ยังเป็นปริศนา? นักวิทย์เผยทฤษฎีใหม่ชาวอียิปต์โบราณสร้างพีระมิดด้วยระบบลิฟต์ไฮดรอลิก

6 ส.ค. 2567 - 09:17

  • เป็นเวลาหลายปีแล้วที่นักอียิปต์วิทยาถกเถียงกันอย่างดุเดือดว่าพีระมิดขนาดใหญ่ของอียิปต์โบราณสร้างขึ้นมาได้อย่างไรเมื่อกว่า 4,000 ปีที่แล้ว

  • และล่าสุดกับการเสนอทฤษฎีใหม่โดยทีมวิศวกรและนักธรณีวิทยานั่นก็คือ อุปกรณ์ยกคล้ายลิฟต์ระบบไฮดรอลิกที่ช่วยยกหินหนักๆ ลอยขึ้นกลางพีระมิดที่เก่าแก่ที่สุดของอียิปต์ได้โดยใช้พลังงานน้ำจากระบบบำบัดน้ำ

how-did-ancient-egyptians-stack-those-heavy-stones-of-oldest-pyramid-SPACEBAR-Hero.jpg

เป็นเวลาหลายปีแล้วที่นักอียิปต์วิทยาถกเถียงกันอย่างดุเดือดว่าพีระมิดขนาดใหญ่ของอียิปต์โบราณสร้างขึ้นมาได้อย่างไรเมื่อกว่า 4,000 ปีที่แล้ว และล่าสุดกับการเสนอทฤษฎีใหม่โดยทีมวิศวกรและนักธรณีวิทยานั่นก็คือ อุปกรณ์ยกคล้ายลิฟต์ระบบไฮดรอลิกที่ช่วยยกหินหนักๆ ลอยขึ้นกลางพีระมิดที่เก่าแก่ที่สุดของอียิปต์ได้โดยใช้พลังงานน้ำจากระบบบำบัดน้ำ 

อย่างที่ทราบกันดีว่าชาวอียิปต์โบราณสร้างพีระมิดขั้นบันไดขึ้นมาสำหรับฟาโรห์โจเซอร์ในศตวรรษที่ 27 ก่อนคริสตกาล ถือเป็นโครงสร้างที่สูงที่สุดในสมัยนั้นประมาณ 62 เมตร (204 ฟุต) แต่ทว่าการสร้างอนุสรณ์สถานนี้ซึ่งมีหินจำนวนหนึ่งน้ำหนักรวม 300 กิโลกรัม ยังคงเป็นปริศนามาหลายศตวรรษ  

“เอกสารเผยแพร่ที่มีรายละเอียดมากมายได้กล่าวถึงขั้นตอนการสร้างพีระมิดและนำเสนอองค์ประกอบที่จับต้องได้ แต่เอกสารเหล่านี้มักจะมุ่งเน้นไปที่พีระมิดในยุคอาณาจักรกลาง และอาณาจักรใหม่ (1980-1075 ก่อนคริสตกาล) ซึ่งสร้างใหม่กว่า มีการบันทึกรายละเอียดไว้ดีกว่า และมีขนาดเล็กกว่า” ดร.ซาเวียร์ ลองโดร นักวิจัยหลักและซีอีโอของ ‘Paleotechnic’ สถาบันวิจัยเอกชน ในปารีสที่ศึกษาวิจัยเทคโนโลยีโบราณ กล่าว 

ดร.ลองโดร กล่าวเสริม อีกว่า “เทคนิคที่เกี่ยวข้องอาจรวมถึงทางลาด เครน เครื่องกว้าน ระบบลิฟต์ รอก แกนหมุน หรือวิธีการผสมผสานเหล่านี้...แล้วพีระมิดในสมัยอาณาจักรโบราณ (2675-2130 ก่อนคริสตกาล) ล่ะ ซึ่งใหญ่กว่ามาก ในขณะที่กำลังของมนุษย์ และทางลาดอาจเป็นแรงขับเคลื่อนเพียงอย่างเดียวในการก่อสร้างโครงสร้างขนาดเล็ก เทคนิคอื่นๆ อาจถูกนำมาใช้กับพีระมิดขนาดใหญ่”  

