‘ฮอบบิท’ มีจริงๆ! นักวิทย์พบโครงกระดูกมนุษย์จิ๋วอายุหลายแสนปีบนเกาะอินโดฯ

7 ส.ค. 2567 - 08:49

  • กระดูกแขนฟอสซิลนี้เป็นของมนุษย์วัยผู้ใหญ่ตัวเล็กที่เคยใช้ชีวิตบนเกาะนี้เมื่อ 700,000 ปีก่อนร่วมกับช้างแคระ มังกรโกโมโด และหนูยักษ์ขนาดเท่ากระต่าย

  • เชื่อกันว่ากระดูกนี้เป็นของบุคคลยุคแรกๆ ของสายพันธุ์โฮโม ฟลอเรซิเอนซิส (Homo floresiensis) หรือที่ได้รับฉายาว่า ‘ฮอบบิท’ นั้นได้สร้างความสับสนให้กับนักวิทยาศาสตร์นับตั้งแต่มีการค้นพบฟอสซิลชุดแรกเมื่อ 2 ทศวรรษก่อน (ปี 2003)

hobbit-bone-tiny-species-ancient-humans-found-indonesian-island-SPACEBAR-Hero.jpg

ซากกระดูกของมนุษย์โบราณที่มีขนาดเล็กที่สุดเท่าที่มีการบันทึกไว้ ซึ่งมีความสูงเพียง 1 เมตร ถูกค้นพบบนเกาะฟลอเรสของอินโดนีเซียย 

กระดูกแขนฟอสซิลนี้เป็นของมนุษย์วัยผู้ใหญ่ตัวเล็กที่เคยใช้ชีวิตบนเกาะนี้เมื่อ 700,000 ปีก่อนร่วมกับช้างแคระ มังกรโกโมโด และหนูยักษ์ขนาดเท่ากระต่าย เชื่อกันว่ากระดูกนี้เป็นของบุคคลยุคแรกๆ ของสายพันธุ์โฮโม ฟลอเรซิเอนซิส (Homo floresiensis) หรือที่ได้รับฉายาว่า ‘ฮอบบิท’ นั้นได้สร้างความสับสนให้กับนักวิทยาศาสตร์นับตั้งแต่มีการค้นพบฟอสซิลชุดแรกเมื่อ 2 ทศวรรษก่อน (ปี 2003) 

ฟอสซิลที่ค้นพบล่าสุดนี้ชี้ให้เห็นว่ามนุษย์สายพันธุ์นี้มีวิวัฒนาการลดขนาดร่างกายลงอย่างรวดเร็วหลังจากที่พวกเขามาถึงเกาะแห่งหนึ่งในอินโดนีเซียเมื่อล้านปีก่อน กระดูกนั้นมีขนาดเล็กมาก จนในตอนแรกทีมนักวิจัยนานาชาติคิดว่ามันน่าจะมาจากเด็ก 

“ภาวะแคระแกร็นจากการติดเกาะ (Island dwarfism) เป็นที่รู้จักกันดีมาก่อนจากซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์ขนาดใหญ่บนเกาะต่างๆ ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นสัตว์ในเวอร์ชันย่อส่วนของบรรพบุรุษบนแผ่นดินใหญ่...” ดร.เกิร์ต แวน เดน เบิร์ก นักบรรพชีวินวิทยาและผู้เขียนวิจัยร่วมจากมหาวิทยาลัยวูลลอนกอง ประเทศออสเตรเลีย กล่าว 

ฮอบบิท (อาจ) มีจริงๆ

hobbit-bone-tiny-species-ancient-humans-found-indonesian-island-SPACEBAR-Photo01.jpg

นับตั้งแต่มีการค้นพบฟอสซิลฮอบบิทคนแรกอายุ 60,000 ปีก่อน ต้นกำเนิดวิวัฒนาการของมนุษย์จิ๋วก็ถูกโต้แย้งอย่างดุเดือด ผู้เชี่ยวชาญบางคนตั้งคำถามว่าฟลอเรซิเอนซิสเป็นสายพันธุ์ที่แปลกประหลาด หรือเป็นเพียงเผ่าพันธุ์มนุษย์ยุคใหม่ที่ป่วยด้วยโรคแคระแกร็นแต่กำเนิด ในขณะที่บางคนเสนอว่าพวกเขามีความเกี่ยวข้องกับสายพันธุ์ดั้งเดิมคล้ายลิงที่มีขนาดเล็กอยู่แล้ว 

