เมื่อการสู้รบระหว่างดินแดนปาเลสไตน์และอิสราเอลกลับมาปะทุรุนแรงขึ้นอีกครั้ง หลังขัดแย้งกันมาอย่างยาวนานตั้งแต่ช่วงกลางศตวรรษที่ 20 โดยมี ‘ฉนวนกาซา’ ที่เป็นส่วนหนึ่งของสนามรบซึ่งปัจจุบันเป็นฐานที่มั่นของกลุ่มติดอาวุธฮามาสโดยพฤตินัยไปเสียแล้ว แม้ว่าจะยังอยู่ภายใต้การยึดครองของอิสราเอลที่รับรองโดยสหประชาชาติก็ตาม

พื้นที่แคบๆ ราว 362 ตารางกิโลเมตรบนชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของทะเลเมดิเตอร์เรเนียนแห่งนี้มีขนาดประมาณ 2 เท่าของวอชิงตัน ดี.ซี. ที่กั้นระหว่างอิสราเอลตอนเหนือและตะวันออก และอียิปต์ทางใต้ ซึ่งก่อนหน้านี้ในสงคราม 6 วันปี 1967 ตกเป็นดินแดนของอิสราเอล ทว่านับตั้งแต่ปี 2007 ก็เป็นฮามาสที่เข้ามายึดครองฉนวนกาซาจนถึงปัจจุบัน
พลเมืองในฉนวนกาซาใช้ชีวิตอย่างไร?
ฮิวแมนไรท์วอทช์เปรียบสภาพในฉนวนกาซาว่าเป็น ‘เรือนจำกลางแจ้ง’ ซึ่งหมายถึงการจำกัดการเคลื่อนไหวที่อิสราเอลบังคับใช้กับชาวปาเลสไตน์ที่นั่น อิสราเอลห้ามชาวปาเลสไตน์เข้าหรือออกจากพื้นที่ “ยกเว้นในกรณีที่หายากมากซึ่งรวมถึงภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ที่คุกคามถึงชีวิต และรายชื่อพ่อค้าซึ่งน้อยมาก” ตามข้อมูลของ B’Tselem กลุ่มสิทธิมนุษยชนของอิสราเอล
ขณะที่ชาวอิสราเอล ผู้ตั้งถิ่นฐานชาวยิว และชาวต่างชาติไม่อยู่ภายใต้ข้อจำกัดเหล่านี้ และมีอิสระที่จะเดินทางเข้าและออกจากฉนวนกาซา ทั้งนี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อิสราเอลค่อยๆ ปิดการข้ามพรมแดนทางบกจากฉนวนกาซาไปยังอิสราเอลซึ่งจะเปิดให้เฉพาะชาวปาเลสไตน์ที่ได้รับใบอนุญาตจากอิสราเอลเท่านั้น
ส่วนใหญ่เป็นชาวปาเลสไตน์ที่อาศัยอยู่ที่นี่
ประชากรมากกว่า 2 ล้านคนในฉนวนกาซาเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนปาเลสไตน์ทั่วโลกที่จำนวน 14 ล้านคน โดยประมาณ 2 ใน 3 เป็นผู้ลี้ภัยจากสงครามในปี 1948 และลูกหลานของพวกเขาซึ่งหลายคนมาจากเมืองอื่นๆ และหมู่บ้านรอบๆ ฉนวนกาซา
ตามรายงานของ Gisha องค์กรสิทธิมนุษยชนของอิสราเอลระบุว่า “ฉนวนกาซาเป็นหนึ่งในดินแดนที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดแห่งหนึ่งของโลก”
ทั้งนี้ พบว่า ชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น โดยเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรมีอายุต่ำกว่า 18 ปี นอกจากนี้ ดินแดนแห่งนี้ยังยากจนมาก โดยมีอัตราความยากจนอยู่ที่ 53%
