คนญี่ปุ่นหวังโลกตระหนักถึงอันตรายระเบิดปรมาณูหลัง ‘ออปเพนไฮเมอร์’ คว้าออสการ์

12 มีนาคม 2567 - 07:02

hiroshima-residents-hope-oppenheimer-oscars-draw-attention-bomb-reality-SPACEBAR-Hero.jpg
  • “นี่เป็นภาพยนตร์ที่คนในฮิโรชิมะสามารถทนดูได้จริงหรือ?”

  • “บางทีอาจถึงเวลาที่ใครสักคนจะสร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับระเบิดปรมาณูจากมุมมองของญี่ปุ่นบ้าง”

  • “ฉันคิดว่าการมีโลกสงบสุขที่ผู้คนไม่ต้องทะเลาะกันอีกต่อไปเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นฉันหวังว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะทำให้ทุกคนมีโอกาสได้เรียนรู้เกี่ยวกับสันติภาพ”

ชัยชนะของ ‘ออปเพนไฮเมอร์’ กับบาดแผลใหญ่ที่ชาวฮิโรชิมะอยากให้โลกรับรู้! 

ค่ำคืน (10 มี.ค.) อันรุ่งโรจน์ในงานประกาศผลรางวัลออสการ์ 2024 ครั้งที่ 96 นับเป็นช่วงเวลาแห่งชัยชนะของ ‘ออปเพนไฮเมอร์’ ภาพยนตร์ชีวประวัติบิดาผู้สร้างระเบิดปรมาณูที่ทำรายได้ 954 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.3 หมื่นล้านบาท) และคว้ารางวัลออสการ์ถึง 7 รางวัล รวมถึงรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม 

ท่ามกลางเสียงยินดีจากทั่วทุกมุมโลก แต่สำหรับฮิโรชิมะกลับกลายเป็นบาดแผลที่ฝังลึกจนยากที่จะส่งความยินดีได้ เพราะระเบิดปรมาณูเป็นเหมือนรอยแผลใหญ่ที่สหรัฐฯ ทิ้งไว้ให้คนญี่ปุ่นเมื่อ 78 ปีที่แล้วในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ปี 1945 ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งในฮิโรชิมะและนางาซากิราว 200,000 กว่าราย 

อย่างที่ทราบกันดีว่าภาพยนตร์ชีวประวัติเรื่องนี้ได้รับความนิยมอย่างมากทั่วโลกเมื่อฤดูร้อนที่แล้ว ยกเว้นในญี่ปุ่นที่ห้ามไม่ให้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ ในเวลานั้นยังไม่มีแถลงการณ์ออกมาอย่างเป็นทางการ แต่คาดเดาว่าอาจเป็นเพราะประเด็นอ่อนไหวเกี่ยวกับระเบิดปรมาณูช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งญี่ปุ่นเป็นประเทศเดียวที่ได้รับความเดือดร้อนจากระเบิดนิวเคลียร์

hiroshima-residents-hope-oppenheimer-oscars-draw-attention-bomb-reality-SPACEBAR-Photo01.jpg

“นี่เป็นภาพยนตร์ที่คนในฮิโรชิมะสามารถทนดูได้จริงหรือ?” เคียวโกะ เฮยะ ประธานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติของเมืองในญี่ปุ่นกล่าวเมื่อวันจันทร์ (11 มี.ค.) 

ในตอนแรกเฮยะ ‘กลัว’ ที่จะฉายเรื่องนี้ในฮิโรชิมะ ซึ่งปัจจุบันเป็นมหานครที่เจริญรุ่งเรืองมีประชากร 1.2 ล้านคน แต่ในที่สุดเธอก็เลิกตั้งคำถามกับการตัดสินใจของเธอ “ตอนนี้ฉันอยากให้คนจำนวนมากดูภาพยนตร์เรื่องนี้ เพราะฉันดีใจที่ได้เห็นฮิโรชิมะ นางาซากิ และอาวุธปรมาณูกลายเป็นประเด็นถกเถียง ต้องขอบคุณภาพยนตร์เรื่องนี้” เฮยะกล่าว 

