“ฉันไม่ชอบที่พวกเขาคิดเงินฉันมากขึ้นโดยไม่พูดอะไรเลย อย่างน้อยก็ควรจะบอกว่าไม่มีเงินทอน บางครั้งมันก็เข้าใจได้ว่าค่ารถมัน 70 เซ็นต์ หรือ 40 เซ็นต์ แล้วไม่มีเงินทอน แต่อยู่ๆ ก็ไม่ทอนเลยมันน่ารำคาญนะ”
— มิเชล คู
“พวกเขาไม่รับคุณหรอกถ้าต้องขับแค่ 5-10 นาที ผมได้ยินว่าการปฏิเสธผู้โดยสารเพราะระยะทางไม่ไกลเป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่พวกเขาก็ทำตลอดนั่นแหละ”
— ออสวัลโด ฮิวโซ
“ตอนผมเรียกแท็กซี่จากเกาะฮ่องกงไปเกาลูน พวกเขาปฏิเสธ ผมต้องเรียก 5 คันกว่าจะได้ไป”
— วิเกศ ฮาร์จานี
เหล่านี้เป็นเพียงส่วนเล็กๆ ของเสียงบ่นจากชาวฮ่องกงเกี่ยวกับพฤติกรรมแย่ๆ ของคนขับรถแท็กซี่ที่นั่น ไม่ว่าจะเป็นไม่สุภาพ ปฏิเสธผู้โดยสาร ไปจนถึงพาอ้อมเพื่อให้ผู้โดยสารจ่ายเงินเพิ่มขึ้น เรียกว่าแทบไม่ต่างจากแท็กซี่บางส่วนในบ้านเรา
แต่เมื่อเร็วๆ นี้สมาคมแท็กซี่ฮ่องกงได้ออกแคมเปญปรับปรุงภาพลักษณ์ของแท็กซี่ฮ่องกงด้วยการส่ง “ทูตมารยาท” พร้อมกับแผ่นพับ “แนวปฏิบัติที่ดี” ไปประจำอยู่ที่จุดจดแท็กซี่ รวมทั้งที่สนามบิน เพื่อย้ำเตือนให้คนขับแท็กซี่สุภาพกับผู้โดยสาร
ส่วนวิธีนี้จะได้ผลหรือไม่นั้นความเห็นยังแบ่งเป็นสองฝั่ง
ไรอัน หว่อง ประธานสมาคมแม็กซี่ฮ่องกงมองว่า การออกแคมเปญเพียงแคมเปญดียวไม่สามารถเปลี่ยนคนขับที่ไม่สุภาพหรือมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมได้ในชั่วข้ามคืน เพราะทั้งเมืองมีแท็กซี่ประมาณ 46,000 คัน แต่หว่องก็ยังมีความหวัง “นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เราทำแบบนี้ และผลตอบรับจากคนขับแท็กซี่ก็เป็นบวก”
ส่วนชาวฮ่องกงเองยังไม่แน่ใจนัก หลังจากคลิปวิดีโอสัมภาษณ์คนขับแท็กซี่รายหนึ่งที่บอกว่า ผู้โดยสารต่างหากที่ต้องถูกอบรม ไม่ใช่คนขับแท็กซี่ กลายเป็นไวรัล ชาวฮ่องกงหลายคนชี้ใช้เห็นว่าคลิปนี้เป็นหลักฐานได้อย่างดีว่าจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
หลายคนยังเข็ดจากประสบการณ์ในอดีต เช่น เอมี โฮ สายวัยเลข 3 บอกว่าเธอเลิกนั่งแท็กซี่เมื่อ 2-3 ปีก่อน “ฉันไม่รู้ว่าจุดที่ฉันจะไปมันใกล้มาก พอไปถึงฉันพยายามหาเงินออกมาจ่ายประมาณ 5 วินาที แล้วคนขับก็พูดว่า ‘เลิกถ่วงเวลาได้แล้วป้า ไม่น่าเชื่อว่าใกล้ๆ แค่นี้ยังต้องเรียกรถ แล้วยังไม่มีเงินจ่ายอีก’”
ไม่ต่างจาก เคนนี ตอง พนักงานไอทีที่นั่งแท็กซี่เดือนละ 3 ครั้งเพื่อเลี่ยงปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น เขาเล่าว่าการเรียกรถแต่ละครั้งเขาต้อง “ก้มศีรษะ รอให้คนขับลดกระจกลง” แล้วถามดูว่าจุดหมายปลายทางของเขาอยู่ในเส้นทางที่คนขับอยากไปหรือไม่ “คนขับบางคนก็บ่นตลอดทางหลังจากผมขึ้นรถ” และยังเล่าอีกว่าเขารู้สึกหงุดหงิดมากที่คนขับไม่ใช้จีพีเอสแล้วถามเขาว่าต้องไปทางไหนทั้งที่มีโทรศัพท์หลายเครื่องอยู่บนแผงหน้าปัด
