ค่ายเดิมแต่ชื่อใหม่  สหรัฐฯ เปลี่ยนชื่อค่ายลบ ปวศ. 

13 พ.ค. 2566 - 02:41

  • กองทัพสหรัฐฯ เปลี่ยนชื่อค่ายทหารใหญ่ๆ ทั้งหมด 9 ค่ายที่เคยใช้ชื่อของนายพลและผู้นำของรัฐฝ่ายใต้ (Confederacy) ที่เกี่ยวข้องกับการแบ่งแยกสีผิวในอดีต เพื่อกำจัดสัญลักษณ์ที่ถูกมองว่าเหยียดเชื้อชาติ

  • สหรัฐฯ เกิดกระแสต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติอย่างหนักหลังการเสียชีวิตของ จอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวสีที่เสียชีวิตเพราะตำรวจใช้กำลังเกินกว่าเหตุระหว่างจับกุม 

georgia-fort-benning-renamed-fort-moore-confederate-SPACEBAR-Hero
เมื่อกว่า 3 ปีที่แล้วไทยมีการเปลี่ยนแปลงชื่อค่ายทหารจาก ‘ค่ายพหลโยธิน’ เป็นค่ายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิต หรือ  ‘ค่ายภูมิพล’ ส่วน ‘ค่ายพิบูลสงคราม’ เป็นค่ายสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง หรือ ‘ค่ายสิริกิติ์’   

ที่สหรัฐฯ ก็ดำเนินการเปลี่ยนชื่อค่ายทหารใหญ่ๆ ทั้งหมด 9 ค่ายที่เคยใช้ชื่อของนายพลและผู้นำของรัฐฝ่ายใต้ (Confederacy) ที่เกี่ยวข้องกับการแบ่งแยกสีผิวในอดีต ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญเปลี่ยนชื่อค่ายของกองทัพตามคำแนะนำของคณะกรรมาธิการการตั้งชื่อของสภาคองเกรส โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำจัดสัญลักษณ์ที่จะเป็นการรำลึกถึงสมาพันธรัฐอเมริกา (Confederate States of America) และการเหยียดเชื้อชาติและกดขี่คนผิวดำในอดีต  

ในอดีตการใช้แรงงานทาสและการเหยียดผิวของสหรัฐฯ เป็นสาเหตุของสงครามกลางเมืองระหว่างรัฐทางเหนือกับรัฐทางใต้ในช่วงปี 1861-1865 โดยรัฐทางใต้ อาทิ เซาท์แคโรไลนา ฟลอริดา แอละแบมา จอร์เจีย ลุยเซียนา มิสซิสซิปปี เทกซัส เวอร์จิเนีย นอร์ทแคโรไลนา เทนเนสซี และอาร์คันซอ สนับสนุนการใช้แรงงานทาส บรรดาทหารฝ่ายใต้ต่างสั่งสมความมั่งคั่งจากการค้าทาสผิวดำ  

หลังสิ้นสุดสงครามที่ทหารฝ่ายเหนือเป็นผู้ชนะ ประธานาธิบดี อับราฮัม ลินคอล์น ตัดสินใจออกพระราชบัญญัติเลิกทาสปี 1862 ที่มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 1863 โดยใช้กับสมาพันธรัฐแห่งอเมริกา ต่อมาสภาคองเกรสมีมติผลักดันบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมในรัฐธรรมนูญมาตรา 13 ระบุให้เลิกทาสถาวรทั่วประเทศในปี 1865
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/5LHA6HETquPKA3CcJjE54m/b94d393fff0d78a9efdbf558ba35c3d6/georgia-fort-benning-renamed-fort-moore-confederate-SPACEBAR-Photo01
Photo: SAUL LOEB / AFP
สัญลักษณ์อย่างหนึ่งของฝ่ายใต้ในการทำสงครามก็คือ ธงสมาพันธรัฐอเมริกา (Confederate Flag) ธงที่มีพื้นสีแดงและรูปกากบาทสีน้ำเงินซึ่งมีดาว 13 ดวงแทนรัฐทั้ง 13 ของฝ่ายใต้ ทว่าหลังสิ้นสุดสงครามการเมือง ชาวอเมริกันจำนวนมากมองว่าธงนี้เป็นสัญลักษณ์ของการเหยียดเชื้อชาติและการกดขี่คนผิวดำ  

หลังจากเกิดเหตุการณ์กราดยิงคนดำในโบสถ์เมื่อ 2015 จนเกิดการประท้วงในหลายรัฐ บรรดาบริษัทเอกชนอย่างกูเกิลช็อปปิ้ง วอลมาร์ท อีเบย์ และเซียร์ส ต่างทยอยยกเลิกจำหน่ายธงเจ้าปัญหานี้   

