‘บีเวอร์’ สัตว์ฟันแทะผู้ช่วยโลกจาก ‘ภาวะโลกร้อน’ เจ้าของฉายาวิศวกรระบบนิเวศ

12 พ.ค. 2567 - 00:00

  • ‘บีเวอร์’ สัตว์ฟันแทะเจ้าของฉายา ‘วิศวกรระบบนิเวศ’ มีส่วนช่วยลด ‘ภาวะโลกร้อน’ อย่างไร?

  • ใครจะไปคิดว่าพฤติกรรมการใช้ชีวิตธรรมดาๆ ของพวกมัน จะมีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ป้องกันไฟป่าได้ และช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศได้ด้วย

how-beaver-save-the-world-from-global-warming-SPACEBAR-Hero.jpg

วินาทีนี้คงหนีไม่พ้นประเด็นสภาพอากาศที่เป็นที่พูดถึงกันถ้วนหน้าโดยเฉพาะ ‘อากาศร้อน’ ที่แผ่ปกคลุมเอเชียอย่างไม่ปรานี สภาพอากาศทั่วโลกแปรปรวนขึ้นทุกวัน ไหนจะปรากฏการณ์เอลนีโญ-ลานีญาที่แวะเวียนผลัดเปลี่ยนกันส่งผลให้โลกยิ่งรวนขึ้น จนพาลไประบบนิเวศที่เริ่มพัง 

ทว่าท่ามกลางความเลวร้ายของสภาพอากาศนั้น ยังมีความโชคดีอยู่บ้างเพราะโลกของเรายังมีสัตว์นานาชนิดที่ช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศให้มีความสมดุล และหนึ่งในนั้นคือ ‘เจ้าบีเวอร์’ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมฟันแทะเจ้าของฉายา ‘วิศวกรระบบนิเวศ’ หรือ ‘ผู้พิทักษ์ธรรมชาติ’ ที่ครั้งหนึ่งเคยเกือบสูญพันธุ์มาแล้ว แม้อีกฉายาที่มันได้รับคือ ‘สัตว์ทำลายล้าง’ เพราะพวกมันชอบแทะต้นไม้มาสร้างบ้าน แต่หารู้ไม่ว่าพฤติกรรมการใช้ชีวิตของพวกมันกลับมีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ป้องกันไฟป่า และช่วยลดภาวะโลกร้อนได้ด้วย 

แล้วเจ้าบีเวอร์ช่วยปกป้องโลกไว้อย่างไรบ้างนะ? 

-ควบคุมการไหลของน้ำลดความเสี่ยงน้ำท่วม-

how-beaver-save-the-world-from-global-warming-SPACEBAR-Photo01.jpg

โดยธรรมชาติบีเวอร์จะสร้างเขื่อนจากท่อนไม้ หิน และโคลนซึ่งเขื่อนเหล่านี้มีประโยชน์ต่อระบบนิเวศอย่างมาก เพราะช่วยชะลอการไหลของน้ำให้ช้าลง มันจึงเกิดการกัดเซาะและลดความเสี่ยงจากน้ำท่วมได้ นอกจากนี้แล้วบีเวอร์ยังสร้างพื้นที่ชุ่มน้ำตื้นและทุ่งหญ้าน้ำขนาดใหญ่ที่มีส่วนทำให้น้ำไหลได้ช้ากว่าในช่องแม่น้ำลึก เนื่องจากมีแรงเสียดทานมากขึ้นจากการที่น้ำไหลสัมผัสกับพืชพรรณบนพื้นหุบเขา เมื่อน้ำกระจายออกไป ดินรอบๆ จะสามารถดูดซับและกักเก็บน้ำได้มากขึ้น นำไปสู่การแทรกซึมผ่านของน้ำที่สามารถช่วยเติมชั้นหินอุ้มน้ำได้ 

การวิจัยในสหราชอาณาจักรได้บันทึกไว้ว่ากิจกรรมของบีเวอร์สามารถลดการไหลของน้ำท่วมจากพื้นที่เพาะปลูกได้มากถึง 30% 

-ปรับปรุงคุณภาพน้ำ-

พื้นที่ชุ่มน้ำที่อยู่รอบๆ เขื่อนบีเวอร์จะทำหน้าที่เหมือน ‘เครื่องกรองน้ำ’ ที่คอยกำจัดมลพิษออกจากน้ำ นั่นหมายความว่าน้ำที่ไหลลงมาตามเขื่อนบีเวอร์นั้นสะอาดกว่าน้ำที่ไม่ได้ไหลตามเขื่อน นอกจากนี้ เขื่อนบีเวอร์ยังกักเก็บตะกอนอีกด้วย หากปล่อยทิ้งไว้นานพอ ตะกอนจะเปลี่ยนสระน้ำให้กลายเป็นทุ่งหญ้าแอ่งน้ำที่เรียกว่า ‘ทุ่งหญ้าบีเวอร์’ ในที่สุด 

