‘กัปตันซัลลี’ ฮีโร่ปาฏิหาริย์แม่น้ำฮัดสัน เผยความเป็นไปได้เหตุเครื่องบินชน ฮ. ร่วงกลางแม่น้ำในดี.ซี.

3 ก.พ. 2568 - 03:46

  • หลังเครื่องบินของสายการบิน American Airlines ชนกับเฮลิคอปเตอร์แบล็กฮอว์กของกองทัพสหรัฐฯ จนมีผู้เสียชีวิต 67 คน ผู้เชี่ยวชาญต่างคาดการณ์ถึงความเป็นไปได้ต่างๆ หนึ่งในนั้นคือ กัปตันซัลลี ที่เคยบังคับเครื่องบินที่เครื่องยนต์ดังทั้งสองเครื่องลงจอดในแม่น้ำฮัดสันอย่างปลอดภัย

  • กัปตันซัลลีเชื่อว่าการบิน เหนือแม่น้ำในตอนกลางคืนอาจเป็น ปัจจัยที่ทำให้เที่ยวบินของสายการบิน American Airlines ชนกับเฮลิคอปเตอร์

  • นอกจากกัปตันซัลลีแล้ว ผู้เชี่ยวชาญด้านการบินคนอื่นๆ ก็แปลกใจกับอุบัติเหตุครั้งนี้เช่นกัน เนื่องจากสภาพอากาศขณะเกิดปกติมาก

hero-pilot-captain-sully-shares-theory-why-dc-plane-crash-happened-SPACEBAR-Hero.jpg

หลังเกิดโศกนาฏกรรมเครื่องบินของสายการบิน American Airlines ชนกับเฮลิคอปเตอร์แบล็กฮอว์กของกองทัพสหรัฐฯ ใกล้กับสนามบินแห่งชาติโรนัลด์เรแกนในกรุงวอชิงตันดี.ซี.เมื่อราว 3 ทุ่มของวันพุธตามเวลาท้องถิ่น ก่อนจะร่วงลงไปในแม่น้ำโปโตแมค ส่งผลให้ผู้โดยสารและลูกเรือ 64 คนบนเครื่องและอีก 3 คนในเฮลิคอปเตอร์เสียชีวิต  

กัปตัน เชสลีย์ “ซัลลี” ซัลเลนเบอร์เกอร์ ที่กลายเป็นฮีโร่จากการนำเครื่องบิน US Airways เที่ยวบินที่ 1549 ที่ชนฝูงห่านจนเครื่องยนต์หยุดทำงานทั้งสองเครื่องหลังเทกออฟไปลงจอดในแม่น้ำฮัดสันอย่างปลอดภัยเมื่อปี 2009 จนถูกเรียกขานว่าเป็น “ปาฏิหาริย์ที่แม่น้ำฮัดสัน” เผยกับ New York Times ว่า เขาเชื่อว่าการบินเหนือแม่น้ำในตอนกลางคืนอาจเป็น ปัจจัยที่ทำให้เที่ยวบินของสายการบิน American Airlines ชนกับเฮลิคอปเตอร์ โดยมี 2 ปัจจัยที่ทำให้การหลบเลี่ยงเฮลิคอปเตอร์ยากมากขึ้น

“น่าจะมีไฟภาคพื้นดินที่มองเห็นได้เหนือน้ำน้อยกว่าบนพื้นดินในเวลากลางคืน” ซึ่งอาจทำให้มองเห็นได้ยากขึ้นนิดหน่อย “เวลากลางคืนทำให้การมองเห็นเครื่องบินลำอื่นแตกต่างออกไปเสมอ โดยพื้นฐานแล้วสิ่งที่คุณทำได้คือ มองแสงไฟจากเครื่องบินเหล่านั้น คุณต้องพยายามคิดว่ามันอยู่เหนือหรืออยู่ล่างคุณ หรืออยู่ห่างจากคุณเท่าไร หรือมันกำลังมุ่งหน้าทิศทางไหน ทุกอย่างยากขึ้นในตอนกลางคืน”