ระบบบำบัดน้ำที่ซับซ้อนซึ่งใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นจะช่วยให้สามารถสร้างลิฟต์ที่ใช้พลังงานน้ำภายในช่องแนวตั้งภายในพีระมิดได้ จากการศึกษาพบว่าทุ่นลอยบางชนิดสามารถยกหินหนักๆ ขึ้นตรงกลางพีระมิดได้

“แม้ว่าทฤษฎีนี้จะเป็น ‘วิธีแก้ปัญหาที่ชาญฉลาด’ แต่บรรดานักอียิปต์วิทยาบางคนก็ไม่เชื่อ เพราะทฤษฎีที่เชื่อกันอย่างกว้างขวางกว่านั้นก็คือ ชาวอียิปต์โบราณใช้ทางลาดและอุปกรณ์ลากเพื่อวางบล็อกหนักๆ เข้าที่”

ดร.เดวิด เจฟฟรีส์ นักอียิปต์วิทยาซึ่งไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการศึกษาครั้งนี้ กล่าว

เป็นไปไม่ได้ว่าอียิปต์โบราณจะมีฝนจนมีน้ำไปใช้ในระบบลิฟต์ (?)

จากการวิเคราะห์ข้อมูลที่มีอยู่ รวมถึงภูมิอากาศโบราณ การศึกษาสภาพภูมิอากาศโบราณ และข้อมูลทางโบราณคดี ทีมศึกษาเผยว่า น้ำจากลำธารโบราณไหลมาจากทางตะวันตกของที่ราบสูงซัคคารา เข้าสู่ระบบร่องน้ำลึก และอุโมงค์ที่ล้อมรอบพีระมิดขั้นบันได 

นอกจากนี้ น้ำยังไหลเข้าสู่ ‘Gisr el-Mudir' โครงสร้างหินปูนรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ 650 x 350 เมตร (2,133 ฟุต x 1,148 ฟุต) ซึ่งก่อนหน้านี้เชื่อกันว่าโครงสร้างนี้จะเป็นป้อมปราการ เวทีเฉลิมฉลอง หรือคอกปศุสัตว์ โดยจะทำหน้าที่เป็นเขื่อนกั้นน้ำ ควบคุม และกักเก็บน้ำจากน้ำท่วมหนัก ตลอดจนกรองตะกอนและสิ่งสกปรกเพื่อไม่ให้อุดตันทางน้ำ  

ระบบบำบัดน้ำตามทฤษฎีนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยควบคุมน้ำในช่วงที่เกิดน้ำท่วมเท่านั้น แต่ยังช่วยให้แน่ใจถึงคุณภาพและปริมาณน้ำที่เพียงพอสำหรับการบริโภคและการชลประทาน และสำหรับการขนส่งหรือการก่อสร้าง” ดร.กิโยม ปิตง นักวิจัยร่วม และนักวิจัยจากสถาบันวิจัยแห่งชาติเพื่อการเกษตร อาหาร และสิ่งแวดล้อมของฝรั่งเศส (INRAE) กล่าว 

ผู้เขียนวิจัยชี้ให้เห็นถึงการศึกษาก่อนหน้านี้หลายฉบับที่พบว่าทะเลทรายซาฮาราเคยมีฝนตกสม่ำเสมอมากกว่าเมื่อหลายพันปีก่อนเมื่อเทียบกับปัจจุบัน ภูมิประเทศจะคล้ายกับทุ่งหญ้าสะวันนาซึ่งพืชพรรณเติบโตได้มากกว่าทะเลทรายที่แห้งแล้ง อย่างไรก็ตาม ยังมีการถกเถียงกันว่าสภาพอากาศมีฝนตกชุกกว่าเมื่อใด 

“เป็นไปได้ว่าอาจมีน้ำเพียงพอที่จะรองรับระบบลิฟต์ไฮดรอลิก” ดร.จูดิธ บันเบอรี นักธรณีโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ในลอนดอน ซึ่งไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการศึกษาใหม่นี้ กล่าว 

“ฉันคิดว่ามีความเชื่อกันอย่างแพร่หลายว่าในอาณาจักรโบราณจะมีฝนตกหนัก โดยเฉพาะในช่วงอาณาจักรโบราณตอนต้นที่มีการสร้างพีระมิดขั้นบันได” ดร.บันเบอรี กล่าว