กระแสการเหยียดเชื้อชาติกลับมารุนแรงอีกครั้งหลังการเสียชีวิตของ จอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวดำที่ถูกเจ้าหน้าที่ใช้เข่ากดบริเวณลำคอจนขาดอากาศหายใจในรัฐมินนิโซตา ที่ปลุกให้ชาวอเมริกันลุกฮือประท้วงทั่วประเทศอีกครั้งจนเกิดแฮชแท็ก #BlackLivesMatter   

หลังจากนั้นทั้งธงสมาพันธรัฐอเมริกาและรูปปั้นบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการเหยียดเชื้อชาติก็ถูกปลดและทุบทำลาย เช่น รูปปั้นของ เจฟเฟอร์สัน เดวิส อดีตประธานาธิบดีของกลุ่มรัฐฝ่ายใต้ รูปปั้นของนายพล โรเบิร์ต อี. ลี ผู้บัญชาการกองทัพฝ่ายใต้   

เดือนกรกฎาคม 2020 กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ออกประกาศแบนการใช้ธงสมาพันธรัฐอเมริกาในกองทัพ หลังจากมีนโยบายยกเลิกการประดับ ‘สัญลักษณ์แห่งความแตกแยก’ และหลังจากนั้นนาสคาร์ สมาคมแข่งรถอาชีพของสหรัฐฯ ก็ปลดธงสมาพันธรัฐอเมริกาออกจากสนามแข่งจนหมด ทั้งที่ผูกพันอยู่กับรัฐทางใต้มายาวนาน ตามมาด้วยการที่ HBO ถอดภาพยนตร์เรื่อง Gone With The Wind ที่เคยได้รับรางวัลออสการ์ออกจากรายการ โดยให้เหตุผลว่าภาพยนตร์เรื่องนี้สื่อถึงการแบ่งแยกสีผิวและชนชั้นในสหรัฐฯ   

นอกจากนี้ สภาคองเกรสยังไฟเขียวให้กระทรวงกลาโหมเปลี่ยนชื่อค่ายทหาร 9 ค่าย รวมทั้งเรือ และถนนต่างๆ  ล่าสุดคือการเปลี่ยนชื่อค่ายฝึกทหารในรัฐจอร์เจียจาก ‘ค่ายเบนนิง’ (Fort Benning) เป็น ‘ค่ายมัวร์’ (Fort Moore) เพื่อเป็นเกียรติแก่ ฮัล มัวร์ ผู้บัญชาการกองพันทหารม้าประจำสงครามเวียดนาม และจูเลีย มัวร์ ภรรยาของฮัล ที่ล็อบบี้ให้เพนตากอนแจ้งข่าวการเสียชีวิตของทหารที่ไปรบเป็นการส่วนตัวแทนการใช้โทรเลข  

ส่วนชื่อเดิมตั้งตามชื่อของ เฮนรี แอล. เบนนิง ตุลาการศาลฎีกาของจอร์เจียที่สนับสนุนการแกตัวออกจากรัฐบาลกลางสหรัฐฯ หลัง อับราฮัม ลินคอล์น ชนะการลือกตั้งในปี 1860 โดยเบนนิงเข้าร่วมกับกองทัพรัฐฝ่ายใต้ในสงครามกลางเมืองและได้เลื่อนยศเป็นพันเอก  

ก่อนหน้านี้มีการเปลี่ยนชื่อค่ายไปแล้วหลายค่าย อาทิ ค่ายพิคเก็ตต์ (Fort Pickett) ในรัฐเวอร์จิเนียเปลี่ยนเป็นค่ายบาร์ฟุต (Fort Barfoot) ค่ายฮูด (Fort Hood) ในรัฐเท็กซัสเป็นค่ายคาวาซอส และกำลังจะเปลี่ยนอีกหลายค่าย เช่น ค่ายแบรกก์ (Fort Bragg) ในรัฐนอร์ทแคโรไลนาเป็นค่ายลิเบอร์ตี (Fort Liberty) ค่ายกอร์ดอน (Fort Gordon) นอกเมืองออกัสตาจะถูกตั้งตามชื่อของอดีตประธานาธิบดี ดไวท์ ไอเซนฮาวร์  

รวมทั้งค่ายลี (Fort Lee) และค่ายเอ.พี.ฮิลล์ (Fort A.P.Hill) ในรัฐเวอร์จิเนีย ค่ายรัคเกอร์ (Fort Rucker) ในรัฐแอละแบมา ค่ายโพล์ค (Fort Polk) ในรัฐลุยเซียนา  

อ้างอิง: Fort Bragg to be renamed Fort Liberty among Army bases losing Confederate names 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์