เมื่อความขัดแย้งบานปลายอิหร่านพร้อมใช้อาวุธนิวเคลียร์แค่ไหน

20 เมษายน 2567 - 01:30

how-close-is-iran-having-nuclear-weapons-SPACEBAR-Hero.jpg
  • ก่อนหน้านี้อิหร่านยืนยันมาตลอดว่าโครงการนิวเคลียร์เป็นโครงการพัฒนาด้านพลังงานเพื่อกิจการพลเรือน และไม่เกี่ยวข้องกับการทหารแต่อย่างใด

  • หลังสหรัฐฯ ถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์ อิหร่านก็เดินหน้าขยับขยายและเร่งเดินหน้าโครงการนิวเคลียร์ต่อเนื่อง ถึงขั้นที่ลดเวลาการผลิตอาวุธนิวเคลียร์ได้แล้ว

อาห์หมัด ฮัคตาลับ จากกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่าน ส่งสัญญาณแรงว่าอิหร่านอาจพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ถ้าอิสราเอลโจมตีโครงการนิวเคลียร์ในอิหร่าน โดยขู่ว่า อิหร่านอาจทบทวน “กฎนิวเคลียร์และนโยบายนิวเคลียร์” จากที่ก่อนหน้านี้อิหร่านยืนยันมาตลอดว่าเป็นโครงการพัฒนาด้านพลังงานเพื่อกิจการพลเรือน และไม่เกี่ยวข้องกับการทหารแต่อย่างใด แต่ฝั่งอิสราเอลและตะวันตกแย้งว่าโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านไปไกลกว่าวัตถุประสงค์เพื่อความสันติ และอิหร่านกำลังพัฒนาขีปนาวุธขั้นสูง 

หลังจากข้อตกลงนิวเคลียร์ระหว่างอิหร่านกับประเทศมหาอำนาจเมื่อปี 2015 สั่นคลอนมาหลายปี อิหร่านก็ขยับขยายและเร่งเดินหนาโครงการนิวเคลียร์อย่างต่อเนื่อง จนไปถึงขั้นที่สามารถลดระยะเวลาการผลิตระเบิดนิวเคลียร์ได้แล้วหากอิหร่านต้องการจะผลิต 

ข้อตกลงนิวเคลียร์ล่ม 

ข้อตกลงนิวเคลียร์เมื่อปี 2015 จำกัดกิจกรรมต่างๆ ทางนิวเคลียร์ของอิหร่านอย่างเข้มงวดเพื่อแลกกับการที่นานาชาติยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่ออิหร่าน ข้อตกลงนี้ตัดลดปริมาณยูเรเนียมเสริมสมรรถนะของอิหร่านลงเหลือเพียงเล็กน้อย และมีความบริสุทธิ์เพียง 3.67% ซึ่งห่างไกลจากเกรดที่ใช้ผลิตอาวุธที่ต้องมีความบริสุทธิ์ราว 90%  

ขณะนั้นสหรัฐฯ ระบุว่าวัตถุประสงค์หลักของข้อตกลงนี้คือ ยืดระยะเวลาที่อิหร่านจะต้องใช้ในการผลิตวัสดุฟิสไซล์ (วัสดุที่สามารถทำให้เกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์ต่อเนื่องได้) สำหรับระเบิดนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นอุปสรรคใหญ่ของโครงการผลิตอาวุธ ออกไปอีกอย่างน้อย 1 ปี  

ปี 2018 ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ในขณะนั้นพาสหรัฐฯ ถอนตัวจากข้อตกลงนี้ แล้วหวนกลับไปคว่ำบาตรอิหร่านด้วยการจำกัดการส่งออกน้ำมันของอิหร่าน ทำให้เศรษฐกิจกระทบหนัก ปี 2019 อิหร่านจึงเริ่มฝ่าฝืนข้อห้ามโครงการนิวเคลียร์ต่างๆ  

อิหร่านละเมิดข้อห้ามหลักๆ ทั้งหมด รวมถึงสถานที่ เครื่องจักร และปริมาณที่สามารถเสริมสมรรถนะยูเรเนียม ไปจนถึงปริมาณที่สามารถสะสมไว้ได้ 

รายงานไตรมาสล่าสุดของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ที่เข้าไปตรวจสอบโรงงานเสริมสมรรถนะยูเรเนียมของอิหร่านระบุว่า ปริมาณยูเรเนียมเสริมสมรรถนะของอิหร่านจำกัดไว้ที่ 202.8 กิโลกรัมตามข้อตกลง เพิ่มขึ้นมาเป็น 5.5 ตันในเดือนกุมภาพันธ์ 