ในทางกลับกัน ผู้เชี่ยวชาญต่างถกเถียงกันว่าจะมีฝนตกอย่างต่อเนื่องเพียงพอที่จะเติมโครงสร้างที่ใช้รองรับลิฟต์ไฮดรอลิกอย่างคูน้ำแห้ง ซึ่งเป็นช่องทางขนาดยักษ์ที่ล้อมรอบพีระมิดขั้นบันไดและโครงสร้างใกล้เคียงได้อย่างไร โดยผู้เขียนวิจัยเชื่อว่าน้ำที่เก็บรวบรวมไว้จะช่วยขับเคลื่อนลิฟต์ตอนที่ใช้งาน 

ตามที่ ดร.เจฟฟรีส์กล่าวว่า “ยุคที่ทะเลทรายซาฮาราเขียวขจีน่าจะสิ้นสุดลงในช่วงต้นสหัสวรรษที่ 3 ก่อนคริสตกาล” ขณะที่ ดร.ฟาเบียน เวลค์ ผู้อำนวยการสถาบันโบราณคดีแห่งมหาวิทยาลัยคาร์ดินัล สเตฟาน วิสซินสกี ในกรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ ซึ่งไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการศึกษาใหม่นี้ก็กล่าวเสริมว่า “ฝนที่ตกน้อยจะไม่สามารถเติมเต็มโครงสร้างได้ในระดับที่จำเป็นสำหรับระบบลิฟต์ไฮดรอลิก และยิ่งไปกว่านั้นระบบลิฟต์ดังกล่าวไม่สามารถรับมือกับการสูญเสียน้ำภายในโครงสร้างได้อีกด้วย”  

“ในอียิปต์ตอนเหนือ (รวมถึงในซัคคารา) เกิดฝนตกหนัก (ฝนตามฤดูกาลและตกในฤดูหนาว) ในช่วงราชวงศ์ที่ 3 (2670-2613 ปีก่อนคริสตกาล ) แต่ปริมาณน้ำฝนค่อนข้างต่ำ ฝนที่ตกหนักเหล่านี้แม้จะทำให้หุบเขาที่แห้งแล้ง (ยกเว้นในฤดูฝน ) เต็มไปด้วยน้ำ แต่ก็ไม่สามารถเติมคูน้ำที่แห้งแล้งได้แม้แต่น้อย…น้ำเหล่านี้จะถูกดูดออกไปทันทีโดยแรงโน้มถ่วงซึ่งลึกลงไปในโขดหิน ซึ่งไม่ต้องสงสัยเลย (เว้นแต่ว่าจะเป็นน้ำท่วมตามพระคัมภีร์)” ดร.เวลค์กล่าวในอีเมล 

ผู้เขียนผลการศึกษายอมรับว่าไม่น่าจะเป็นไปได้เลยที่ระบบลิฟต์จะเต็มไปด้วยน้ำอย่างถาวร และแย้งว่าเป็นไปได้มากกว่าว่าน้ำท่วมฉับพลันในสมัยนั้นจนอาจมีน้ำเพียงพอที่จะรองรับระบบลิฟต์ไฮดรอลิกระหว่างการก่อสร้างพีระมิดได้ อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนระบุไว้ในการศึกษาอีกว่ายังต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมอีกมากเพื่อที่จะได้ทราบว่าจะต้องมีฝนตกและน้ำท่วมมากเพียงใดในช่วงเวลาดังกล่าว 

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่นักวิจัยจะคิดว่าแม่น้ำไนล์อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างพีระมิดหรือไม่ การศึกษาวิจัยที่ตีพิมพ์เมื่อเดือนพฤษภาคมนั้นมีการตั้งทฤษฎีว่าแม่น้ำสายนี้น่าจะถูกใช้ขนส่งบล็อกหินปูนขนาดใหญ่ไปยังสถานที่ก่อสร้างพีระมิดหลายแห่ง 

นอกจากนี้ ดร.เจฟฟรีส์ยังบอกอีกว่า “ยังมีหลักฐานบางอย่างที่บ่งชี้ว่าชาวอียิปต์โบราณใช้ระบบลิฟต์ไฮดรอลิกส์สร้างพีระมิดในขนาดที่เล็กกว่าด้วย”

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์