แต่ถึงอย่างนั้นผู้โดยสารในฮ่องกงก็ไม่ค่อยร้องเรียนแท็กซี่เหล่านี้เพราะมองว่าเสียเวลา ข้อมูลของคณะกรรมการที่ปรึกษาการขนส่งระบุว่า ปีที่แล้วมีคนร้องเรียน 11,500 ครั้ง เพิ่มจากปี 2019 ราว 11% แต่มีการดำเนินคดีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
นอกจากนี้ แท็กซี่ฮ่องกงยังมีปัญหาเรื่องคนขับที่ไม่ซื่อสัตย์กับผู้โดยสารโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อนักท่องเที่ยว
เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ผู้โดยสารชาวจีนแผ่นดินใหญ่จากมณฑลเจ้อเจียงโพสต์ถึงแท็กซี่ฮ่องกงในโซเชียลว่า เธอให้เงินคนขับไป 1,000 ดอลลาร์ฮ่องกง สำหรับค่ารถ 56 ดอลลาร์ฮ่องกง แต่คนขับกลับทอนเงินให้เพียง 44 ดอลลาร์ฮ่องกง โดยเธอแจ้งความกับตำรวจแล้วก็ไม่ได้เงินคืน เนื่องจากหลักฐานไม่เพียงพอ

อย่างไรก็ดี พฤติกรรมของคนขับเป็นเพียงหนึ่งในปัญหาลึกๆ ที่สร้างความเสียหายให้อุตสาหกรรมแท็กซี่ในฮ่องกง ซึ่งต้องต่อสู้กับต้นทุนที่สูงขึ้น การแข่งขันที่เพิ่มขึ้น และระเบียบขั้นตอนต่างๆ
ฮ่องกงออกใบอนุญาตสำหรับแท็กซี่ประมาณ 18,000 ใบ และตัวเลขนี้ถูกจำกัดไว้ตั้งแต่ปี 1994 ยกเว้นปี 2016 ที่ออกใบอนุญาตเพียง 25 ใบ เจ้าของใบอนุญาตบางคนมองว่าใบอนุญาตนี้คือการลงทุนและปล่อยเช่าให้คนขับแท็กซี่
เหลียงต๊ะจง ที่ยึดอาชีพขับรถแท็กซี่มากว่า 20 ปีเผยว่า ค่าเช่าใบอนุญาตแพงขึ้นเรื่อยๆ และคนขับต้องจ่ายค่ารถเงินราว 500 ดอลลาร์ฮ่องกงสำหรับกะกลางวัน 12 ชั่วโมง ซึ่งยังไม่รวมค่าน้ำมัน ขณะที่แต่ละวันคนขับจะได้เงินราว 500-800 ดอลลาร์ฮ่องกง
“พวกเราทำได้แค่ขับให้มากขึ้นในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน บางครั้งรอ 25 นาทียังไม่ได้ผู้โดยสารสักคน เพื่อให้หาเงินได้มากๆ บางครั้งคนขับบางคนก็ไม่มีความอดทน ไม่มี่ความสามารถในการปรับปรุงการบริการของตัวเอง” เหลียงต๊ะจง เผย “นี่ไม่ใช่ข้ออ้างในการทำพฤติกรรมไม่ดี แต่เป็นเรื่องจริงของอุตสาหกรรมนี้”
นอกจากนี้ แท็กซี่ยังต้องเผชิญการแข่งขันดุเดือดจากแอปพลิเคชันเรียกรถยนต์อย่าง Uber ที่ได้รับความนิยมอย่างมากนับตั้งแต่เข้าตลาดฮ่องกงเมื่อปี 2014
บรรดาแท็กซี่เคยเรียกร้องให้รัฐบาลปราบปรามแอปพลิเคชันนี้ซึ่งยังถือเป็นสิ่งผิดกฎหมายในฮ่องกง โดยอ้างว่าไม่เป็นธรรมเนื่องจากคนขับ Uber ไม่ได้อยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกับแท็กซี่ทั่วไป หนึ่งในนั้นคือต้องมีใบอนุญาต