กัปตันซัลลี

กัปตันซัลลียังเผยกับ CBS ว่า สนามบินแห่งชาติโรนัลด์เรแกน “ถือเป็นสนามบินพิเศษที่ต้องศึกษาเพิ่มเติมเล็กน้อยเพื่อให้บินที่นั่นได้อย่างปลอดภัย เพราะรันเวย์สั้น เพราะอยู่ใกล้กับสนามบินอื่นๆ ”

hero-pilot-captain-sully-shares-theory-why-dc-plane-crash-happened-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: เครื่องบินของสายการบิน American Airines จอดที่สนามบิน Ronald Reagan Washington National Airport ในเมืองอาร์ลิงตัน รัฐเวอร์จิเนีย Photo by Daniel SLIM / AFP

นอกจากกัปตันซัลลีแล้ว ผู้เชี่ยวชาญด้านการบินคนอื่นๆ ก็แปลกใจกับอุบัติเหตุครั้งนี้เช่นกัน เนื่องจากสภาพอากาศขณะเกิดปกติมากและเป็นพื้นที่ที่การควบคุมการบินอย่างเข้มงวด เพราะเป็นหนึ่งในสนามบินที่การจราจรทางอากาศหนาแน่นที่สุดในโลก 

“มันไม่ควรเกิดขึ้น” ฌอน ดัฟฟี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมสหรัฐฯ กล่าว 

“นั่นเป็นเที่ยวบินเชิงพาณิชย์ตามปกติ” ริชาร์ด อาบูลาเฟีย กรรมการผู้จัดการ AeroDynamic เผยกับสำนักข่าว AFP “ผมเคยนั่งเที่ยวบินนี้หลายครั้ง หลายคนในวอชิงตันที่เดินทางไปแคนซัสล้วนเคยนั่ง” 

AFP ระบุว่า การชนกันเกิดขึ้นในน่านฟ้าที่การจราจรหนาแน่นและมีการควบคุมอย่างเข้มงวดในวอชิงตันดี.ซี.ที่ไม่เคยเกิดโศกนาฏกรรมทางการบินครั้งใหญ่นับตั้งแต่เหตุการณ์ 9/11 อุบัติเหตุครั้งก่อนเกิดขึ้นเมื่อปี 1982  

น่านฟ้ารอบๆ สนามบินแห่งชาติโรนัลด์เรแกนต้องรองรับการจราจรที่หนาแน่นของเฮลิคอปเตอร์เป็นประจำ รวมทั้งการบินทางทหารระหว่างเพนตากอนกับฐานทัพใกล้เคียง การลาดตระเวนชายฝั่ง และเฮลิคอปเตอร์ของนาวิกโยธินที่ให้บริการบุคคลในทำเนียบขาว 

ปกติแล้วเครื่องบินพาณิชย์อย่างเครื่องบินลำที่เกิดเหตุจะติดตั้งระบบเตือนการชนกันของเครื่องบิน (TCAS) ที่จะเตือนนักบิน เมื่อมีเครื่องบินลำอื่นอยู่ใกล้ๆ และให้คำแนะนำในการหลีกเลี่ยงการชนในระยะกระชั้นชิด 

เจฟฟ์ กุซเซตติ อดีตผู้สอบสวนการชนของ NTSB และ FAA และหัวหน้า Guzzetti Aviation เผยว่า น่านฟ้าที่พลุกพล่านของวอชิงตันทำให้เครื่องบินพลเรือนและทหารสามารถบิน “ปะปนกันได้” และว่า แม้สภาพอากาศจะดีแต่ผู้สอบสวนจะตรวจสอบ “ความสามารถของมนุษย์ในการมองเห็นวัตถุตอนกลางคืน” ด้วย โดยจะพิจารณาหลายปัจจัย อาทิ แว่นตาสำหรับมองตอนกลางคืน และการรบกวนจากแสงบนท้องถนน 

อะไรก็เกิดขึ้นได้  

พันตรี จอร์จ เบคอน ที่เกษียณอายุแล้วของกองทัพอากาศอังกฤษที่เคยบินเครื่องบินทหารในน่านฟ้าสหรัฐฯ เผยว่า แว่นตาสำหรับมองตอนกลางคืนอาจเป็นปัจจัยในการชนครั้งนี้  “แม้ว่า (แว่นตา) จะดีมาก เพราะทำให้มองเห็นเหมือนตอนกลางวัน แต่ก็ทำให้เกิด tunnel effect (วัตถุชิ้นเดียวที่เคลื่อนที่เลยวัตถุที่ถูกบดบังแล้วปรากฏขึ้นอีกครั้งเมื่อเวลาผ่านไปพอสมควรอีกด้านหนึ่งของวัตถุนั้น) 

