จากกระทู้ Pantip เรื่อง “จากใจนายจ้าง ทำไมผมถึงเลือกจ้างแต่คน ‘ม.ดัง’ และทำไมปฏิเสธคนจบ ‘ม.ไม่ดัง’” จนเกิดการถกเถียงกันอีกครั้งในโลกออนไลน์ของบ้านเรา เรื่องนี้มีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดที่จะบอกเราได้ว่าคนจบ ‘ม.ดัง’ ทำงานดีกว่าคนจบ ‘ม.ไม่ดัง’ จริงอย่างที่นายจ้างบางคนเข้าใจมั้ย
ปกติแล้วฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ (HR) จะพิจารณาเลือกคนเข้ามาทำงานจากหลายปัจจัย อาทิ ประสบการณ์ การฝึกอบรมต่างๆ มนุษยสัมพันธ์กับคนอื่น บุคลิกลักษณะ ไอคิว อีคิว จริยธรรมในการทำงาน แต่พอมีคนส่งใบสมัครมาเยอะๆ ก็คงไม่ไหวจะดู สุดท้ายบางแห่งก็จบลงด้วยการคัดเลือกเอาจากอันดับของมหาวิทยาลัยที่ผู้สมัครคนนั้นๆ จบมา
หากบอกว่ามหาวิทยาลัยที่ดีกว่าจะดึงดูดนักศึกษาที่ดีกว่าและให้การฝึกอบรมที่ดีกว่ามหาวิทยาลัยอื่นๆ ดังนั้นก็สมเหตุสมผลที่จะใช้อันดับมหาวิทยาลัยเป็นตัวทำนายประสิทธิภาพของพนักงาน นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมนายจ้างให้เงินเดือนพนักงานที่จบจากมหาวิทยาลัยดังๆ สูงกว่า แต่นี่คือกลยุทธ์การคัดเลือกพนักงานที่ดีจริงหรือไม่? อันดับของมหาวิทยาลัยจะการันตีประสิทธิภาพการทำงานได้มั้ย? การวิจัยของฮาร์วาร์ดบอกว่า “ใช่” แต่ก็ต่างกันเล็กน้อยเท่านั้น
ทำไมคนจบ ม.ดังทำงานดีกว่า
การวิจัยของนักวิจัยฮาร์วาร์ดลงมือทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างอันดับของมหาวิทยาลัยกับประสิทธิภาพการทำงานของคนที่เรียนจบแล้วด้วยการติดตามประสิทธิภาพการทำงานของนักศึกษา 28,339 คนจาก 294 มหาวิทยาลัยใน 79 ประเทศเป็นเวลา 2 เดือน โดยนักศึกษาทั้งหมดนี้มาจาก 294 มหาวิทยาลัยที่อยู่ในอันดับท็อป 10 ถึงท็อป 20,000 ในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยทั่วโลก Webometrics กว่า 30,000 มหาวิทยาลัย
นอกจากจะพิจารณาเรื่องคุณภาพของงานที่ออกมาแล้ว ยังดูไปถึงความสามารถอื่นๆ ด้วย เช่น ความร่วมมือระหว่างสมาชิกในทีม ความเป็นผู้นำ ความคล่องแคล่วด้านภาษา ทักษะด้านเทคนิคต่างๆ ความฉลาดทางอารมณ์ ความคิดสร้างสรรค์ และอื่นๆ โดยควบคุมอายุ เพศ ปีที่ศึกษา
ทีมวิจัยพบว่า คนที่จบจากมหาวิทยาลัยอันดับต้นๆ ทำงานได้ดีกว่า แต่ก็ดีกว่าเล็กน้อยเท่านั้นและดีกว่าเฉพาะในบางมิติของประสิทธิภาพการทำงาน หรือพูดกว้างๆ ก็คือ ประสิทธิภาพการทำงานโดยรวมดีกว่าเพียง 1.9% สำหรับทุกๆ 1,000 ตำแหน่งในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยทั่วโลกของ Webometrics เมื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพการทำงานของคนที่จบจากมหาวิทยาลัยระดับท็อปกับคนที่จบจากมหาวิทยาลัยในระดับ “กลางๆ” ความต่างของประสิทธิภาพการทำงานกระโดดไปอยู่ที่ 19%
ความต่าง 19% นี้ดูเหมือนจะมาก แต่ต้องไม่ลืมว่าตัวเลขนี้มาจากคนที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยที่อันดับห่างกันถึง 10,000 อันดับ แต่ในองค์กรนั้นพนักงานจะถูกเลือกจากกลุ่มตัวเลือกที่แคบกว่า บางทีอาจมาจากมหาวิทยาลัยที่อันดับห่างกันไม่กี่ร้อยอันดับ หากมองในแง่ของความเป็นจริงความต่างของประสิทธิภาพการทำงานอาจมีอยู่ไม่ถึง 1%
ทีมวิจัยของฮาร์วาร์ดพบว่ามีหลายเหตุผลที่คนที่จบจากมหาวิทยาลัยอันดับท็อปๆ ทำงานได้ดีกว่าคนที่จบจากมหาวิทยาลัยในอันดับต่ำกว่า อย่างแรกเลยคือ การคัดเลือก มหาวิทยาลัยอันดับต้นๆ สามารถเลือกนักศึกษาที่จะเข้าเรียนได้จากตัวเลือกกลุ่มใหญ่ ทำให้มีการแข่งขันสูง คลาสเรียนที่จะเกิดขึ้นก็มีคุณภาพ