ขณะเดียวกันก็มีชาวเน็ตญี่ปุ่นตั้งคำถามว่า “บางทีอาจถึงเวลาที่ใครสักคนจะสร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับระเบิดปรมาณูจากมุมมองของญี่ปุ่นบ้าง” 

ทั้งนี้ ‘ออปเพนไฮเมอร์’ จะมีกำหนดเปิดตัวในญี่ปุ่นวันที่ 29 มีนาคม 2024 

“ตัวผมเองอยากจะดูหนังเรื่องนี้อย่างแน่นอน ผมหวังว่าผู้คนทั่วโลกที่ได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้คงจะอยากมาเยือนฮิโรชิมะและมาที่สวนอนุสรณ์สันติภาพ หรือที่รู้จักกันอีกชื่อว่า ‘โดมระเบิดปรมาณู’” ยาสุฮิโระ อากิยามะ ครูวัย 43 ปีบอก 

อย่างไรก็ดี มีข้อถกเถียงเกี่ยวกับเนื้อหาของภาพยนตร์ ซึ่งบางคนวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการปกปิดจำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุระเบิด จนเป็นประเด็นว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะได้รับการฉายในญี่ปุ่นหรือไม่ 

นอกจากนี้ ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากยังรู้สึกขุ่นเคืองกับปรากฏการณ์ ‘บาร์เบนไฮเมอร์’ (Barbenheimer) ที่กลายเป็นกระแสในช่วงเวลานั้น ซึ่งแฟนๆ หนัง ‘ออปเพนไฮเมอร์’ และ ‘บาร์บี้’ ต่างโยงประเด็นภาพยนตร์บล็อกบัสเตอร์ทั้ง 2 เรื่องนี้ที่เข้าฉายในช่วงเวลาเดียวกัน 

แม้เป็นบาดแผลแต่โลกควรได้รู้ถึงความรุนแรงของ ‘อาวุธนิวเคลียร์’

hiroshima-residents-hope-oppenheimer-oscars-draw-attention-bomb-reality-SPACEBAR-Photo02.jpg

เทรุโกะ ยาฮาตะ ผู้รอดชีวิตจากเหตุระเบิดที่ฮิโรชิมะบอกกับสำนักข่าว Reuters เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ‘เธออยากดู ‘ออปเพนไฮเมอร์’ และหวังว่าเรื่องนี้จะช่วยกระตุ้นการถกเถียงเรื่องอาวุธนิวเคลียร์’ 

“ฉันคิดว่าการมีโลกสงบสุขที่ผู้คนไม่ต้องทะเลาะกันอีกต่อไปเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นฉันหวังว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะทำให้ทุกคนมีโอกาสได้เรียนรู้เกี่ยวกับสันติภาพ” มิยูกิ ฮิราโนะ พยาบาลวัย 44 ปีบอก 

“ผมไม่ได้ดูภาพยนตร์เรื่องนี้ แต่ผมคิดว่ามันเป็นโอกาสสำหรับคนญี่ปุ่นที่จะได้เรียนรู้ (เกี่ยวกับเหตุระเบิด) ผมคิดว่ามันเป็นปัญหาที่ทุกคนในโลกต้องต่อสู้ต่อไป” อิวาตะ ตัวแทนอสังหาริมทรัพย์วัย 63 ปีกล่าว 

ขณะที่ ยู ซาโตะ นักศึกษาอายุ 22 ปีที่มหาวิทยาลัยเมืองฮิโรชิมะบอกว่าเธอรู้สึกกลัวเล็กน้อยว่าผู้รอดชีวิตจากเหตุระเบิดและครอบครัวของพวกเขาจะมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัลออสการ์นี้ “พูดตามตรง ฉันมีความรู้สึกผสมปนเป…ออปเพนไฮเมอร์สร้างระเบิดปรมาณู ซึ่งหมายความว่าเขาทำให้โลกนี้เป็นสถานที่ที่น่ากลัวมาก แม้ว่าเขาไม่ได้ตั้งใจจะฆ่าคนจำนวนมาก แต่เขาก็ไม่อาจถูกมองว่าไร้ความรับผิดชอบโดยสิ้นเชิง”

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์