แม้ว่าภาพเศรษฐกิจจะย่ำแย่ แต่ก็พบว่าระดับการศึกษายังค่อนข้างสูง โดยมากกว่า 95% ของเด็กชาวกาซา ที่มีอายุ 6-12 ปีเรียนหนังสือ ขณะที่นักเรียนชาวปาเลสไตน์ส่วนใหญ่ก็สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนมัธยมปลาย และ 57% จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอิสลามอันทรงเกียรติแห่งฉนวนกาซาซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง
แต่สำหรับผู้สำเร็จการศึกษาที่มีอายุระหว่าง 19-29 ปีกลับอัตราการว่างงานอยู่ที่ 70% นอกจากนี้ การสำรวจของธนาคารโลกเมื่อต้นปีนี้ยังพบอีกว่า 71% ของชาวกาซาประสบกับภาวะซึมเศร้าและอาการ PTSD ในระดับสูง
พลเมืองเผชิญกับความทุกข์ยากและความหวาดกลัวไม่มีที่สิ้นสุด
เพราะการปิดล้อมฉนวนกาซาของอิสราเอลที่ยาวนานถึง 16 ปีจนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีทั้งการจำกัดการนำเข้าอาหาร เชื้อเพลิง และวัสดุก่อสร้าง รวมถึงข้อจำกัดที่ว่าชาวประมงในกาซาสามารถออกทะเลได้ไกลแค่ไหน ห้ามการส่งออกเกือบทั้งหมด ทั้งยังกำหนดข้อจำกัดที่เข้มงวดในการเคลื่อนย้ายผู้คนเข้าและออกจากฉนวนกาซาด้วย
ตามตัวเลขของสหประชาชาติระบุว่า “ในปี 2023 อิสราเอลอนุญาตให้ผู้คนออกจากฉนวนกาซาได้เพียงประมาณ 50,000 คนต่อเดือนเท่านั้น”
“หลายปีแห่งการปิดเมืองท่ามกลางความขัดแย้งได้ทำลายล้างชีวิตของชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา…ผู้คนที่นี่ไม่มีน้ำเพียงพอสำหรับดื่มและสุขาภิบาล พวกเขาต้องเผชิญกับการตัดไฟฟ้าเป็นเวลา 12-18 ชั่วโมงในแต่ละวัน” รายงานของกลุ่มสิทธิทางการแพทย์ Medical Aid for Palestine (MAP) ระบุ
ข้อจำกัดเหล่านี้กระทบต่อเด็กและเยาวชนในฉนวนกาซาอย่างหนักเป็นพิเศษ ขณะเดียวกันอิสราเอลก็มักปฏิเสธใบอนุญาตที่ผู้ป่วยต้องได้รับเพื่อรับการรักษาพยาบาลนอกฉนวนกาซาเป็นประจำ ส่วนนักเรียนเรียนดีที่ได้ทุนไปศึกษาต่อต่างประเทศก็มักจะพบว่าไม่สามารถออกจากที่นี่ได้
ผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติเผยว่า “การปิดล้อมครั้งนี้ผิดกฎหมายภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ…การปิดล้อมดังกล่าวถือเป็นการลงโทษชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา ซึ่งเป็นการละเมิดอนุสัญญากรุงเฮกและอนุสัญญาเจนีวาว่าด้วยกฎหมายระหว่างประเทศ”
“การห้ามชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาไม่ให้เคลื่อนไหวอย่างอิสระภายในบ้านเกิดของพวกเขาทำให้ชีวิตต้องหยุดชะงัก ซึ่งมันตอกย้ำความเป็นจริงอันโหดร้ายของการแบ่งแยกสีผิวและการประหัตประหารสำหรับชาวปาเลสไตน์หลายล้านคน” ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวในรายงานปี 2021
ชีวิตท่ามกลาง ‘สงคราม’

