ผ่านกี่ยุคก็ร้อนไม่แผ่ว! คนสมัยก่อนรับมือกับ ‘อากาศร้อน’ ยังไง? ไม่มีทั้งแอร์และพัดลม

13 เมษายน 2567 - 00:00

how-did-ancient-humans-deal-with-heat-SPACEBAR-Hero.jpg
  • ส่องวัฒนธรรมคลายร้อนสุดสร้างสรรค์ของคนสมัยก่อนในยุคที่ไม่มีทั้งแอร์และพัดลม แล้วพวกเขารับมือกันยังไง?

โลกของเราร้อนขึ้นทุกๆ วัน แต่ละประเทศต้องเผชิญกับอุณหภูมิที่สูงขึ้นทำลายสถิติซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะในช่วงไม่กี่ปีมานี้ภูมิอากาศโลกไม่ปกติจริงๆ ซึ่งดูเหมือนว่ามันจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และนั่นแหละที่น่ากลัว! วลีที่ว่า ‘อากาศร้อนฆ่าคนได้’ ไม่เกินจริง! บางประเทศร้อนจนแทบจะร้องขอชีวิตเชียวล่ะ 

แต่เคยสงสัยบ้างไหมว่าอากาศร้อนๆ แบบนี้ผู้คนสมัยก่อนเขาใช้ชีวิตคลายร้อนกันยังไง? ทุกวันนี้ที่มีแอร์ก็ยังเอาไม่อยู่เลย แล้วสมัยก่อนที่ยังไม่มีแอร์และพัดลม พวกเขารับมือกับอากาศร้อนอย่างไรกันบ้าง? 

-ระบบปรับอากาศแบบอียิปต์โบราณ-

how-did-ancient-humans-deal-with-heat-SPACEBAR-Photo05.jpg

ในอียิปต์โบราณ ผู้คนมักอาศัยอยู่ในกระท่อมอิฐโคลนใกล้กับแม่น้ำไนล์ โดยพวกเขาจะคลายร้อนด้วยการแขวนต้นกกเปียกไว้ที่หน้าต่างและทางเข้าประตู เมื่อสายลมพัดผ่านเข้ามาอากาศในที่พักอาศัยจะเย็นลงและวางกระถางดินเผาที่มีน้ำไว้ตามทางเดิน เมื่อน้ำระเหยไปก็จะช่วยให้อากาศเย็นสบายขึ้น เนื่องจากภูมิประเทศของอียิปต์ส่วนใหญ่เป็นทะเลทรายจึงทำให้มีพื้นที่เพาะปลูกขนาบข้างแม่น้ำไนล์เพียงประมาณ 5% ของประเทศเท่านั้น ซึ่งประชากรส่วนใหญ่อาศัยอยู่บริเวณนั้นมาโดยตลอด  

-แช่อาหารในบ่อน้ำแบบจีนโบราณ-

how-did-ancient-humans-deal-with-heat-SPACEBAR-Photo01.jpg

การนำอาหารไปแช่ไว้ในบ่อน้ำในสมัยราชวงศ์ฉิน (221-207 ปีก่อนคริสตกาล) และราชวงศ์ฮั่น (202 ปีก่อนคริสตกาล-ค.ศ. 220) เพราะวิธีคลายร้อนที่พบบ่อยที่สุดในหมู่คนทั่วไปคือ ‘การใช้บ่อน้ำ’ บางครอบครัวนำเหยือกน้ำใส่ในกล่องแล้วเอาไปแช่ในน้ำ หรือนำอาหารใส่ในตะกร้าแล้วหย่อนตะกร้าลงในบ่อน้ำ ซึ่งแนวคิดนี้คล้ายๆ กับการแช่ของในตู้เย็น 

-ท่อส่งน้ำของชาวโรมัน-

how-did-ancient-humans-deal-with-heat-SPACEBAR-Photo02.jpg

ท่อส่งน้ำ (Roman aqueducts) ของชาวโรมันที่กระจายอยู่ทั่วยุโรปได้รับการออกแบบให้ใช้แรงโน้มถ่วงโดยไม่ต้องใช้ปั๊มในการสูบน้ำผ่านท่ออิฐ หิน หรือคอนกรีตเป็นระยะทางหลายร้อยไมล์ เนื่องจากชาวโรมันสร้างช่องทางน้ำเหล่านี้บนพื้นที่ลาดเอียง  

