สงครามทางทะเลระหว่างประเทศมหาอำนาจในอนาคตน่าจับตามอง ล่าสุดล้ำไปถึงขั้นที่เริ่มพัฒนา “โดรนใต้น้ำ” มาใช้ในการป้องกันทางทะเลโดยเฉพาะในแปซิฟิกกันแล้ว
เมื่อเร็วๆ นี้ออสเตรเลียและสหรัฐฯ เพิ่งเปิดตัวยานปฏิบัติการใต้น้ำไร้คนขับ (UUV) หรือโดรนตัวต้นแบบนั่นคือ Ghost Shark และ Manta Ray ที่ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าอาจถูกนำมาใช้ในการทำสงครามทางทะเลที่แสดงแสนยานุภาพได้เต็มที่โดยไม่ต้องเอาชีวิตมนุษย์ไปเสี่ยง
การใช้โดรนในการสู้รบกันทางอากาศกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว สหรัฐฯ นำมาใช้อย่างกว้างขวางระหว่างทำสงครามในอิรักและอัฟกานิสถานที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ทศวรรษ 1990 และโดรนรุ่นใหม่ๆ ที่ราคาต่ำกว่ายังกลายเป็นอาวุธทางการทหารหลักในสงครามรัสเซีย-ยูเครน นอกจากนี้ ยูเครนยังสร้างโดรนผิวน้ำที่สร้างความเสียหายอย่างหนักให้กับกองเรือทะเลดำของรัสเซียที่ใหญ่กว่า
แม้ว่าทั้งโดรนทางอากาศและโดรนผิวน้ำจะควบคุมได้จากดาวเทียมและคลื่นแสงและคลื่นวิทยุ แต่ไม่สามารถควบคุมจากใต้น้ำลึกๆ
การศึกษาเมื่อปี 2023 ที่เผยแพร่ในวารสาร Sensor ของสวิตเซอร์แลนด์ชี้ว่า การสื่อสารใต้น้ำต้องใช้พลังงานมากกว่า แต่ก็ยังเกิดการสูญเสียข้อมูลอย่างมีนัยสำคัญต่อตัวแปรต่างๆ รวมทั้งอุณหภูมิของน้ำ ความเค็ม และความลึก ซึ่งผู้ผลิตโดนทางการทหารรุ่นใหม่ๆ ยังไม่เปิดเผยว่าจะแก้ปัญหาการสื่อสารเหล่านี้อย่างไร
ตอนเปิดตัว Ghost Shark เมื่อเดือนที่แล้ว ออสเตรเลียเรียกโดรนต้นแบบของตัวเองว่า “ยานพาหนะอัตโนมัติใต้ทะเลที่ทันสมัยที่สุด”
แถลงการณ์ของกระทรวงกลาโหมออสเตรเลียระบุว่า “Ghost Shark จะทำให้กองทัพเรือมีศักยภาพในการทำสงครามใต้ทะเลแบบล่องหนและควบคุมได้จากระยะไกล ซึ่งสามารถทำงานด้านการข่าวกรอง การตรวจตรา และลาดตระเวน (ISR) และโจมตี” โดยออสเตรเลียคาดว่าจะส่งมอบโดรนล็อตแรกภายในสิ้นปีหน้า
เจ้าหน้าที่ออสเตรเลียและคนจาก Anduril Australia บริษัทผู้ผลิตเผยว่า ยังไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลสเปคของ Ghost Shark เนื่องจากยังเป็นความลับ โดยบอกเพียงว่าจากการวางแนวคิดไปจนถึงขั้นตอนของการทดสอบใช้เวลาเพียง 2 ปีเท่านั้น
เชน อาร์นอตต์ รองประธานอาวุโสของ Anduril Australia เผยว่า “การสำเร็จก่อนเวลาและงบไม่บานปลายเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นมาก่อน” ส่วน ทันยา มอนโร หัวหน้าฝ่ายวิทยาศาสตร์กลาโหมของออสเตรเลียกล่าวว่า “การส่งมอบ Ghost Shark ตัวต้นแบบก่อนกำหนดสร้างมาตรฐานใหม่”
เอ็มมา ซอลส์บิวรี นักวิจัยจากสภาภูมิยุทธศาสตร์ในอังกฤษเผยว่า Ghost Shark เหมือนกับ Orca ยานปฏิบัติการใต้น้ำไร้คนขับขนาดใหญ่ที่พัฒนาโดยสหรัฐฯ ในแง่ของการปฏิบัติภารกิจ อาทิ ข่าวกรอง การตรวจตรา การลาดตระเวน และการโจมตี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการต่อต้านเรือดำน้ำ
ข่าวประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับตัวต้นแบบของ Orca เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา กองทัพเรือสหรัฐฯ ระบุว่าโดรน Orca เป็น “เรือดำน้ำดีเซล-ไฟฟ้าไร้คนขับที่ล้ำสมัย ที่มีอุปกรณ์ติดตั้งเพิ่มเติมที่แยกชิ้นส่วนได้สำหรับภารกิจต่างๆ กัน”