 หรืออาจได้รับผลกระทบจากแสงไฟบนท้องถนน”  

คิวานซ์ อัฟเรนลี ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางการบินและศาสตรจารย์จากมหาวิทยาลัยซีราคิวส์ เผยกับ AFP ว่า แม้การชนกันกลางอากาศจะ “เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีหรือทุกสองปี” แต่ไม่ค่อยเกิดกับเครื่องบินพาณิชย์

hero-pilot-captain-sully-shares-theory-why-dc-plane-crash-happened-SPACEBAR-Photo02.jpg
Photo: เครื่องบินเซสนา 208 Photo by AFP / Ibrahim CHALHOUB

เครื่องบินพาณิชย์ชนกันกลางอากาศครั้งรุนแรงครั้งล่าสุดในสหรัฐฯ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 9 เมษายน 1990 เมื่อสายการบิน Atlantic Southeast Airlines เที่ยวบินที่ 2254 ชนกับเครื่องบินเซสนา ในแอละแบมา 

หากได้รับการยืนยันว่าเป็นอุบัติเหตุ เหตุการณ์เมื่อคืนวันพุธจะเป็นเหตุที่รุนแรงที่สุดของวอชิงตันนับตั้งแต่เหตุของ Air Florida เที่ยวบินที่ 90 ในปี 1982 เมื่อเครื่องบินโบอิง 737 ชนกับสะพาน 14th Street Bridge ในช่วงฤดูหนาวที่สภาพอากาศรุนแรงจนมีผู้เสียชีวิต 74 ราย และเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้มีการยกเครื่องข้อบังคับเรื่องความปลอดภัยในการบินครั้งใหญ่ โดยเฉพาะขั้นตอนการละลายน้ำแข็ง (de-icing) 

กัปตันซัลลีเผยกับ AFP ว่า เหตุการณ์หายนะยังคงเกิดขึ้นเมื่อ “‘โดมิโนทุกตัวเรียงกันผิดทาง’ แม้จะมีเวลาเพียงพอ แม้จะบินมาแล้วหลายไฟลต์ แม้จะมีชั่วโมงบินเพียงพอ แต่ท้ายที่สุดอะไรก็เกิดขึ้นได้ เว้นแต่เราจะทำงานอย่างหนักเพื่อป้องกันไม่ให้ทุกเหตุการณ์กลายเป็นอุบัติเหตุ” 

เจ้าหน้าที่หอควบคุมการบินไม่พอ 

รายงานเบื้องต้นจากองค์การบริหารการบินแห่งชาติ (FAA) ระบุว่า เจ้าหน้าที่หอควบคุมการบินที่สนามบินแห่งชาติโรนัลด์เรแกน “ไม่ปกติ” ในช่วงเวลาเกิดเหตุและปริมาณการจราจร 

New York Times รายงานว่า ปัญหาเจ้าหน้าที่ไม่พอทำให้เจ้าหน้าที่ควบคุมการบินคนเดียวต้องจัดการทั้งการขึ้นและการลงที่สนามบิน และยังต้องจัดการการจราจรของเฮลิคอปเตอร์ด้วย ซึ่งปกติเป็นงานที่ต้องใช้เจ้าหน้าที่ 2 คน 

คืนก่อนหน้าที่ American Airlines จะชนกับเฮลิคอปเตอร์ก็เกิดเหตุการณ์คล้ายกันนี้ โดยเครื่องบินของ Republic Airways ต้องยกเลิกการลงจอดที่สนามบินแห่งชาติโรนัลด์เรแกน หลังเฮลิคอปเตอร์ปรากฏขึ้นใกล้กับเส้นทางบิน ข้อมูลจาก Flightradar ระบุว่า เครื่องบินของ Republic Airways ต้องเพิ่มระดับความสูงอย่างรวดเร็วหลังจากลดความสูงเตรียมลงที่สนามบินแห่งชาติโรนัลด์เรแกน ก่อนจะลงจอดอย่างปลอดภัยในที่สุด

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์