เพื่อให้เห็นภาพการคัดเลือกชัดขึ้น ข้อมูลของทีมวิจัยบ่งชี้ว่า นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยอันดับต้นๆ ได้คะแนนสูงในการทดสอบความสามารถทั่วไป มีประสบการณ์ในระดับนานาชาติมากกว่า พูดภาษาอังกฤษคล่องกว่า มีความฉลาดทางวัฒนธรรมสูงกว่า อย่างไรก็ดี ทักษะและความสามารถเหล่านี้อาจมีอยู่ก่อนเข้าเรียนมหาวิทยาลัยแล้วก็ได้ ดังนั้นจึงไม่ใช่ผลจากการเรียนมหาวิทยาลัย
อย่างที่สองคือ มหาวิทยาลัยอันดับต้นๆ ให้การฝึกฝนอบรมที่ดีกว่า เพราะสามารถจ้างผู้สอนที่ดีกว่า มีอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกให้มากกว่า ดึงดูดวิทยากรหรือแขกคนดังมาที่มหาวิทยาลัยได้ดีกว่า ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะนำมาสู่การฝึกอบรมที่ดีขึ้นและประสิทธิภาพที่ตามมา และข้อมูลของทีมวิจัยบ่งชี้ว่า นักศึกษาในมหาวิทยาลัยที่มีอันดับสูงกว่าจะได้คะแนนสูงกว่าในด้านความสามารถซึ่งอาจเป็นผลมาจากการฝึกอบรมที่ดีขึ้น เช่น ทักษะการเขียนเชิงเทคนิคและเชิงธุรกิจที่เหนือกว่า มีความรู้มากขึ้นในวิชาที่เกี่ยวข้องกับโครงการธุรกิจ และได้คะแนนสูงกว่าในด้านความเป็นผู้นำและการประสานงานในทีม
อย่างสุดท้ายคือ แม้เราอาจจะคาดหวังได้ว่ามหาวิทยาลัยระดับท็อปอาจสร้าง ที่กระตุ้นได้มากขึ้น ผลการวิจัยของฮาร์วาร์ดพบว่า สภาพแวดล้อมของมหาวิทยาลัยอาจไม่ได้มีส่วนในการกระตุ้นประสิทธิภาพการทำงาน คนที่จบจากมหาวิทยาลัยที่อันดับต่ำกว่าก็มีแรงกระตุ้นและจริยธรรมในการทำงานอยู่ในระดับเดียวกับคนที่จบจากมหาวิทยาลัยอันดับท็อป เรื่องนี้จึงน่าจะขึ้นอยู่กับบุคลิกลักษณะและปัจจัยส่วนบุคคลมากกว่า
ข้อเสียของการจ้างคนจบ ม.ดัง
นอกจากประสิทธิภาพโดยรวมที่ดีกว่าเล็กน้อย การจ้างคนที่จบจากมหาวิทยาลัยระดับท็อปอาจมีข้อเสียอยู่บ้าง คนที่จบจากมหาวิทยาลัยดังอาจทำให้ความสัมพันธ์ของสมาชิกในทีม (team dynamics) ซึ่งจะส่งผลต่อประสิทธิภาพของงานเสียหาย ซึ่งบางครั้งอาจเกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ
ทีมวิจัยของฮาร์วาร์ดพบว่า คนที่จบจากมหาวิทยาลัยดังมีแนวโน้มจะให้ความสำคัญกับงานที่จะทำให้ตัวเองเป็นส่วนสำคัญมากเกินไป จนละเลยความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกคนอื่นๆ ในทีม บางครั้งคนที่จบจากมหาวิทยาลัยดังก็มีแนวโน้มที่จะไม่ค่อยเป็นมิตร มีโอกาสเกิดความขัดแย้ง และมีแนวโน้มเข้ากับทีมไม่ได้
งานวิจัยหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่าความสัมพันธ์กับคนอื่นในที่ทำงานมีส่วนสำคัญต่อแรงบันดาลใจของพนักงาน ความพึงพอใจในงาน และที่สำคัญคือ ประสิทธิภาพการทำงานและการประสบความสำเร็จในอาชีพการงาน และการขาดความร่วมมือระหว่างคนในองค์กรและแนวโน้มที่จะเกิดความขัดแย้งอาจส่งผลเสียไม่เพียงแต่ต่อประสิทธิภาพส่วนบุคคลเท่านั้น แต่ยังรวมถึงประสิทธิภาพของทีมและกลุ่มงานด้วย ซึ่งอาจนำไปสู่การขาดทุนในภาพรวมได้เลยทีเดียว
อย่างก็ดี แม้ว่าคนที่จบจากมหาวิทยาลัยระดับท็อปๆ จะทำงานได้ดีกว่าเล็กน้อย ข้อมูลจาก Payscale และกระทรวงศึกษาธิการสหรัฐฯ แสดงให้เห็นว่า คนเหล่านี้มีค่าตัวสูงกว่าเพื่อน เช่น เงินเดือนเฉลี่ยของคนจบใหม่ที่จบจากมหาวิทยาลัยอันดับท็อป 10 ในสหรัฐฯ (72,160 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 2,581,379 บาท) สูงกว่าคนที่จบจากระบบมหาวิทยาลัยของเมืองนิวยอร์ก (CUNY) 47% (48,960 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1,752,278 บาท) ซึ่งมหาวิทยาลัยเหล่านี้หลายแห่งอยู่ในอันดับท็อป 100 และเมื่อผ่านไป 6 ปี ช่องว่างนี้กระโดดขึ้นไปอยู่ที่ 108%