การมีอุปกรณ์ติดตั้งเพิ่มเติมที่แยกชิ้นส่วนได้หมายความว่า ในทางทฤษฎี Orca สามารถบรรทุกอาวุธได้หลากหลายขึ้นอยู่กับภารกิจ และยังติดตั้งอุปกรณ์พิเศษสำหรับการลาดตระเวนหรือรวบรวมข่าวกรอง
กองทัพเรือสหรัฐฯ ระบุอีกว่า กระทรวงกลาโหมจะซื้อโดรนใต้น้ำเพิ่มอีก 5 ลำ แต่ไม่ได้ระบุรายละเอียดเรื่องเวลา แต่ Orca อยู่ในขั้นตอนของการดำเนินการมากว่า 10 ปีแล้ว ขณะที่ออสเตรเลียใช้เวลาในการพัฒนา Ghost Shark ไม่กี่ปีเท่านั้น
คริส โบรส หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายกลยุทธ์ของ Anduril เผยว่า ทางบริษัทและออสเตรเลียกำลังอยู่ในขั้นตอนการพิสูจน์ว่า “ศักยภาพในระดับนี้สามารถสร้างได้เร็วกว่า ต้นทุนถูกกว่า และอัจฉริยะกว่า”

ทดสอบ Manta Ray
Orca ไม่ใช่โดรนใต้น้ำลำเดียวที่สหรัฐฯ พัฒนา โดรนใต้น้ำตัวล่าสุดของสหรัฐฯ คือ Manta Ray ของบริษัท Northrop Grumman ตัวต้นแบบที่เพิ่งทดสอบที่เซาเทิร์นแคลิฟอร์เนียไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคมที่ผ่านมา
สำนักงานโครงการวิจัยขั้นสูงทางความมั่นคง (DARPA) หน่วยงานของเพนตากอนที่รับผิดชอบด้านการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ระบุว่า จุดแข็งของ Manta Ray อยู่ที่การแยกชิ้นส่วนอุปกรณ์ติดตั้งที่ทำให้ปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับแต่ละภารกิจได้ Manta Ray สามารถแยกออกมาเป็นส่วนๆ แล้วนำใส่ตู้ขนส่งขนาดมาตรฐาน 5 ตู้ เพื่อขนส่งไปยังจุดที่จะประจำการ แล้วประกอบใหม่ในสนามได้เลย
ไคล์ เวอร์เนอร์ หัวหน้าโครงการ Manta Ray ของ DARPA เผยว่า “การแยกชิ้นส่วนเพื่อความสะดวกต่อการขนส่งข้ามประเทศ การประกอบใหม่หน้างาน แล้วใช้งานได้เลย แสดงให้เห็นถึงสมรรถนะที่ไม่เคยมีมาก่อนในโดรนใต้น้ำขนาดใหญ่” ที่สำคัญคือ การขนส่งแบบแยกชิ้นส่วนทำให้ Manta Ray เก็บพลังงานไว้สำหรับปฏิบัติภารกิจ แทนที่จะใช้ในการเดินทางไปยังจุดที่จะประจำการ
และเช่นเดียวกับ Orca โดรน Manta Ray ใช้เวลาในการพัฒนาไม่เร็วแบบ Ghost Shark โครงการของ Manta Ray เริ่มในปี 2020 และ DARPA ไม่ได้ตั้งเป้าให้ Manta Ray หรือโดรนอื่นๆ บางรุ่น เข้าร่วมประจำการกับกองเรือสหรัฐฯ
ซอลส์บิวรีเผยอีกว่า นอกจากสหรัฐฯ และออสเตรเลีย จีนก็กำลังพัฒนาโดรนใต้น้ำล้ำสมัยเช่นกัน แต่รายละเอียดค่อนข้างหายาก โดยจีนพัฒนาโดรนใต้น้ำมาอย่างน้อย 15 ปีแล้ว และตอนนี้น่าจะมีโดรนคล้ายๆ กับ Orca (แต่มีตอร์ปิโด) อยู่ในขั้นตอนการทดสอบ
เอช ไอ ซัตตัน ผู้เชี่ยวชาญด้านเรือดำน้ำเขียนไว้ในเว็บไซต์ Covert Shores ว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลข่าวกรองที่เผยแพร่อย่างถูกกฎหมาย จีนน่าจะกำลังพัฒนาโดรนใต้น้ำขนาดใหญ่อย่างน้อย 6 ลำ
ซัตตันบอกว่า นอกจากออสเตรเลีย สหรัฐฯ และจีนแล้ว ประเทศอื่นๆ ที่กำลังพัฒนาโดรนใต้น้ำ ได้แก่ แคนาดา ฝรั่งเศส อินดีย อิหร่าน อิสราเอล เกาหลีเหนือ นอร์เวย์ รัสเซีย เกาหลีใต้ ยูเครน และสหราชอาณาจักร
Northrop Grumman/Defense Advanced Research Projects Agency