อิสราเอลอ้างว่า “การปิดล้อมฉนวนกาซามีความจำเป็นเพื่อความปลอดภัยของประชากร และจะถูกยกเลิกเมื่อกลุ่มฮามาสละทิ้งความรุนแรง ยอมรับอิสราเอล และปฏิบัติตามข้อตกลงก่อนหน้านี้”
แต่กลุ่มฮามาสก็ปฏิเสธคำขาดนี้มาโดยตลอด และยิงขีปนาวุธและปืนครกที่เข้าไปในพื้นที่ที่มีประชากรอยู่รอบๆ ฉนวนกาซาตั้งแต่ปี 2008 โดยพยายามกดดันอิสราเอลให้ยกเลิกการปิดล้อม และยังโจมตีอิสราเอลในลักษณะนี้เป็นระยะๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาด้วย
ขณะที่อิสราเอลเองก็ได้เปิดฉากโจมตีทางทหารครั้งใหญ่ในฉนวนกาซาถึง 4 ครั้งในปี 2008-2009, 2012, 2014 และ 2021 เพื่อที่จะทำลายกองกำลังของฮามาส ซึ่งสงครามเหล่านั้นคร่าชีวิตชาวปาเลสไตน์ไปราว 4,000 รายโดยมากกว่าครึ่งหนึ่งเป็นพลเรือน และเป็นชาวอิสราเอล 106 ราย
สงครามแต่ละครั้งมักสิ้นสุดลงด้วยการหยุดยิงที่เปราะบาง แต่มันก็ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาความขัดแย้งอย่างแท้จริง “แม้ว่าพวกเขาจะสนับสนุนการหยุดยิงครั้งก่อนๆ แต่อิสราเอลก็ยังคงโจมตีชาวปาเลสไตน์ต่อไป และปฏิเสธที่จะยกเลิกการปิดล้อม” ฮามาสและกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ กล่าว
แม้ฮามาสจะเสนอการสงบศึกระยะยาวเพื่อแลกกับการที่อิสราเอลยุติการปิดล้อมฉนวนกาซา แต่อิสราเอลก็ปฏิเสธที่จะยอมรับข้อเสนอดังกล่าว โดยยืนกรานว่า ‘กลุ่มฮามาสจะต้องยุติความรุนแรงและยอมรับอิสราเอลเสียก่อน’
ทว่าในช่วงหลายเดือนที่นำไปสู่ความรุนแรงครั้งล่าสุด สถานการณ์ในฉนวนกาซากลับย่ำแย่ลงไปอีก ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศรายงานเมื่อเดือนกันยายนว่า “แนวโน้มเศรษฐกิจของกาซายังคงย่ำแย่” และสถานการณ์กลับเลวร้ายยิ่งขึ้นไปอีกเมื่ออิสราเอลประกาศเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2023 ว่า ‘จะหยุดการส่งออกทั้งหมดจากจุดผ่านแดนสำคัญในฉนวนกาซา’
เพราะความทุกข์ทรมานของพลเมืองปาเลสไตน์ที่เกิดจากการปิดล้อมไม่สิ้นสุด จึงเป็นเหตุให้ฮามาสตัดสินใจที่จะพลิกสถานการณ์ที่เป็นอยู่ด้วยการโจมตีชาวอิสราเอลอย่างไม่คาดคิด และนั่นยังผลให้อิสราเอล’ทำการปิดล้อมฉนวนกาซาโดยสมบูรณ์’ ซึ่งเป็นการตอกย้ำและทวีคูณความทุกข์ทรมานให้กับชาวกาซามากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ผลกระทบของสงครามไม่รู้จบและก็ไม่รู้ว่าจะไปจบที่ตรงไหนด้วย แล้วผลจะตกที่ใครได้ล่ะถ้าไม่ใช่พลเมืองในฉนวนกาซาที่ได้รับความทุกข์ยากเต็มๆ รวมไปถึงคนบริสุทธิ์ทั้งชาวอิสราเอลและชาวปาเลสไตน์ที่ต้องสังเวยชีวิตไปไม่รู้กี่พันราย ในท้ายที่สุด ‘เหยื่อของสงครามก็มักจะเป็นประชาชนผู้บริสุทธิ์เสมอ’