นักวิทยาศาสตร์ที่อยู่เบื้องหลังการค้นพบล่าสุดนี้กล่าวว่า การค้นพบนี้ช่วยเสริมทฤษฎีที่ว่า ‘ฮอบบิท’ สืบเชื้อสายมาจาก ‘โฮโม อิเร็กตัส’ (Homo erectus) หรือมนุษย์ชวา ซึ่งเป็นมนุษย์โบราณที่มีรูปร่างใกล้เคียงกับมนุษย์เรา แต่ด้วยเหตุผลบางอย่างจึงมาเกยตื้นบนเกาะฟลอเรส โดยกระดูกแขนขนาดเล็กที่ค้นพบมีโครงสร้างทางกายวิภาคคล้ายกับโครงกระดูกฮอบบิทที่เคยค้นพบมาก่อน ในขณะที่ฟันคู่ที่เพิ่งค้นพบใหม่จากบริเวณเดียวกันนั้นมีลักษณะคล้ายกับฟันของโฮโม อิเร็กตัส แม้ว่าจะเล็กกว่ามากก็ตาม 

จากการประเมินความยาวของกระดูก ทีมวิจัยสามารถคำนวณความสูงของร่างกายมนุษย์ในยุคโบราณได้ประมาณ 100 เซนติเมตร สั้นกว่าความสูงของโครงกระดูกอายุ 60,000 ปีที่เคยคาดการณ์ไว้ประมาณ 6 เซนติเมตร ซึ่งค้นพบห่างออกไป 75 กิโลเมตรบนเกาะเดียวกัน 

“กระดูกต้นแขนของผู้ใหญ่ที่มีอายุ 700,000 ปีนี้ไม่เพียงสั้นกว่ากระดูกต้นแขนของมนุษย์โฮโมฟลอเรซิเอนซิสดั้งเดิมเท่านั้น แต่ยังเป็นกระดูกต้นแขนที่เล็กที่สุดที่ค้นพบจากหลักฐานฟอสซิลของมนุษย์โฮมินินทั่วโลก” ศาสตราจารย์อดัม บรัมม์ จากศูนย์วิจัยวิวัฒนาการของมนุษย์ออสเตรเลีย มหาวิทยาลัยกริฟฟิธ และผู้เขียนวิจัยร่วม กล่าว  

ศาสตราจารย์บรัมม์ เสริมอีกว่า “ตัวอย่างที่หายากมากๆ แบบนี้ได้ยืนยันสมมติฐานของเราที่ว่าบรรพบุรุษของมนุษย์โฮโมฟลอเรซิเอนซิสมีขนาดร่างกายที่เล็กมาก อย่างไรก็ตาม จากสัดส่วนที่เล็กมากของกระดูกแขนขาส่วนนี้ ในปัจจุบัน เห็นได้ชัดเจนแล้วว่าบรรพบุรุษในยุคแรกของฮอบบิทนั้นมีขนาดเล็กกว่าที่เราเคยคิดไว้เสียอีก” 

เชื่อกันว่าภาวะแคระแกร็นจากการติดเกาะเกิดขึ้นเนื่องจากขนาดร่างกายที่เล็กกว่าซึ่งอาจเป็นประโยชน์ในการเอาชีวิตรอดในช่วงที่ขาดแคลนอาหารเป็นระยะๆ บนเกาะ และการมีขนาดร่างกายใหญ่ๆ ก็ไม่ค่อยมีประโยชน์นักหากไม่มีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกินเนื้อตัวใหญ่ๆ ให้ต้องต่อสู้ด้วย 

แต่สำหรับคำถามบางข้อก็ยังคงไม่มีคำตอบ เช่น บรรพบุรุษของฟลอเรซิเอนซิสมาเกยตื้นบนเกาะนี้ได้อย่างไร? เครื่องมือหินแสดงให้เห็นว่าเกาะนี้เคยถูกครอบครองเมื่อ 1 ล้านปีก่อนหรอ? 

“โดยทั่วไปแล้ว เราเชื่อกันว่ามีเพียงมนุษย์สมัยใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีเรือเท่านั้นที่จะสามารถไปถึงเกาะที่อยู่กลางทะเลซึ่งล้อมรอบด้วยช่องแคบทะเลลึกอย่างเกาะฟลอเรสได้” แวน เดน เบิร์ก กล่าว 

ศาสตราจารย์คริส สตริงเกอร์ หัวหน้าแผนกต้นกำเนิดมนุษย์แห่งพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติซึ่งไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานวิจัยนี้ กล่าวว่า “การที่เราสามารถติดตามสายพันธุ์โฮมินินซึ่งวิวัฒนาการขึ้นมาเพียงสายพันธุ์เดียวตลอดระยะเวลาดังกล่าวถือเป็นความหวังอันยิ่งใหญ่สำหรับการวิจัยในอนาคต” 

“นักวิจัยหลายคนสันนิษฐานว่ากระบวนการทำให้แคระแกร็นเกิดขึ้นบนเกาะฟลอเรสเอง แต่ปัจจุบันยังไม่มีใครทราบแน่ชัดว่ากระบวนการนี้เกิดขึ้นจริงหรือไม่ เนื่องจากกระบวนการนี้อาจเริ่มขึ้นแล้วบนเกาะอื่นๆ เช่น ซุมบาวา หรือ สุลาเวสี ก่อนที่จะเดินทางมาถึงเกาะฟลอเรส” สตริงเกอร์กล่าวเสริม 

Photo by JC DOMEMENCH / MNHN / AFP

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์