ช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาคนขับแท็กซี่บางรายถึงกับเปิดปฏิบัติการศาลเตี้ยเพื่อเปิดโปงคนขับ Uber แต่กลับเจอสียงวิพากษ์วิจารณ์จากชาวฮ่องกงเสียเอง หลายคนบอกว่าชอบเรียกรถจากแอปพลิเคชันมากกว่า เพราะไม่มีปัญหาเหมือนแท็กซี่
เฉากว๊อกเคียง ประธานสมาคมแท็กซี่และรถบัสเล็กสาธารณะฮ่องกงเผยว่า “เราประมินผลกระทบของแอปพลิเคชันเรียกรถยนต์ต่ำไป ผู้โดยสารยอมจ่ายแพงกว่าเพื่อประสบการณ์การนั่งที่ดีกว่า” และยอมรับว่า ในแอปพลิเคชันเกิดความขัดแย้งน้อยกว่า เพราะคนขับสามารถเลือกผู้โดยสารและมีการตกลงค่าโดยสารก่อนเริ่มเดินทางแล้ว และแท็กซี่ทั่วไปยังปรับตัวไม่ทันยุคดิจิทัลเพย์เม้นต์ คนขับส่วนใหญ่ยังรับเฉพาะเงินสด
อุตสาหกรรมแท็กซี่ฮ่องกงยังขาดคนขับรุ่นใหม่ๆ โดยอายุเฉลี่ยของคนขับในปัจจุบันอยู่ที่เกือบ 60 ปี เฉาบอกว่า การมองไม่เห็นอนาคตคือปัจจัยสำคัญ เนื่องจากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีการปรับขึ้นค่าแท็กซี่เพียง 4 ครั้งเท่านั้น ปี 2023 คนขับแท็กซี่ในเมืองมีรายได้เฉลี่ยราว 22,000 ดอลลาร์ฮ่องกง สูงกว่ารายได้เฉลี่ยของฮ่องกงราว 10% ขณะที่ข้อมูลของ Numbeo ซึ่งเป็นฐานข้อมูลออนไลน์เกี่ยวกับค่าครองชีพระบุว่า ค่าโดยสารแท็กซี่ฮ่องกงอยู่อันดับ 45 ของโลก ซึ่งเฉาบอกว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับค่าครองชีพในฮ่องกง
“หลายคนคิดว่ามีแต่คนจนที่ขับแท็กซี่ และแท็กซี่เป็นทางเลือกสุดท้ายสำหรับคนที่เจอปัญหาทางการเงิน” เหลียงซึ่งมองว่ารัฐบาลควรคัดกรองคนขับให้เข้มงวดขึ้นและอบรมคนขับแท็กซี่เพิ่มเติมเพื่อปรับภาพลักษณ์ของอาชีพนี้กล่าว
การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่กำลังจะเกิดขึ้นกับแท็กซี่ฮ่องกง
ทางการกำลังจะนำระบบหักแต้มเมื่อทำผิดมาใช้เร็วๆ นี้ โดยคนขับที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมอาจถูกพักใบอนุญาตหลังศาลตัดสิน รวมถึงใช้ระบบรวมกลุ่มรถแท็กซี่ให้อยู่ภายใต้บริษัทเดียวกัน ซึ่งขณะนี้ออกใบอนุญาตใหม่แล้ว 5 ใบ ระบบนี้อนุญาตให้กำหนดราคาได้อย่างยืดหยุ่น แต่กลุ่มแท็กซี่ซึ่งมีรถได้ 3,500 คัน ต้องให้บริการการจองออนไลน์ มีระบบให้คะแนนส่วนบุคคล และการชำระเงินดิจิทัล
สำหรับตอนนี้ ทั้งคนขับและผู้โดยสารต่างก็รอดูว่าการปฏิรูปครั้งนี้จะได้ผลมากน้อยแค่ไหน
ส่วนเหลียงทิ้งท้ายว่า “ถ้าเราให้บริการที่ดี อุตสาหกรรมก็จะเติบโต และจะมีผู้โดยสารเพิ่มมากขึ้น”
Photo by ISAAC LAWRENCE / AFP