ตะกอนดังกล่าวจะอุดมไปด้วยสารอาหารมักจะถูกกระแสน้ำพัดพาออกไปแทนที่จะจมและสะสมอยู่ที่ก้นบ่อ แร่ธาตุที่มีอยู่มากมายนี้จะกรองและสลายวัสดุที่เป็นอันตราย เช่น ยาฆ่าแมลง และทำให้พื้นที่ท้ายเขื่อนมีสุขภาพที่ดีและมีมลพิษน้อยกว่าต้นน้ำ 

-สร้างความสมดุลให้ระบบนิเวศ-

บีเวอร์นั้นขึ้นชื่อว่าเป็นวิศวกรระบบนิเวศจากการที่พวกมันสร้าง ดัดแปลง และรักษาแหล่งที่อยู่อาศัย สิ่งเหล่านี้จึงมีผลกระทบอย่างมากต่อความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่ นอกจากเขื่อนบีเวอร์จะเป็นที่อยู่อาศัยของพวกมันแล้วก็ยังเป็นที่อยู่อาศัยของแมลง นก สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และเป็นที่วางไข่ของปลาหลายชนิด รวมถึงปลาแซลมอนโคโฮและปลาแซลมอนเทราต์  

ไม้ใต้น้ำที่บีเวอร์นำไปสร้างเป็นเขื่อนกลายเป็นทั้งอาหารและที่อยู่อาศัยของแมลง และแมลงเหล่านั้นก็กลายเป็นอาหารของสัตว์สายพันธุ์อื่น รวมทั้งปลาแซลมอนด้วย นอกจากนี้ บริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำก็ยังกลายเป็นแหล่งอาหารของสัตว์สายพันธุ์อื่นๆ อีกด้วย 

-ช่วยหยุดไฟป่า-

how-beaver-save-the-world-from-global-warming-SPACEBAR-Photo02.jpg

กิจกรรมของบีเวอร์สามารถหยุดยั้งเปลวไฟที่ทำลายล้างธรรมชาติได้ เพราะพื้นที่ชุ่มน้ำที่เกิดจากเขื่อนบีเวอร์ทำให้น้ำมีความเข้มข้นสูงและให้ความชุ่มชื้นแก่ภูมิทัศน์ ประกอบกับดินที่เย็นและเปียกจะช่วยเป็นเกราะป้องกันไฟป่า ส่งผลให้ไฟลุกลามน้อยลงเนื่องจากเชื้อเพลิงเผาไหม้ได้ยากขึ้น นอกจากนี้ เขตเปียกชื้นดังกล่าวยังเป็นที่หลบภัยสัตว์ป่าจากเปลวไฟที่รุกล้ำเข้ามาด้วย 

การศึกษาล่าสุดในทางตะวันตกของสหรัฐฯ พบว่า “พืชพรรณในทางเดินริมแม่น้ำที่มีเขื่อนบีเวอร์สามารถทนไฟได้ดีกว่าในพื้นที่ที่ไม่มีบีเวอร์ เนื่องจากพืชชุ่มน้ำและเขียวชอุ่มจึงไม่ไหม้ง่าย เป็นผลให้พื้นที่ใกล้เขื่อนบีเวอร์กลายเป็นที่หลบภัยชั่วคราวสำหรับสัตว์ป่าเมื่อพื้นที่โดยรอบถูกไฟไหม้” 

เป็นเพราะพฤติกรรมการสร้างเขื่อนของบีเวอร์จึงทำให้พวกมันได้รับไปอีกหนึ่งฉายาว่าเป็น ‘นักดับเพลิงยอดเยี่ยม’ ทีเดียวล่ะ 

-บทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในทางที่ดี-

how-beaver-save-the-world-from-global-warming-SPACEBAR-Photo03.jpg

อย่างที่เราทราบกันดีว่าปัจจัยขับเคลื่อนหลักที่อยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นก็คือ ‘ปริมาณคาร์บอน’ จำนวนมหาศาลที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ ยิ่งเราปล่อยก๊าซออกมามากเท่าไร มันก็จะสะสมมากขึ้นเท่านั้น แต่บีเวอร์ช่วยลดการสะสมได้เนื่องจาก ‘พื้นที่ชุ่มน้ำบีเวอร์’ กักเก็บก๊าซเรือนกระจก และดูดซับคาร์บอนได้ 470,000 ตัน/ปี ยิ่งบีเวอร์สร้างเขื่อน สร้างพื้นที่ชุ่มน้ำมากขึ้น ก็หมายความว่าคาร์บอนในชั้นบรรยากาศจะลดน้อยลงนั่นเอง 

แต่น่าเสียดายที่ปัจจุบันจำนวนบีเวอร์ไม่ได้มีมากมายเหมือนเมื่อก่อน หากโลกจะมัวแต่พึ่งเจ้าสัตว์ฟันแทะท่าเดียวก็คงไม่ไหว รัฐบาลทั่วโลกจึงควรใส่ใจปัญหาสิ่งแวดล้อมและเริ่มแก้ปัญหาที่ต้นเหตุจริงๆ จังๆ ได้แล้ว หากลดกิจกรรมคาร์บอนที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ได้ก็คงลดความรุนแรงการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศได้ไม่น้อยเลย 

ในความเป็นจริงมันเป็นเรื่องยากมากน่ะสิ!

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์