ท่อส่งน้ำส่วนใหญ่อยู่ใต้ดินซึ่งจะมีท่อตะกั่วหรือท่อเซรามิกให้น้ำไหลผ่านทั่วสาธารณรัฐเพื่อนำน้ำจากแหล่งภายนอกเข้าสู่เมืองต่างๆ โดยส่งน้ำไปยังห้องอาบน้ำสาธารณะ บ่อน้ำพุ ครัวเรือนส่วนตัว รวมถึงเหมือง โรงสี ฟาร์ม และสวนอีกด้วย 

แน่นอนว่าในช่วงวันที่อากาศร้อน ท่อที่อยู่ในผนังของบ้านเหล่านี้จะลำเลียงน้ำเพื่อระบายความร้อน ซึ่งถือเป็นระบบปรับอากาศที่มีประสิทธิภาพและชาญฉลาดแบบที่ไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนออกมาแต่อย่างใด 

-สร้างบ้านและอาคารเน้นเพดานสูงมีหน้าต่างรับลม-

how-did-ancient-humans-deal-with-heat-SPACEBAR-Photo03.jpg

ชาวยุโรปที่อาศัยอยู่บริเวณแถบเมดิเตอร์เรเนียนมักนิยมสร้างบ้านและอาคารที่มีเพดานสูงและหน้าต่างแบบเน้นรับลม ก่อนที่จะมีไฟฟ้า บางบ้านจะมี ‘พัดผืนใหญ่’ ผูกเข้ากับเชือก โดยคนรับใช้ในบ้านจะโยกในลักษณะเดียวกับการตีระฆังโบสถ์ขนาดใหญ่ วิธีนี้ใช้ได้ในวันที่แห้งและชื้น 

ส่วนบ้านที่มีดาดฟ้าจะถูกระบายความร้อนด้วยการสาดน้ำปริมาณมากบนระเบียงดาดฟ้าหลังพระอาทิตย์ตกดิน และไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้คนจะนอนบนระเบียงดาดฟ้าในที่โล่งด้วยการปูเสื่อหรือปูที่นอนบางๆ ไว้บนพื้น เพราะอากาศจะเย็นหลังเที่ยงคืน และเย็นสบายยามเช้าตรู่ในบางครั้ง 

ในอินเดียยกตัวอย่างหอคอยลมอย่าง ‘ฮาวามาฮาล’ หรือพระราชวังแห่งสายลม ในนครชัยปุระ อินเดีย ซึ่งจะมีบานหน้าต่างลายแลททิซเรียกว่า ‘จาฬี’ ช่วยกันแสงแดดไม่ให้ส่องเข้ามา พบเห็นได้ในอาคารต่างๆ เช่น ทัชมาฮาลในอินเดีย 

-น้ำพุคลายร้อน-

how-did-ancient-humans-deal-with-heat-SPACEBAR-Photo04.jpg

น้ำพุในช่วงทศวรรษที่ 1800 และต้นทศวรรษที่ 1900 มีความแตกต่างอย่างมากจากในปัจจุบัน แต่ก็ยังเป็นวิธีง่ายๆ ในการทำให้ร่างกายเย็นลงในฤดูร้อน 

น้ำพุบางแห่งในเมืองใหญ่จะสร้างขึ้นเป็นรางน้ำขนาดใหญ่เพื่อให้ผู้คนสามารถทำได้มากกว่าแค่ดื่มน้ำ แต่ในช่วงฤดูร้อน มันยังกลายเป็นศูนย์กลางคลายร้อนที่ผู้คนสามารถจุ่มหัวเพื่อความเย็นสบายได้ แต่ถึงแม้ว่าน้ำพุแบบนี้จะช่วยให้คลายความร้อนได้ง่ายขึ้น แต่มันก็ทำให้เจ็บป่วยได้ง่ายขึ้นอีกด้วย

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์