน์ได้ออกมาสนับสนุนแนวคิดที่พวกเขาคิดว่ามันจะสามารถช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ และมันไม่ใช่เรื่องใหม่ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วแนวคิดดังกล่าวนั้นต้องย้อนกลับไปถึง ‘อารยธรรมมายาโบราณ’ ในช่วงคริสตศักราช 600-800 เลยทีเดียวล่ะ 

แนวคิดโบราณสุดเจ๋งปูทางแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ

genius-ancient-maya-water-trick-can-solve-future-water-crisis-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: Louis le Grand~commonswiki / Wikipedia

เป็นที่ทราบกันดีในเรื่องราวประวัติศาสตร์ว่าชาวมายาจะสร้าง ‘อ่างเก็บน้ำ’ เพื่อจัดหาน้ำดื่มให้กับผู้คนหลายหมื่นคนในเมืองต่างๆ ในช่วงฤดูแล้ง อย่างไรก็ดี แม้ในช่วงฤดูแล้งที่ยืดเยื้อยาวนาน อ่างเก็บน้ำก็จะอาศัยพืชน้ำในการกรองและทำความสะอาดน้ำ ซึ่งปัจจุบันนี้เรียกว่า ‘ระบบบำบัดน้ำเสียแบบบึงประดิษฐ์ หรือพื้นที่ชุ่มน้ำที่สร้างขึ้น’ (constructed wetlands / CWs) ขณะเดียวกัน ลิซา ลูเซโร ผู้เขียนการศึกษาและศาสตราจารย์มานุษยวิทยาเองก็เสนอว่า ‘โลกสมัยใหม่ต้องการบึงประดิษฐ์มากกว่านี้ ถึงจะรอดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและโลกที่ร้อนขึ้นเรื่อยๆ’ 

“อ่างเก็บน้ำที่มีการจัดการอย่างดีจะทำหน้าที่ในลักษณะเดียวกับบึงประดิษฐ์สมัยใหม่ ซึ่งอาศัยกระบวนการทางกายภาพและชีวภาพในการกรองน้ำด้วยการเรียงรายทรายซีโอไลท์ภูเขาไฟ โดยไม่ต้องบำบัดน้ำด้วยวิธีการทางเคมี (chemical treatment)” ลูเซโรบอก นอกจากนี้ ชาวมายาโบราณจะใช้พืชน้ำหลากหลายชนิดรวมถึงธูปฤาษี (หรือกกช้าง / cattails) พืชวงศ์กก และดอกบัว มาใช้ในการกรองน้ำ ลดความขุ่น ดูดซับไนโตรเจนและฟอสฟอรัส 

ด้วยความที่อาณาจักรมายามีศูนย์กลางอยู่ในเมโสอเมริกา (Mesoamerica) จึงทำให้มายาประสบกับฤดูแล้งประจำปีซึ่งกินเวลานานประมาณ 5 เดือน ในช่วงนั้น ระดับแม่น้ำจะลดลงจนขุ่นมัวและเต็มไปด้วยเชื้อโรค “เพื่อชดเชยการขาดแคลนน้ำตามฤดูกาล บรรพบุรุษของชาวมายาจึงได้สร้างอ่างเก็บน้ำไว้ซึ่งเป็นแหล่งน้ำหลักในฤดูแล้ง” ลูเซโรกล่าวพร้อมตั้งข้อสังเกตว่า ‘อ่างเก็บน้ำเหล่านี้ได้ค้ำจุนอาณาจักรมายามานานกว่าพันปีแล้ว’

สำหรับอ่างเก็บน้ำที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งคือ ‘อ่างเก็บน้ำที่จ่ายให้กับเมืองติกัล’ ซึ่งสามารถกักเก็บน้ำได้มากกว่า 900,000 ลูกบาศก์เมตร โดยตามการคำนวณของลูเซโรพบว่า สิ่งนี้มันเพียงพอต่อความต้องการดื่มน้ำ การซักล้าง และการทำอาหารประจำวันของผู้คน 80,000 คนที่ครอบครองพื้นที่แห่งนี้ในช่วงที่อาณาจักรรุ่งเรือง

ทั้งนี้ หลักฐานบ่งชี้ว่าอ่างเก็บน้ำมายาจัดหาน้ำดื่มให้กับผู้คนมานานกว่า 1,000 ปี แต่จะล้มเหลวก็ต่อเมื่อเกิดภัยแล้งที่รุนแรงที่สุดในภูมิภาคช่วงระหว่างคริสตศักราช 800-900

โดยในการวิจัยของลูเซโรบอกว่า “แนวโน้มสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันจะต้องใช้แนวทางเดียวกันกับมายาหลายประการ รวมถึงการใช้พืชน้ำเพื่อปรับปรุงและรักษาคุณภาพน้ำตามธรรมชาติ”

ลูเซโรกล่าวว่า “บึงประดิษฐ์ของมายามีข้อได้เปรียบเหนือระบบบำบัดน้ำเสียทั่วไปหลายประการ เพราะเทคโนโลยีการบำบัดที่ประหยัด เทคโนโลยีต่ำ ราคาไม่แพง และประหยัดพลังงานสูง…ส่วนขั้นตอนต่อไปคือการนำแนวคิดอ่างเก็บน้ำของชาวมายาโบราณมาประยุกต์ใช้”  

“เพื่อตอบสนองความต้องการน้ำในปัจจุบันและอนาคต บึงประดิษฐ์ที่คล้ายกับที่ชาวมายาสร้างขึ้นนั้นสามารถช่วยให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติข้อที่ 6 เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงน้ำสะอาดได้...บึงประดิษฐ์ไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีหรือเชื้อเพลิงฟอสซิลในการบำรุงรักษา ทั้งนี้ นอกเหนือจากการสร้างบึงประดิษฐ์ขนาดต่างๆ แล้ว ครอบครัวและชุมชนยังสามารถเปลี่ยนสระว่ายน้ำหลายล้านแห่งในสหรัฐฯ ให้เป็นบึงประดิษฐ์ได้อีกด้วย” ลูเซโรอธิบาย 

ในการทำเช่นนั้น ลูเซโรยังบอกอีกว่า “เราอาจ ‘เพิ่มโอกาส’ ของเราในการหลีกเลี่ยงชะตากรรมที่อารยธรรมมายาต้องทนทุกข์ทรมาน ซึ่งท้ายที่สุดก็ต้องยอมจำนนต่อ ‘ความแห้งแล้ง’ อย่างรุนแรง”

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์