นอกจากนี้ อิหร่านยังเสริมสมรรถนะยูเรเนียมให้มีความบริสุทธิ์ถึง 60% และหากจะเสริมสมรรถนะต่อไปอีกก็มีวัสดุเพียงพอที่จะผลิตอาวุธนิวเคลียร์ได้ 2 ลูก 

นั่นหมายความว่า “จุดประสบความสำเร็จ” ของอิหร่าน หรือระยะเวลาที่อิหร่านต้องการในการผลิตยูเรเนียมให้ถึงเกรดที่สามารถผลิตอาวุธได้เพื่อสร้างระเบิดนิวเคลียร์ ขยับเข้าใกล้เส้นชัยเต็มที ซึ่งอาจอยู่ในหลักวันหรือสัปดาห์เท่านั้น 

ก่อนหน้านี้ IAEA เข้าไปตรวจสอบโรงงานเสริมสมรรถนะยูเรเนียมที่อิหร่านเปิดเผยได้ โดยมีโรงงานเหนือพื้นดิน และใต้พื้นดินที่ใหญ่กว่าอย่างละ 1 โรงงานในเมืองนาทานซ์ และอีก 1 โรงงานอยู่ใต้ภูเขาในฟอร์โดว์ แต่หลังจากอิหร่านฉีกข้อตกลงนี้แล้ว IAEA ก็ไม่สามารถเฝ้าติดตามการผลิตและจำนวนเครื่องหมุนเหวี่ยงที่ใช้เสริมสมรรถนะได้อีก รวมทั้งเข้าไปตรวจสอบในโรงงานไม่ได้แล้ว ทำให้เกิดการคาดเดาว่าอิหร่านอาจตั้งโรงงานเสริมสมรรถนะลับๆ แต่ก็ยังไม่มีข้อบ่งชี้ที่เป็นรูปธรรม

how-close-is-iran-having-nuclear-weapons-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: วิศวกรในโรงงานเสริมสมรรถนะยูเรเนียมในเมืองนาทานซ์ Photo by Iranian Presidency / AFP

ผลิตอาวุธนิวเคลียร์ 

นอกเหนือจากการเสริมสมรรถนะยูเรเนียม ยังมีคำถามว่าอิหร่านต้องใช้เวลาเท่าใดในการผลิตอาวุธนิวเคลียร์ที่เหลือ และทำให้อาวุธเหล่านี้มีขนาดเล็กเพื่อให้นำมาใช้กับระบบยิงอย่างขีปนาวุธข้ามทวีป ซึ่งคาดคะเนได้ยาก เนื่องจากไม่ชัดเจนว่าอิหร่านมีความรู้เรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน 

หน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯ และ IAEA เชื่อว่าอิหร่านมีโครงการอาวุธนิวเคลียร์ในระดับเดียวกับโครงการที่หยุดไปตั้งแต่ปี 2003 โดย IAEA พบว่า โครงการนี้มุ่งเน้นไปที่การผลิตอาวุธและมีกิจกรรมบางอย่างดำเนินต่อเนื่องมาจนถึงปลายปี 2009  

อิหร่านปฏิเสธว่าไม่เคยมีโครงการอาวุธนิวเคลียร์ แม้ว่า อยาโตเลาะห์ อาลี คอเมเนอี ผู้นำสูงสุดจะเคยบอกว่า หากอิหร่านต้องการโครงการดังกล่าว บรรดาผู้นำโลก “ไม่มีทางหยุดยั้งเราได้”

การคาดการณ์ว่าอิหร่านจะใช้เวลานานแค่ไหนการการผลิตอาวุธนิวเคลียร์ส่วนใหญ่จะแตกต่างกันระหว่างหลายเดือนถึงราว 1 ปี  

เดือนมีนาคม 2023 นายพล มาร์ก มิลลีย์ เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกองทัพสหรัฐฯ ในขณะนั้นเผยกับสภาคองเกรสว่า การผลิตอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่านต้องใช้เวลาหลายเดือน แต่ไม่ได้เผยรายละเอียดว่าประเมินจากอะไร 

อย่างไรก็ดี แม้อิหร่านจะพยายามพัฒนานิวเคลียร์มานานหลายปีแล้ว แต่ตอนนี้ยังไม่ถือว่าเป็นประเทศที่ครอบครองนิวเคลียร์ ต่างจากอิสราเอลที่เชื่อว่าน่าจะได้รับเทคโนโลยีนี้จากสหรัฐฯ  

Photo by IRANIAN DEFENCE MINISTRY / AFP

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์